โฆษกรัฐบาลเผยที่ประชุม ครม.มติรอคำวินิจฉัยตัวเต็มศาลรัฐธรรมนูญก่อนให้กฤษฎีกาศึกษาแล้วส่งที่ประชุมใหม่ ด้าน “เจริญ” นัดถก 416 สมาชิกรัฐสภา แย้มจ่อหารือศาล รธน.ขอจำหน่ายคดีพันธมิตรฯ ร้อง ออกจากสารบบ อ้างวินิจฉัยไปแล้ว ยันวาระ 3 โหวตได้ แต่ต้องขอคุยสมาชิกก่อน
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการฤษฎีกา ได้สรุปผลการตัดสินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประกอบด้วย 4 ประเด็นใหญ่ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ทั้งนี้ เมื่อนายอัชพรได้รายงานต่อ ครม.จบแล้ว ได้กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเสนอคำวินิจฉัยอย่างละเอียดในโอกาสต่อไปอีก ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติขอให้ผลของคำวินิจฉัยอย่างละเอียดนั้น ได้มีการเปิดเผยขึ้นมาก่อนตามกำหนดการที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และจะให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ศึกษา วิเคราะห์และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
ขณะที่รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมสมาชิกรัฐสภา จำนวน 416 คนที่ถูก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้สมาชิกรัฐสภา จำนวนดังกล่าวยกเลิกการกระทำที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขยายระยะเวลาส่งคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าวออกไปอีก 30 วันแล้ว อีกทั้งจะหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญจำหน่ายคดีออกจากสาระบบของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นที่พิจารณานั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ของผู้ร้องทั้งห้าแล้ว
“ผมมองว่ารัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กร และสถาบันเหมือนกัน ดังนั้นเพื่อลดความขัดแย้ง และข้อสงสัยของสังคม หากเรื่องมันตกไปในชั้นนี้ เชื่อว่าจะเป็นที่ผ่อนคลายของประชาชน ผมจะนำเรื่องนี้หารือต่อที่ประชุมหากเห็นด้วยจะทำหนังสือส่งไปต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้” นายเจริญกล่าว
นายเจริญกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้วจะมีหารือในประเด็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ต่อ ส.ส.และ ส.ว.ที่เข้าร่วมประชุมว่าจะเดินหน้าลงมติได้เลยหรือไม่ หรือต้องผ่านการทำประชามติก่อน ทั้งนี้ หากที่ประชุมเห็นว่าต้องทำประชามติ ก็จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล เบื้องต้นนั้นการพิจารณาประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องรอดูผลการวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำแนะนำ เป็นความเห็นศาล แต่ไม่มีสภาพบังคับ ดังนั้นจึงเดินหน้าลงมติวาระ 3 ได้ แต่ต้องหารือกับสมาชิกเพื่อความรอบคอบ