xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา “วรเจตน์” อาชญากรทางปัญญา?

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ได้ดูทีวี AsiaupdateTV ของเสื้อแดงถ่ายทอดคณะนิติราษฎร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นั่งดูหน่อยหนึ่งเพื่อรู้เขารู้เรา มีตอนหนึ่ง ดร.วรเจตน์ อธิบายว่า การเลือกตั้งเป็นระบอบประชาธิปไตย และการที่จะมีเสียงเป็นมติเอกฉันท์นั้นมันเป็นอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย จะเอาอุดมคติมาใช้ไม่ได้ มันต้องใช้เสียงข้างมากซึ่งใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุดก็คือเสียงข้างมาก ดังนั้น พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จึงเป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ไม่ได้เป็นเผด็จการรัฐสภาอย่างที่ถูกกล่าวหา ถูกโจมตี คุณไม่เอาตามนี้ หรือคุณจะเอาเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างน้อย (คนปรบมือ) (ดร.วรเจตน์ เขาเห็นแค่ปรากฏการณ์แล้วทึกทักเอาว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย)

ขออนุญาตวิจารณ์ความเห็น ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักเรียนทุนหลวง ผู้มีแนวคิดตามแนวคิดของคณะราษฎร เขาทำตัวเป็นทายาทแนวทางหายนะ ซึ่งแนวคิดปรัชญาของคณะราษฎรมีความเห็นผิดอย่างร้ายแรงต่อเรื่องระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ว่า คณะราษฎรไม่มีความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยหรือหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น ปรากฏการณ์การสืบทอดทายาทของ ดร.วรเจตน์ จึงมีความเห็นผิดและหายนะตามไปด้วยและยิ่งเห็นผิดมากขึ้นกว่าคณะราษฎรเจ้าของแนวทางเสียอีก

คณะราษฎรเจ้าความคิด เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องระบอบประชาธิปไตยเลย แต่พวกเขามีความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดคือ “ธรรมนูญการปกครอง” พวกเขาพูดกันแต่เรื่องระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างนี้เราเคารพในความคิดของพวกเขา เพราะพวกเขาเห็นอย่างนั้น พวกเขาไม่ได้พูด เขียน อธิบาย ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

แต่นักการเมืองรุ่นหลังๆ นักวิชาการรุ่นหลังๆ ไปบิดเบือนกันเอาเองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย เช่น “80 ระบอบประชาธิปไตยไทย” นี่คือความเห็นผิด สะท้อนผิดไม่ตรงจากความเป็นจริง ซึ่งความจริงคือ “80 ปีระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญไทย” พวกเขาตีความเพื่อเอาประโยชน์ หลอกตนเอง หลอกประชาชน กลายเป็นร่วมกันหลอก เลยไม่รู้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร จะสร้างให้มีจริงๆ ขึ้นมาได้อย่างไร

แนวทางของคนสืบทอดที่เห็นผิดอย่างร้ายแรงตามๆ กันมา 80 กว่าปีคือ “ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย” ท่านทั้งหลายคงได้เห็น ได้ยินบ่อยในประโยคนี้ โดยเฉพาะจากฝ่ายทักษิณ พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล เสื้อแดง นิติราษฎร์ แนวทางนี้ แนวคิดนี้ เราฟันธงหลายครั้งแล้วว่า การเอากฎหมายไปสร้างระบอบประชาธิปไตยนั้น มันเป็นไปไม่ได้ แม้จะทำไปสักร้อยครั้ง พันฉบับ มันก็ไม่ได้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาจริง ต่อให้ทุกมาตรามีความเป็นประชาธิปไตย มันก็ไม่ได้ระบอบประชาธิปไตย ได้แต่เผด็จการรัฐธรรมนูญ

อยากได้ระบอบประชาธิปไตย ต้องร่วมกันผลักดันหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมา ไม่ใช่การร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ทรงสถาปนาโดยพระเจ้าแผ่นดิน จากนั้น 3-4 ปี จึงร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญมีหน้าที่สะท้อนหลักการปกครองหรือระบอบตามหลักการนั้นๆ ที่เปิดเผย ประชาสัมพันธ์จนประชาชนรับรู้เข้าใจ ได้ประโยชน์และเป็นเจ้าของร่วมกัน นี่คือแนวทางเริ่มต้นที่ถูกต้อง

ในปัจจุบันมันมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ไม่ต้องไปแก้ เพราะยิ่งแก้ยิ่งผิดซ้ำและยิ่งเป็นเผด็จการยิ่งๆ ขึ้นมากกว่าเดิม

ชวนมาดูความสัมพันธ์ของการปกครองในลักษณะต่างๆ ย่อๆ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง สัมพันธภาพระหว่างระบอบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองกับวิธีการปกครอง นั่นเอง

ระบอบหรือหลักการปกครอง (ผู้เขียนเสนอหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9) ย่อมเป็นเหตุของรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญย่อมเป็นผลของระบอบเสมอไป นี่คือความถูกต้องยิ่งใหญ่เป็นสัจธรรม

แต่ที่พวกเขาทำผิดซ้ำซากมากว่า 80 ปี คือ เอารัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุของระบอบ ดุจดัง กายมาก่อนจิต มันจึงผิดอย่างซ้ำซาก

นี่คือระบอบหรือหลักการปกครอง คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 โดยย่อคือ(1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักดุลยภาพ (8) หลักเอกภาพ (9) หลักนิติธรรม ทั้ง 9 ข้อนี้ หลักที่หนึ่งเป็นเหตุของหลักข้อที่สอง หลักที่สองเป็นเหตุของหลักข้อที่สาม หลักที่สามเป็นเหตุของหลักข้อที่สี่ หลักที่สี่เป็นเหตุของหลักข้อที่ห้า หลักที่ห้าเป็นเหตุของหลักข้อที่หก หลักที่หกเป็นเหตุของหลักข้อที่เจ็ด

หลักที่เจ็ดเป็นเหตุของหลักข้อที่แปด และหลักข้อที่หนึ่งถึงข้อที่แปดหลอมรวมกันเป็นหลักข้อที่เก้า คือหลักนิติธรรม นี่หลักการปกครองโดยธรรมที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับลักษณะพิเศษของชาติไทยเราอันมีมาแต่โบราณกาลและเป็นสัจธรรมตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายบวก “เมื่อสิ่งนี้เป็นเหตุ สิ่งนี้เป็นผล เมื่อเหตุดี ผลย่อมดีตาม” เมื่อได้การสถาปนา ได้รับการเฉลิมฉลอง ได้รับการเรียนรู้ดีแล้วจากปัญญาชนของชาติและประชาชนทั่วไป ขั้นตอนต่อไปก็คือเสริมสร้างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม รัฐธรรมนูญย่อมเกิดจากระบอบหรือหลักการปกครองเสมอไป ดังนี้ย่อมมีแต่ความถูกต้องยิ่งใหญ่ของชาติและประชาชน

ประการที่สอง สัมพันธภาพระหว่างระบอบหรือหลักการปกครอง (Principle of Government) กับรูปการปกครอง (Form of Government) ซึ่งมีวิธีคิดง่ายๆ ก็คือสัมพันธภาพระหว่างจิตกับกายนั่นเอง สรรพสิ่งย่อมมีสองด้านเสมอคือ เนื้อหาและรูปแบบ จิตก็คือเนื้อหาแก่นสารคือตัวระบอบ หลักการปกครองเป็นเช่นไร ระบอบก็เป็นเช่นนั้น มีธรรมเป็นใหญ่เป็นตัวถือดุล ก็เรียกธรรมาธิปไตย ส่วนรูปการปกครองก็คือ ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) อันเป็นองค์รวมของสัมพันธภาพดุลยภาพกันระหว่างองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) หากมีระบอบประชาธิปไตย ก็เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

80 ระบอบเผด็จการไทย ไม่มีระบอบหรือหลักการปกครองแสดงให้เห็นหรือโชว์ให้เห็น เพราะระบอบเผด็จการทุกชนิด มันโชว์หลักการปกครองไม่ได้ มันเปิดเผยไม่ได้ เพราะกลัวว่าประชาชนจะรู้เท่าทันความอุบาทว์จัญไรของนักการเมือง

เมื่อไม่มีระบอบหรือหลักการปกครอง มีแต่เพียงกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเรียกว่า “ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญระบบรัฐสภา” นี่คือการพิสูจน์ทราบว่าใช่มันคือ “80 ปี ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญไทย”

ประการที่สาม สัมพันธภาพระหว่างระบอบกับวิธีการเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ใช้โดยทั่วไปเพื่อสอบความเห็น ในทางการเมือง การเลือกตั้งคือวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อเป็นวิธีการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง วิธีการย่อมเป็นของกลางๆ ระบอบอะไรๆ ก็นำไปใช้ได้ เผด็จการเช่นไทย คอมมิวนิสต์เช่นจีน ก็นำเอาวิธีการเลือกตั้งไปใช้ ฮิตเลอร์ เขาก็มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ตามที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เข้าใจ

ท่านผู้อ่านสำคัญทั้งหลาย คงจะเห็นแล้วด้วยเหตุด้วยผล เมื่อระบอบเป็นเผด็จการ การเลือกตั้งย่อมเป็นเผด็จการตามไปด้วย เหตุเลว ผลเลวตามนั่นเอง พวกเราจึงเห็นการซื้อเสียงกันอย่างขนาดใหญ่ เสียงละ 1,000 บาท ครอบครัวทางภาคอีสาน ครอบครัวละเป็นหมื่น พวกเขาจึงเลือกพรรคนั้นและผลของมันคือการคอร์รัปชันอย่างขนาดใหญ่ทุกหนทุกแห่งที่มีงบประมาณ

การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย อย่างที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เข้าใจ เมื่อคุณเห็นผิด เข้าใจผิด ไปสอนผิดๆ ไปอธิบายต่อสาธารณชน คุณก็กลายเป็นอาชญากรทางปัญญา ทำร้ายประเทศชาติและประชาชนนั่นเอง ใครเป็นรู้จัก ดร.วรเจตน์ ก็เมตตาท่านหน่อยก็แล้วกันนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น