xs
xsm
sm
md
lg

จากคนเสื้อเหลือง ถึงคนเสื้อแดง (ฉบับที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร

คนเสื้อแดง เพื่อนรัก

ฉันจะพยายามสื่อสารกับเธอโดยตรงทางจดหมายนี้ เพื่ออย่างน้อยที่สุดก็สบายใจได้ว่า ฉันได้บอกเล่าสิ่งละอันพันละน้อย ที่เป็นข้อเท็จจริงและความรู้สึกนึกคิดในอีกมุมมองหนึ่ง แลกเปลี่ยนกับมุมมองประชาธิปไตยสุดโต่งของเธอ ซึ่งฉันดูจากพฤติกรรมโดยรวมในการต่อสู้ของเธอและพวกแล้วว่า ไม่เห็นมันจะเป็นประชาธิปไตยตรงไหน เพราะเห็นแต่ความก้าวร้าวรุนแรง ข่มขู่คุกคามคนที่เขาเห็นต่างตลอดเวลา และดูจากพฤติกรรมโดยรวมของบรรดาแกนนำของเธอแล้ว ฉันก็ยังมองไม่เห็นแม้สักคนเดียวที่จะมีหน่วยก้านและจิตวิญญาณที่พอจะนับเชิดชูเป็นนักประชาธิปไตยได้

ฉันอยากบอกเธอว่า แท้ที่จริง การคิดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย อย่างที่พวกเธอพยายามแอบอ้างเรียกร้อง โดยผูกพันโยงใยอยู่กับบุคคลคนเดียวที่พวกเธอยกย่องบูชาว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยนั้น มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก โดยคณะราษฎร 2475 อย่างที่เธอและพวกพยายามจะยกมาเป็นต้นแบบ และเลือกเอาแต่ในส่วนที่โจมตีให้ร้ายสถาบัน มาเป็นแก่นแกนในการจ้องจะล้มล้างตามแบบอย่าง ซึ่งทำให้พวกเธอกลายเป็นผู้ร้ายที่สังคมไทยส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ฉันอยากบอกเธอว่า แท้ที่จริง แนวคิดในการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มันเกิดขึ้นและพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โน่น โดยสิ่งที่ปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ดำเนินการโดยคนไทยเผยแพร่แก่ประชาชนชาวไทย มีชื่อว่า “ดรุโณวาท” (แปลว่าโอวาทหรือคำสอนของคนหนุ่มสาว) โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ทรงเป็นเจ้าของและบรรณาธิการเอง พิมพ์ที่บ้านของพระองค์ ถนนเจริญกรุง ใกล้ประตูใหญ่วัดสระเกศ เริ่มตีพิมพ์ฉบับแรก เมื่อ 7 กรกฎาคม 2417  เป็นหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่แนวคิดใหม่และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในยุคสมัยนั้น

ในเวลาเดียวกันนั้น ได้มีการตั้งกลุ่ม “สยามหนุ่ม” (Young Siam) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นหัวหน้ากลุ่มเอง ในการนำการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด Abslute Monarchy กับ Constitutional Monarchy คือระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์กับระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนั่นเอง และปรากฏหลักฐานที่เป็นรูปธรรมในครั้งนั้น คือ การออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ซึ่งสาระสำคัญส่วนหนึ่งในการปูพื้นฐานประชาธิปไตย คือการให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีการส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปศึกษาต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในยุคนั้น

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญของโลก ที่กระแสประชาธิปไตยก่อตัวรุนแรงก่อนขึ้นครองราชย์ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2451 ประเทศตุรกีได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติใหญ่ในประเทศจีนล้มล้างพระจักพรรดิเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ และในปี พ.ศ. 2460 ก็เกิดการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย ล้มล้างอำนาจสถาบันกษัตริย์ ปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์และราชวงศ์ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ปลุกกระแสก่อหวอดการเรียกร้องต้องการระบอบประชาธิปไตยอย่างแพร่สะพัดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชนที่มีความรู้ส่วนน้อย 

รัชกาลที่ 6 ทรงตระหนักและเริ่มกุศโลบายที่จะปูพื้นฐานในหลายวิธีการ อาทิ ทรงตั้ง “ดุสิตธานี” เป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย จัดให้มีการเลือกตั้งสภานคราภิบาล ทำหน้าที่ปกครองเมือง มีการออกกฎหมาย จัดระบบภาษีอากร และกระบวนการต่างๆ เสมือนจริง มีการเรียกประชุมราษฎรมาร่วมกันเลือกตั้ง มีการจำลองการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของดุสิตธานี โดยจัดให้มีการอภิปรายถกเถียงกันระหว่างคณะนคราภิบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อจำลองแบบอย่างให้คนทั้งหลายได้เห็นและเกิดความคุ้นชินกับวิถีทางประชาธิปไตย เป็นการปลูกฝังสอนหลักประชาธิปไตยแก่คนไทยในยุคนั้น

และยังทรงแสดงความเป็นประชาธิปไตย โดยใช้นามปากกาเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตอบโต้กับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวสมัยใหม่ในครั้งนั้น เยี่ยงนักเขียนสามัญธรรมดาคนหนึ่ง ปรากฏหลักฐานในวงการหนังสือพิมพ์ไทยสืบต่อมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2468  ท่ามกลางกระแสความคิดแบบประชาธิปไตย โหมกระหน่ำรุนแรง ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงยอมรับและมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นลำดับ ในท่ามกลางการโต้แย้งคัดค้านของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เสียก่อน และต้องทรงสละราชสมบัติในกาลต่อมา พร้อมด้วยพระราชดำรัสของกษัตริย์นักประชาธิปไตยที่เป็นอมตะวาจาของระบอบประชาธิปไตยไทย จารึกอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ หน้ารัฐสภาไทยในปัจจุบัน

และหากจะกล่าวถึงความเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ฉันก็คงต้องใช้เวลาอีกยืดยาวที่จะเขียนบอกเล่าให้เธอฟัง เพราะนับตั้งแต่พระราชประณิธานที่ประกาศในวันขึ้นครองราชย์ว่า  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ฉันก็ไม่เคยเห็นพระจริยาวัตรหรือพระราชกรณียกิจที่ผิดเพี้ยนไปจากแนวทางนี้แต่อย่างใดเลย ตลอดการครองราชย์ยาวนานกว่า 60 ปี

ฉันเขียนมายืดยาว เพื่อจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานและรากฐานทางประชาธิปไตย ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาล ทรงทุ่มเทต่อพสกนิกรชาวไทย และประเทศไทยสืบเนื่องต่อๆ กันมา ฉันไม่ได้มาเรียกร้องต้องการให้เธอและพวกมาเคารพเทิดทูนสถาบัน เหมือนที่ฉันและคนไทยส่วนใหญ่เทิดทูน เพราะรู้สึกว่าเธอและพวกจะถูกโน้มน้าวชักจูงจนหลงผิดไปไกลสุดกู่แล้ว

ฉันเพียงต้องการบอกเล่าหลักฐานข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์การพัฒนาทางประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่ได้เรียนรู้และจดจำ และเพื่อเป็นเกราะป้องกันการบิดเบือน จาบจ้วง ล่วงละเมิดจากฝ่ายที่อ้างตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่เคยมีสำนึกผิดชอบชั่วดี และสร้างสรรค์คุณงามความดีใดๆ แก่ประเทศชาติและสังคมไทยเลย

ด้วยความรักและปรารถนาดี จากคนเสื้อเหลือง
กำลังโหลดความคิดเห็น