xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจที่สี่

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย การแบ่งอำนาจเป็น 3 ด้าน โดยให้แต่ละฝ่ายมีความเป็นอิสระต่อกัน ก็เพื่อที่จะสร้างพลังการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยปกติแล้วฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะมีความเกี่ยวข้องกันมากที่สุด ส่วนฝ่ายตุลาการนั้น หากมีการประกันความเป็นอิสระแล้ว ก็นับว่าเป็นการปลอดภัยสำหรับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย

ในปัจจุบันฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าฝ่ายอื่นๆ ก็คือ ฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นในระบบรัฐสภาหรือในระบบประธานาธิบดี ยิ่งในประเทศที่พรรคการเมืองพรรคเดียวมีคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว ฝ่ายบริหารยิ่งมีอำนาจมาก เพราะสามารถคุมเสียงในสภาได้ การออกกฎหมายก็เป็นไปอย่างง่ายดาย

กรณีคลาสสิกที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยก็คือ การที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้พรรคการเมืองพรรคเดียวรวมกันเป็นหนึ่งเสนอร่างกฎหมายที่มีลักษณะเป็นเผด็จการได้ ในกรณีนี้ไม่มีฝ่ายใดที่จะทัดทานได้ เว้นแต่จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านของประชาชนนอกสภา

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกใหม่ขึ้นมาซึ่งได้แก่การมีองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ในบรรดาองค์กรเหล่านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจในการวินิจฉัยการขัดกันของกฎหมายกับบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า อำนาจขององค์กรอิสระก็คือ “อำนาจที่สี่” นอกเหนือไปจากอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั่นเอง ในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงเป็นผู้มีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญต่างหากออกไป

เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในที่สุดก็เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีองค์กรอื่นใดที่สามารถคานอำนาจของฝ่ายบริหารได้ สมุนของฝ่ายรัฐบาลจึงพยายามเรียกร้องให้มีการล้มศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็แสดงการคุกคามข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ฝ่ายตุลาการก็ตาม แต่ตุลาการส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายตุลาการ โดยเหตุที่ฝ่ายตุลาการของไทยมีอิสระสูง ดังนั้นเมื่อเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ความเป็นอิสระนี้ก็ยังคงมีอยู่ และเป็นการยากที่จะกดดันหรือให้ผลประโยชน์ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นอำนาจที่สี่ที่มีความเป็นอิสระ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางแนวความคิดของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย

จะว่าไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็คือ “หอกข้างแคร่” ของอำนาจเผด็จการนั่นเอง ในกรณีที่พรรคสามารถคุมรัฐสภาได้ พรรคก็จะพยายามคุมศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน และสามารถกระทำได้หากสามารถคุมเสียงในวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้เลือกตุลาการได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง และมีความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การบงการของพรรคการเมือง

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีขบวนการกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หากสามารถทำได้ ก็จะเกิดการปกครองแบบรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้นวิธีการป้องกันมิให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จก็คือ จะต้องปกป้องอำนาจที่สี่ที่เป็นอิสระไว้

ศาลรัฐธรรมนูญของไทย เคยมีคนตั้งข้อสงสัยในความเป็นกลางไว้ แต่ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ ทำให้มีความชอบธรรมยิ่งขึ้น

ตำแหน่งและความคาดหวังของมหาชน ทำให้ตุลาการแต่ละคนเกิดจิตสำนึกในการวางตัวเป็นกลาง การที่จะยอมตกอยู่ในอำนาจหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใด ย่อมเป็นเรื่องที่ตุลาการแต่ละคนต้องคิดหนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งนานวันเข้า ความเป็นอิสระของอำนาจที่สี่ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับ

หากระบอบประชาธิปไตยจะมีลักษณะของความเป็นไทยแล้วก็ตาม ลักษณะเด่นสองประการก็คือ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์กับการมี “อำนาจที่สี่” ที่มีความเป็นอิสระนี้เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น