xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสเรียนรู้ ปชต.ไทยให้ลึกจากคลิปเสียงประธานสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

คลิปเสียงปราศรัยของประธานสภาผู้แทนฯ ที่ได้นำมาเปิดเผยต่อสื่อนั้น มีประเด็นสำคัญหลายอย่างซ่อนอยู่ เช่น มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจ “คานอำนาจ” กับฝ่ายบริหารได้เลย จะทำอะไรทีก็ต้องไปขอไฟเขียวจากฝ่ายบริหารก่อนเสมอ นี่ขนาดประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติยังหงอขนาดนี้ สำมะหาอะไรกับลูกกระจ๊อก (บรรดา ส.ส.ปลายแถว)

แสดงว่าหลักการแยกและคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่สุดของ ปชต.มันก็ไม่เหลือแล้วสิ... แล้วแบบนี้ประเทศไทยเรายังจะเห่อใช้ระบบนี้ปกครองประเทศอยู่อีกหรือ เพียงเพราะว่าฝรั่งใช้ระบบนี้ก็เห่อใช้ตามเขาไปแบบเชื่องๆ แต่ลืมนึกไปว่าของเขานั้นระบบคานอำนาจมันทำงานได้ดีเพราะนิสัยของคนเขาต่างจากคนไทยเรามาก ซึ่งผมได้เตือนมานานแล้วว่า หลักการ ปชต.ตะวันตกนั้นถ้าจะเอามาใช้ต้องปรับวิธีการเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นชาติเราฉิบหายแน่ เช่นดังในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน (“ก๋วยเตี๋ยวาธิปไตย” ที่ผมได้ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานการครองชีพของคนไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วง ๘๐ ปีที่ปกครองโดยปชต.)

ประการที่สอง...ประธานฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ผ่านกฎหมายของประเทศ แต่กลับไปรับการปรึกษาจากคนหนีโทษจากกฎหมาย แสดงว่าเป็นระบบมือถือค้อนแต่ซ่อนตะปูไว้ข้างหลังหรือเปล่า จริงอยู่กฎหมายที่ “คนทางไกล” ทำผิดนั้นอาจไม่ได้ผ่านในสมัยที่ท่านเป็นประธานสภาฯ แต่ในฐานะที่กำลังสวมหมวกเป็นประธานสภาฯ อยู่จักต้องวางตัวให้สมฐานะอันสูงส่ง ไม่ควรไปทำการใดที่ดูหมิ่นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของชาติเช่นนี้ ถือว่าเป็นการเสื่อมเสียต่อตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ยิ่งนัก

ประการที่สาม..การเป็นประธานสภาฯ นั้น โดยหลักจริยธรรมการเมืองสากล จักต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ในอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบ ปชต.นั้นประธานสภาฯ เขาจะลาออกจากตำแหน่งบริหารพรรคทั้งหมดรวมทั้งลาออกจากการเป็น ส.ส.ด้วย เพื่อจะได้เป็นกลางได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องมีแรงกดดันจากพรรคของตัวเอง อีกทั้งไม่ต้องมีแรงกดดันจากการที่ต้องเอาใจพื้นที่เขตเลือกตั้งที่จะต้องไปสมัครแข่ง ส.ส.ในการเลือกตั้งคราวต่อไปอีกด้วย แต่ของเรานอกจากไม่เป็นกลางแล้วยังทำงานแบบทุ่มสุดตัวให้พรรคตนและว่าร้ายพรรคฝ่ายค้าน (ดังที่ปรากฏในคลิปเสียง)

ประการที่สี่...ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์สูงมาก เคยเป็นถึงปลัดกระทรวงยังบอกกับท่านประธานฯ ว่า “เป็นโรคแพ้คนทางไกล” แสดงว่าคนทางไกลคนนี้ไม่เคยฟังใคร ทำการสั่งการแบบเผด็จการหมดทุกอย่างโดยไม่ผ่านขั้นตอนทาง ปชต. ยิ่งระบบ ปชต.ของเราเป็นระบบอิงนาย ขาดการคานอำนาจดังกล่าวแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้ามาเจอ “หัวหน้า” แบบนี้ มันจะกลายเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในคราบ ปชต.ได้โดยง่าย

เพื่อปรับ ปชต.ไทยให้สอดคล้องกับลักษณะสังคมไทยและไม่นำพาชาติไปสู่ความฉิบหาย ผมได้เสนอรูปแบบ ปชต.ไว้มากหลายรูปแล้ว (ในบทความเก่าๆ) ในบทความนี้จะลองเสนออีกสักรูปแบบ

ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามปกติ แต่ให้ ส.ส.เป็นผู้พิจารณากฎหมายเท่านั้น ส่วนฝ่ายบริหารนั้นให้วุฒิสภาเป็นผู้คัดสรรขึ้นมาจากสมาชิกวุฒิสภาหรือจากบุคคลทั่วไป โดยสภานี้มีสมาชิก 1,000 คนที่คัดสรรมาจากผู้ชำนาญการสาขาวิชาชีพ และวิชาการด้านต่างๆ สมาชิกมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงเกษียณอายุ นายกสมาคมวิชาชีพที่สำคัญ บรรณาธิการ นสพ.ที่มีสมบัติครบตามบัญญัติ อีกส่วนหนึ่งคัดสรรมาจากบุคคลทั่วไป มีวิธีการคัดสรรที่รัดกุม อิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอาจให้ศาล (ฝ่ายตุลาการ) ทำหน้าที่คัดสรรก็ได้ อำนาจทั้งสามฝ่ายจะได้มีการเชื่อมโยงกัน

เมื่อวุฒิสภาคัดสรร ครม.ได้แล้ว ให้นำรายชื่อเสนอสภาฯ ผู้แทนโหวตรับรองเป็นรายบุคคล ก่อนโหวตให้มีการซักถามประวัติตามสมควร หากรายใดโหวตไม่ผ่านให้นำเสนอชื่อทดแทน หากถึงรายที่สามแล้วยังไม่ผ่าน ก็ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อรายนั้นได้รับตำแหน่งโดยอัตโนมัติ

ปชต. ตามวิธีการที่เสนอนี้มีข้อดีคือ

1)มีการคานอำนาจกันอย่างแท้จริง ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยเฉพาะฝ่ายบริหารจะสั่งนิติบัญญัติไม่ได้

2)จะได้คนเก่งคนดีเข้าไปบริหารประเทศ ตัดตอนวงจรธุรกิจการเมืองให้สิ้นซาก

3)จะได้คนดีเข้ าไปเป็น ส.ส.มากขึ้นเนื่องเพราะพอไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเสียแล้ว คนชั่วก็จะไม่ลงสมัคร

4)วุฒิสภานี้ถือได้ว่าเป็นระบบ ปชต.แบบธรรมชาติ เพราะกว่าที่สมาชิกจะได้รับตำแหน่งต่างๆ หรือได้รับการคัดสรรนั้นแสดงว่าเป็นผู้ที่เก่ง ดี มีคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับเลือกตั้ง “ด้วยระบบธรรมชาติ” ให้ดำรงตำแหน่ง หรือเป็นผู้ที่โดดเด่นในสังคมจนได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดสรร

ปชต.ระบบปัจจุบันกำลังกร่อนทำลายประเทศไทยในทุกมิติ เราต้องมาช่วยกันคิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ก่อนที่จะไม่มีชาติไทยเหลือไว้ให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น