xs
xsm
sm
md
lg

การข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นปัญหาระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

จากกรณีที่มีข่าวปรากฏต่อสาธารณชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้รับคำร้องของบุคคล และมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภารอการดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพื่อพิจารณาว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291 หรือไม่ โดยผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญในเวลาอันสมควร ก็ได้ปรากฏปฎิกริยาตอบโต้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทันทีโดยพรรคเพื่อไทยทั้งที่เป็นสส.และเป็นคณะรัฐมนตรี ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดไม่ได้ มีการชุมนุมมวลชนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทยที่หน้ารัฐสภา ได้มีการข่มขู่โดยจะเข้าชื่อกันถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอข้อแลกเปลี่ยนให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องและยุติคำสั่งให้ชะลอการลงมติในวาระ 3 ก็จะไม่ยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณตัดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญ ใช้มวลชนเสื้อแดงบังคับให้ประธานรัฐสภาดำเนินการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไปโดยไม่ต้องไปฟังศาลรัฐธรรมนูญ โจมตีว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ดูหมิ่น เหยียดหยามตุลาการ จะยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไป จะจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ( สสร.2540 ) ออกมาเคลื่อนไหว มีหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหากระบวนการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้มติของศาลนั้น เป็นการทำลายล้มล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและถึงขั้นบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยพลการและ ฯลฯ

การกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองซึ่งเป็นรัฐบาล มีสมาชิกพรรคเป็นแกนนำคนเสื้อแดงหรือนปช. มีสมาชิกพรรคเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากในสภา มีสมาชิกพรรคเป็นคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน แต่กลับมีการกระทำพร้อมมวลชนเสื้อแดงจำนวนมากมาชุมนุมแสดงการเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนและต่อประชาคมโลก จึงเป็นเรื่องที่ประหลาดและต้องเป็นที่ตลกขบขันของนานาอารยประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะยังไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในโลกที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาก่อนเลย ที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งพรรคการเมืองที่เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้นำมวลชนมาข่มขู่ คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเกิดเป็นปัญหาต่อประชาคมโลกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร พรรคการเมือง มวลชนของพรรคการเมืองแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

การข่มขู่ คุกคาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แสดงออกต่อสาธารณชนนั้น ได้อ้างถึงการเป็นการผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาไม่ได้นั้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต่อพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของประชาชนให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้น แม้จะได้การรับเลือกตั้งมาเป็นเสียงข้างมากในสภา ก็ต้องถือว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ( ร.ธ.น.มาตรา 122 ) การใช้อำนาจในทางรัฐสภาหรือการใช้อำนาจในทางคณะรัฐมนตรีของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมานั้น มิใช่เป็นการใช้อำนาจในทางส่วนตัวของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แต่อย่างใด แต่เป็นการเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในรัฐสภา หรือในคณะรัฐมนตรี เป็นการใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทั้งสิ้น ( ร.ธ.น.มาตรา 3 ) เมื่อการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทั้งของสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี จึงต้องผูกพันกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตามหลักรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบหมายให้มาทำหน้าที่เป็นผู้แทนหรือตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาและในคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญรวมทั้งหน่วยงานของรัฐไว้ในมาตรา 26 , 27 โดยการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้ได้บัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ในการจะใช้อำนาจ หน้าที่ “ในการตรากฎหมาย ” “ การใช้บังคับกฎหมาย” และ “ การตีความในกฎหมาย” ทั้งปวง โดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีตำแหน่งในสถาบันหรือองค์กรโดยตรง หรือโดยทางอ้อม หรือผู้พิพากษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามามีตำแหน่งตามนิติราชประเพณีในสถาบันศาล จึงมีความผูกพันหรือมีพันธกรณีในการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะเป็น “การตรากฎหมาย” “ใช้บังคับกฎหมาย” หรือ “ตีความในกฎหมาย” นั้น รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐจะใช้อำนาจหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมาตรา 26 , 27 ไม่ได้เลย เว้นแต่จะได้มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ตามเงื่อนไขที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 แล้ว เท่านั้น

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น “เอกสิทธิ” ( Privileged ) และ “ความคุ้มกัน” ( Immunity ) ของบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 28 โดยบัญญัติว่า “ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

“ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”

“บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ”

“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือจากรัฐในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้”


ตามมาตรา 28 นี้ ได้บัญญัติถึงความคุ้มกันระหว่างบุคคลกับบุคคลไว้ โดยบุคคลจะมีสิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่ไม่ละเมิดต่อบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็น “เอกสิทธิและความคุ้มกัน” โดยให้บุคคลใช้สิทธิทางศาล เพื่อบังคับให้รัฐต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เมื่อมีการกระทำของรัฐที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ได้ และการใช้สิทธิทางศาลของบุคคลนั้น รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มกันแก่บุคคลโดย ศาลจะต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากซึ่งการแทรกแซงจากรัฐ ปราศจากการข่มขู่ คุกคามจากบุคคลใดๆไม่ว่าจะเป็นบุคคลในองค์กรของรัฐ หรือบุคคลทั่วไป โดยบัญญัติไว้วรรคสี่ว่า “ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน หรือช่วยเหลือจากรัฐในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้” ซึ่งมีความหมายว่า รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือให้บุคคลได้ใช้สิทธิ เพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนั้น องค์กรรัฐทุกองค์กร หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นเอกสิทธิและความคุ้มกันของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 แล้ว จึงเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะขัดขวางการใช้สิทธิของบุคคลดังกล่าวไม่ได้ แต่มีหน้าที่ดูแล ขจัดปัดเป่าการขัดขวางซึ่งการใช้สิทธิของบุคคลดังกล่าวด้วย เพราะต้องส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือให้การใช้สิทธิของบุคคลเพื่อให้ศาลได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวด้วย

เอกสิทธิและความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 เป็นเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ใช้เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในเรื่องสิทธิและเสรีภาพโดยตรงในหมวด 3 แห่งรัฐธรรมนูญทุกมาตรา

การใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ของคณะรัฐมนตรี ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐใน “การตรากฎหมาย หรือออกกฎหมาย” ต้องอยู่ในเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 27 โดยจะตรากฎหมาย โดยละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ไม่ได้

เมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ใช้เป็นหลักและเป็นแบบแผนในการปกครองประเทศ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27 ด้วยเช่นกัน


เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 291 จึงมีปัญหาว่ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฝ่าฝืนหรือหรือขัดต่อมาตรา 26, 27 ได้หรือไม่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพิจารณานั้น เป็นร่างที่ได้กระทำตามเงื่อนไขตามมาตรา 291 หรือไม่ รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยถ่ายโอนอำนาจอันมีลักษณะเป็นการแต่งตั้งตัวแทนช่วง ( คือให้ สสร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐสภาได้หรือไม่ การให้สสร.แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการมอบอำนาจให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ สสร.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 , 27 ได้หรือไม่ สสร.จะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคุ้มครองและรับรองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ได้หรือไม่ สสร.จะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานของรัฐในการทำหน้าที่ในการ “ ตรากฎหมาย” “ใช้บังคับกฎหมาย” และ “ ตีความกฎหมาย” ในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกันรัฐธรรมนูญ2550 ได้บัญญัติไว้ได้หรือไม่ สสร.จะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอำนาจของสสร. เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้หรือไม่ สสร.จะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอำนาจของสสร. เพื่อให้นักการเมือง พรรคการเมืองได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้หรือไม่ การเลือกตั้งสสร.เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากซึ่งอิทธิพลของพรรคการเมือง นักการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรีตลอดจนหน่วยงานของรัฐหรือไม่ การออกกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้งสสร. จะเป็นการออกกฎหมายแก้ไขกฎหมายโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ฯลฯ

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ซึ่งบุคคลมีเอกสิทธิและความคุ้มกันมาตรา 28 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่และตามพันธกรณีที่ศาลต้องคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เพื่อคานอำนาจการใช้อำนาจของรัฐสภาตามหลักสากล ( Judicial Review ) และมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ หรือศาลเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญเองแต่อย่างใดไม่

ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจมีเขตอำนาจศาลเหนือคดีใดหรือบุคคลใด หรือไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาพิพากษาคดีใดๆได้ หากไม่มีการกระทำละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแก่บุคคลใด หรือไม่มีเหตุที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้สิทธิที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้ได้
ต้นเหตุแห่งคดีนี้ได้เกิดขึ้นเพราะมีบุคคลได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกิดขึ้น โดยการกระทำของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง โดยจะมีการแก้ไขโดยจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่จะใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงได้มีประชาชนจะใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญเพื่อระงับเหตุอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ตามมาตรา 68 คือ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” อันเป็นบทบัญญัติที่เป็นเอกสิทธิและความคุ้มกันที่มีเงื่อนไขให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่านอัยการสูงสุดได้ตามมาตรา 68 วรรคสอง แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการให้ อันเป็นกรณีที่องค์กรอัยการซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการตามพันธกรณีที่จะให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ทั้งได้ปฏิเสธการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือให้บุคคลได้ใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสี่ โดยอ้างว่าต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อความยุติธรรมของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน อันเป็นการนำเอามาตรฐานในการดำเนินคดีอาญามาใช้กับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรอัยการ ที่จะต้องให้ความคุ้มครองและให้ความคุ้มกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 เพราะเป็นเรื่องที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งเป็นกรณีที่บุคคลไม่มีอำนาจต่อรองกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภาได้เลย เมื่อการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของบุคคลหรือของประชาชนแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสี่ จึงบัญญัติให้บุคคลมี “เอกสิทธิและความคุ้มกัน” โดยบุคคลจะต้องได้รับความช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม การใช้เอกสิทธิและความคุ้มกันทางศาลโดยผ่านองค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 วรรคสี่และมาตรา 68

การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาและสั่งให้หน่วยงานธุรการรัฐสภาชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระสามไว้ก่อน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภานั้นจึงเกิดเป็นข้อโต้แย้งกันขึ้น (Controversy ) ระหว่างสมาชิกรัฐสภากับกลุ่มประชาชนผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หาใช่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกรัฐสภากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเลย

การที่สมาชิกรัฐสภา สมาชิกพรรคการเมือง แกนนำคนเสื้อแดง ได้มีการดำเนินการให้มวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามต่อไปก็ดี โดยมีการกระทำของสมาชิกรัฐสภา สมาชิกพรรคการเมืองร่วมกันกระทำการดังกล่าวด้วยนั้น มิใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของตนตามรัฐธรรมนูญที่จะทำการชุมนุมได้ แต่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการในรัฐสภานั้นเป็นผลสำเร็จ โดยจะให้มีคณะบุคคลซึ่งเรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.มาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้นเสีย การกระทำของผู้ชุมนุมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือสมาชิกรัฐสภา สมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่รัฐธรรมนูญได้ให้เอกสิทธิและความคุ้มกันไว้ และกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก ในฐานะเป็นบุคคลธรรมดา และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในรัฐสภา และในคณะรัฐมนตรี

การใช้สิทธิของบุคคลผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 68 คือ “ สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นการที่ผู้ร้องได้โต้แย้งการกระทำของสมาชิกรัฐสภา โดยมีข้อกล่าวหาตามมาตรา 68 อยู่ 2 ประเด็นคือ ( 1 ) ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่ และ ( 2 ) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ข้อโต้แย้งตาม “ สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่กลุ่มบุคคลได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเอกสิทธิและความคุ้มกันของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 และมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามเอกสิทธิและความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 วรรคสี่ คือต้องตีความร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภานั้น ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองไว้หรือไม่ ผู้ร้องมีสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้ความคุ้มครองตามมาตรา 27 และมาตรา 68 หรือไม่ การให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง และความผูกพันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภานั้น เป็นอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยของศาล ซึ่งไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาแต่อย่างใดไม่

แต่เป็นการตรวจสอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ ………..พ.ศ……….ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาว่าเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้ทำโดยถูกต้อง ตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27 , 28 , 68 และสิทธิเสรีภาพในมาตราอื่นๆ รวมทั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อันเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยปริยายหรือไม่ และ ฯลฯ


การกระทำของแกนนำคนเสื้อแดง สมาชิกรัฐสภา สมาชิกพรรคการเมืองที่มีการชุมนุมมวลชนเสื้อแดงและข่มขู่ คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดผลให้ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงการรับคำร้องเป็นไม่รับคำร้อง หรือยกคำร้องโดยอ้างว่าไม่ผ่านขั้นตอนของอัยการสูงสุด หรือข่มขู่ คุกคามจะถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะยุบศาลรัฐธรรมนูญ จะพาคนไปบุกศาลรัฐธรรมนูญหากรัฐบาลต้องมีอันเป็นไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้น และไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา สมาชิกพรรคการเมือง ก็ล้วนเป็นการกระทำเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญหมดสภาพการทำหน้าที่ของศาลที่จะให้ “ความคุ้มกัน” ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อันเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระในการใช้อำนาจตุลาการของศาล หวังผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการได้นั้นเสีย ทำให้ตุลาการมีความเอนเอียงเนื่องมาจากความกลัว ความโกรธ หรืออคติอื่นใดได้ การกระทำดังกล่าว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดอาญาในข้อหาล้มล้างอำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ โดยใช้มวลชนที่มีลักษณะเป็นกองกำลังให้กระทำการดังกล่าว ย่อมเข้าข่ายในการกระทำความผิดอาญาในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113(2) ,144 ,116 และสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดอาญาในความผิดต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136, 139 และ 140 ได้

การข่มขู่ คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการปลุกระดมคนและประกาศการอาฆาตมาดร้ายในที่สาธารณะ อันเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ แทรกแซงความเป็นอิสระในการใช้อำนาจตุลาการ การกระทำดังกล่าวแม้ไม่เกิดผลทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลัวหรือไม่ก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็เป็นการที่ล่วงละเมิดต่อ “เอกสิทธิและความคุ้มกัน” และ “ล่วงละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้ความคุ้มครอง ตามพันธกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27, 28, 68 ดังกล่าว การกระทำการข่มขู่ คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่เรียกว่า “ตีวัวกระทบคราด” คือไม่อาจกระทำกับผู้ร้องได้โดยตรงแต่ทำกับศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอิสระในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดผลกับผู้ร้องจากการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในผลของการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นได้ ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิดอาญาดังกล่าวได้

ผลของการข่มขู่ คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตามวิถีทางกฎหมายอย่างไม่อาจคาดคิดได้

3 ก.ค.2555
กำลังโหลดความคิดเห็น