“พล.ต.จำลอง”ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ขอให้ชะลอการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ศุกร์ 13 ก.ค. และไต่ส่วนคดีที่พันธมิตรฯ ยื่นร้องเอาผิด 416 นักการเมืองเสร็จก่อน ระบุเป็นคดีที่มีการกระทำอันเดียวกัน แต่การฟังข้อเท็จจริงอาจแตกต่างกัน และคำร้องของพันธมิตรฯ ระบุความผิดถึงขั้นเป็นบกฏล้มล้าง รธน. หากตัดสินก่อนฟังข้อเท็จจริง จะเกิดความเสียหายแก่คดีของผู้ร้องอย่างมหาศาล
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์"
เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วันนี้(11ก.ค.) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้จศาลรัฐธรรมนูญรอการวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 28 หรือไม่ ของผู้ร้องอื่นไว้ จากเดิมที่มีกำหนดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค.นี้ และขอให้ทำการไต่สวนคดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และคณะเป็นผู้ร้องให้เสร็จสิ้นก่อน
ทั้งนี้ สืบเนื่องมากจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ และของผู้ร้องตามคำร้องหมายเลข 25/2555 ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว บัดนี้ศาลได้ทำการไต่สวนคำร้องทั้งห้าสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องของผู้ร้องได้ดำเนินการพิจารณาโดยให้ผู้ถูกร้อง 416 คน ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีได้โต้แย้งข้อกล่าวหาหรือคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ถูกร้องในสำนวนคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคำร้องเสร็จแล้วศาลได้นัดฟังคดีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 นั้น เป็นคดีที่มีการกระทำอันเดียวกัน อย่างเดียวกันพร้อมกัน และผลของการกระทำสิ้นสุดลงพร้อมกันกับคำร้องของผู้ร้องคือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งได้ผ่านวาระสอง และกำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระสามต่อไป ปัญหาการฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ไต่สวนไปแล้ว กับปัญหาการฟังข้อเท็จจริงในคดีของผู้ร้องในการกระทำอันเดียวกันจึงแตกต่างกันได้ ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง หากศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงและตัดสินในคดีที่ไต่สวนเสร็จแล้ว โดยไม่รอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงคำร้องของผู้ร้องให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่คดีของผู้ร้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเกิดความไม่ยุติธรรมแก่คดีของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้ความคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 จึงเสมือนหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ละทิ้งที่จะคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะต่อรองผู้ใช้อำนาจรัฐได้เลย และเป็นประชาชนที่มีศาลเป็นที่พึงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยคดีโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนทุกคดี ทั้งๆที่คดีดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำร้องของผู้ร้องที่อยู่ในศาลแล้วนั้นได้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคการเมือง ได้กระทำการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจนการกระทำนั้นได้ถึงขึ้นเป็นความผิดอาญาในข้อหาล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันเป็นกบฏแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอื่นก่อนฟังข้อเท็จจริงในคดีของผู้ร้องให้สิ้นกระแสความแล้ววินิจฉัยคดีพร้อมกันนั้น จะเกิดความเสียหายแก่คดีของผู้ร้องอย่างมหาศาลจนไม่อาจประมาณได้ และอาจเกิดผลเสียต่อระบอบการปกครองประเทศในอนาคตได้
รายละเอียดคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
เรื่องพิจารณาที่ ๑๘/๒๕๕๕ ที่ ๑๙/๒๕๕๕ ที่ ๒๐/๒๕๕๕ ที่ ๒๑/๒๕๕๕ ที่ ๒๒/๒๕๕๕
คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชะลอการวินิจฉัยคดีของผู้ร้องทั้งห้าเพื่อวินิจฉัยพร้อมกับคดีของผู้ร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ ๑๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
ระหว่าง
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม กับพวกที่ ๑ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ที่ ๒ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ที่ ๓ นายวรินทร์ เทียมจรัส ที่ ๔ และนายบวร ยสินทร และคณะที่ ๕ ผู้ร้อง
ประธานวุฒิสภา ที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ที่ ๒ พรรคเพื่อไทย ที่ ๓ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ ๔ นายสุนัย จุลพงศธร และคณะที่ ๕ นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ที่ ๖ ผู้ถูกร้อง
เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘
ข้าพเจ้า พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง สัญชาติไทย ตำแหน่งหรืออาชีพ ข้าราชการบำนาญ เกิดวันที่-เดือน-พ.ศ.-อายุ ๗๖ ปี อยู่บ้านเลขที่๕๘๐/๒ หมู่ที่-ถนน พระราม ๕ตรอก/ซอย-ตำบล/แขวง ถนนนครไชยศรีอำเภอ/เขตดุสิตจังหวัดกรุงเทพมหานครรหัสไปรษณีย์๑๐๓๐๐โทรศัพท์ ๐๒-๕๑๓๐๑๓๐-๔ โทรสาร- ขอยื่นคำร้องโดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐มาตรา โดยมีข้อเท็จจริงและคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
ข้อเท็จจริง
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ และของผู้ร้องตามคำร้องหมายเลข ๒๕/๒๕๕๕ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว บัดนี้ศาลได้ทำการไต่สวนคำร้องทั้งห้าสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องของผู้ร้องได้ดำเนินการพิจารณาโดยให้ผู้ถูกร้อง ๔๑๖ คน ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีได้โต้แย้งข้อกล่าวหาหรือคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ถูกร้องในสำนวนคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคำร้องเสร็จแล้วศาลได้นัดฟังคดีในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นั้น เป็นคดีที่มีการกระทำอันเดียวกัน อย่างเดียวกันพร้อมกัน และผลของการกระทำสิ้นสุดลงพร้อมกันกับคำร้องของผู้ร้องคือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งได้ผ่านวาระสอง และกำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระสามต่อไป ปัญหาการฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ไต่สวนไปแล้ว กับปัญหาการฟังข้อเท็จจริงในคดีของผู้ร้องในการกระทำอันเดียวกันจึงแตกต่างกันได้ ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง หากศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงและตัดสินในคดีที่ไต่สวนเสร็จแล้ว โดยไม่รอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงคำร้องของผู้ร้องให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่คดีของผู้ร้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเกิดความไม่ยุติธรรมแก่คดีของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้ความคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ จึงเสมือนหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ละทิ้งที่จะคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะต่อรองผู้ใช้อำนาจรัฐได้เลย และเป็นประชาชนที่มีศาลเป็นที่พึงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยคดีโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนทุกคดี ทั้งๆที่คดีดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำร้องของผู้ร้องที่อยู่ในศาลแล้วนั้นได้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคการเมือง ได้กระทำการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจนการกระทำนั้นได้ถึงขึ้นเป็นความผิดอาญาในข้อหาล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันเป็นกบฏแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอื่นก่อนฟังข้อเท็จจริงในคดีของผู้ร้องให้สิ้นกระแสความแล้ววินิจฉัยคดีพร้อมกันนั้น จะเกิดความเสียหายแก่คดีของผู้ร้องอย่างมหาศาลจนไม่อาจประมาณได้ และอาจเกิดผลเสียต่อระบอบการปกครองประเทศในอนาคตได้ ด้วยเหตุผลดังจะกราบเรียนคือ
๑. เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ วรรคสามบัญญัติว่า “ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”
มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า บัญญัติว่า “ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ”
ผู้ร้องขอกราบเรียนด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องคดี (Case) แต่เป็นข้อโต้แย้งกัน ( Controversy ) ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี และมวลชนเสื้อแดงซึ่งเป็นมวลชนของพรรคการเมือง และเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาล มีเสียงข้างมากในรัฐสภา ( เป็นผู้ปกครองและมวลชนของผู้ปกครองเอง ) ฝ่ายหนึ่งกับผู้ร้องซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีอำนาจรัฐ และไม่ใช่เป็นประชาชนที่สังกัดพรรคการเมือง แต่เป็นประชาชนที่เป็นผู้ถูกปกครอง ( เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ) โดยผู้ร้องและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ถูกกระทำละเมิด สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้แล้วทั้งโดยตรง ( ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ , ๖๘ ) และโดยปริยาย (ตามรัฐธรรมนูญ ๒๗ , ๒๙๑ ) ฝ่ายหนึ่ง
เมื่อมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถูกปกครองเกิดขึ้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอื่นเสร็จไปแล้ว โดยคำร้องดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งเช่นเดียวกัน มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน แต่การเสนอข้อเท็จจริงสู่การพิจารณาของศาลย่อมแตกต่างกันไป ทั้งๆที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน โดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ วรรคสามและมาตรา ๒๑๖ วรรคห้าดังกล่าวย่อมเกิดผลเสียหาย ทั้งผู้ร้องและเป็นผลเสียหายกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นแม่แบบการปกครองประเทศ โดยจะมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่จะต้องใช้บังคับเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมายต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗
ข้อโต้แย้งที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนี้ เป็นข้อโต้แย้งที่ได้มีการกระทำล่วงเลยขั้นตอนเป็นข้อโต้แย้ง แต่เป็นการกล่าวหาเป็นคดีข้อพิพาทโดยเป็นคดีอาญาแล้ว และผู้ร้องได้ใช้สิทธิที่จะให้มีการดำเนินคดีอาญา โดยได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไปแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงของผู้ร้อง ก็จะมีผลเป็นการตัดตอนคดีอาญาที่ผู้ร้องได้ใช้สิทธิต่อคณะกรรมการปปช. เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผล “ ผูกพัน” คณะกรรมการปปช. ที่ไม่อาจใช้บังคับหรือตีความการใช้บังคับกฎหมายอาญากับคดีของผู้ร้องที่ได้ร้องต่อคณะกรรมการปปช.ไว้แล้วได้ จะมีผลทำให้คณะกรรมการปปช.ยุติการดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องและระบบการปกครองประเทศได้อย่างมหาศาล
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณารอการวินิจฉัยคำร้อง และไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้สิ้นกระแสความในข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อจะได้วินิจฉัยคดีอันเป็นข้อโต้แย้งไปพร้อมกัน
๒. ผู้ร้องขอประทานกราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงว่า ปัญหาข้อโต้แย้งในศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา “ การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑” และ“การใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ” ว่าจะตีความการใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ โดยเพิ่มอำนาจให้แก่บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมากกว่าที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำหนดไว้อำนาจหน้าที่ไว้ได้หรือไม่ กรณีไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องศาลเล่นการเมืองเสียเองหรือศาลยึดอำนาจเสียเองแต่อย่างใดไม่ แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย ( รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๐๘ วรรคสาม ) จึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ และการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ซึ่งได้มีการตีความและใช้บังคับมาตรา ๒๙๑ ไปแล้ว โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และมวลชนคนเสื้อแดง โดยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาแล้ว และเมื่อรัฐสภารับหลักการและมีการพิจารณาผ่านวาระที่สองไปแล้ว ก็เป็นการที่สมาชิกรัฐสภาได้ใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ไปแล้วด้วยเช่นกัน
การใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ( ในชั้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญและรับร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ) การใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ของรัฐสภา ( ในชั้นพิจารณาของสส.และ สว.และเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ) เป็นการตีความและใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ โดยขยายอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ให้ “บุคคล” ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ “บุคคล” ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีมีมากกว่าที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำหนดให้อำนาจไว้ โดยให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจมอบหมายให้มีคณะบุคคลคือสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ให้มีอำนาจกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ให้มีอำนาจให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้โดยมีอำนาจบังคับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ให้มีอำนาจกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างได้ ให้มีอำนาจให้ประธานรัฐสภาเมื่อรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วใช้ดุลพินิจเสนอให้รัฐสภาวินิจฉัยหรือไม่ก็ได้ ให้มีอำนาจให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ดำเนินการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญได้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไปก็ให้มีอำนาจให้คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีก และฯลฯ
การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …….) พุทธศักราช………..ของสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นการที่สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีได้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ โดยการตีความและใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ขยายอำนาจให้กับตนเองให้มีอำนาจเกินกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ โดยปรากฏว่ามีญัตติที่ได้เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระนั้น ได้กำหนดในหลักการของร่างรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเป็นการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ ซึ่งอยู่ในหมวด ๑๕ แต่มีการเพิ่มเป็นหมวด ๑๖ “ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อีกหมวดหนึ่งต่างหากจากหมวด ๑๕ ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และในหมวด ๑๖ ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ได้เพิ่มอำนาจ ขยายอำนาจสมาชิกรัฐสภา ประธานรัฐสภา ให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นนอกเหนืออำนาจที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงเป็นการที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรีใช้บังคับและตีความการใช้บังคับมาตรา ๒๙๑ โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ เพื่อให้ตนเองและสภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตราหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นความต้องการตามมติมหาชนที่ได้ลงประชามติไว้เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ การที่รัฐสภาผ่านร่างไปแล้ว ๒ วาระ เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯแล้ว จึงเป็นการกระทำเพื่อ “ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะได้ละเลยการที่ต้องปฏิบัติตามภาระความผูกพันหรือตามพันธกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรีจะต้องพึงมีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้รับรองไว้โดยปริยายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพราะรัฐสภา คณะรัฐมนตรีได้ใช้สิทธิเสรีภาพและอำนาจหน้าที่มาตรา ๒๙๑ โดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจ ขยายอำนาจให้กับตนเองและพวก เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ให้ได้ และด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างสูง การกระทำเพื่อ “ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ” เป็นการกระทำความผิดอาญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ลึกยิ่งกว่าการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และการกระทำผิดอาญาไม่ต้องมีผลการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง ก็เป็นความผิดอาญาสำเร็จแล้ว กรณีจึงขึ้นอยู่กับเจตนาว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลอย่างไร และมีการลงมือกระทำการของผู้กระทำความผิด โดยไม่ต้องเกิดผลการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็เป็นความผิดอาญาสำเร็จแล้ว เช่นเดียวกับการกระทำโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ซึ่งผลของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยยังไม่มีผลเกิดขึ้น ความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ก็เกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง ก็เป็นการกระทำที่ขัดหรือผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ แล้ว เพราะเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ และมาตรา ๖๘ ดังกล่าว
๓. การตีความและการใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ โดยให้อำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เสนอญัตติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยญัตติดังกล่าวมีผลเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ วรรคสอง เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๘ ซึ่งละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้โดยแจ้งชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ หรือไม่นั้น
การไต่สวนคำร้องที่ได้ไต่สวนไปแล้วนั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ อันเป็นข้อโต้แย้งที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันกับของผู้ร้อง การเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐมิได้มีความหมายถึงอาณาเขตประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยของรัฐเท่านั้น แต่มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการปกครอง ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐได้ตามทฤษฎีแห่งอำนาจ ( Theory of Authority ) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้พรรคการเมืองรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้ (Totalitarianism ) หรือเปลี่ยนเป็นรัฐเผด็จการ (Totalitarian State ) หรือการสมคบกันรวบอำนาจ ( Conspiratorial Theory ) หรือเป็นระบบคณาธิปไตย (Oligachy ) ระบบทรชนาธิปไตย (Kakistocracy) และ ฯลฯ การเปลี่ยนระบบการปกครองดังกล่าว โดย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การมีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติมและมอบหมายให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยปราศจากบรรทัดฐาน (Norm) ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านการพิจารณารัฐสภาไป ๒ วาระแล้วนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ๒๙๑ วรรคสองแล้ว และเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ แม้จะยังไม่มีผลของการได้อำนาจการปกครอง ความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ก็เกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ใช้คำว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ในความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เป็นความผิดที่สำเร็จโดยไม่ต้องมีผลของการกระทำเกิดขึ้น และตามเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวก็จะปรากฏ รูปแบบความคิด ( Patternof thoughts ) ที่จะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และไม่มีอำนาจการตรวจสอบ โดยจะให้ทุกอำนาจมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีรูปแบบความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นการเมืองแบบเอาชนะด้วยการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ( Peanut Politics) อันมิใช่เป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปราศจากบรรทัดฐาน แต่มีแบบความคิดให้ทุกอำนาจต้องชนะด้วยการเลือกตั้งแล้ว จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
กล่าวโดยสรุป ความผิดหรือการละเมิดหรือการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ เป็นการกระทำที่ไม่ต้องมีผลของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเกิดขึ้น และไม่ต้องมีผลของการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แม้ยังไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร การกระทำละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ หรือการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ได้เกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จแล้ว และผู้ร้องมีความจำเป็นต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏในคดีของผู้ร้อง ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเป็นข้อโต้แย้งเดียวกันกับของผู้ร้องอื่น
ด้วยเหตุผลดังประทานกราบเรียนมา จึงขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดรอการวินิจฉัยคดีของผู้ร้องอื่นไว้ ก่อนและขอให้ทำการไต่สวนคดีของผู้ร้องเสร็จสิ้น จึงวินิจฉัยคดีไปพร้อมกัน จึงขอได้โปรดพิจารณาอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง
พล.ต.จำลอง กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ครบ 1 เดือน ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นคำร้องดังกล่าว ซึ่งเหตุที่ขอให้ศาลชะลอการมีคำวินิจฉัยก็เพราะอยากให้มีการไต่สวนและพิจารณาคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วค่อยมีคำวินิจฉัยไปพร้อมกัน เพราะในคำร้องทั้ง 5 คำร้องที่ศาลกำลังจะวินิจฉัย ไม่ได้ระบุหรือบ่งบอกความผิดเป็นรายบุคคล แต่ในคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่าร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นความผิดรายบุคคล เนื่องจากมี ส.ส. และ ส.ว. รวม 416 คน ได้ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งยังมองว่ากรณีนี้เป็นความผิดทางอาญา และเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับคนเพียงคนเดียว คือ ประธานรัฐสภา ให้เป็นผู้ชี้ชะตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากศาลจะเดินหน้ามีคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. กลุ่มพันธมิตร ก็จะไม่คัดค้านหรือออกมาเคลื่อนไหวกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการร้องตามสิทธิรัฐธรรมนูญและทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของตุลาการศาลฯ จึงไม่ขอก้าวล่วง
นายปานเทพ กล่าวว่า ที่ต้องมายื่นคำร้องขอให้ชะลอการวินิจฉัยวันที่ 13 กรกฎาคม เนื่องจากเห็นว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยในวันดังกล่าวเป็นประการใด ก็จะกระทบต่อคำร้องของกลุ่มพันธมิตรโดยตรง เพราะขณะนี้ทางกลุ่มยังไม่ได้เข้ารับการไต่สวนแก้แต่ปากเดียว จึงจะทำให้เสียสิทธิ และประโยชน์ในการที่ชี้แจงข้อเท็จจริง จึงขอเรียกร้องให้เลื่อนการมีคำวินิจฉัยออกไป เพื่อให้มีการไต่สวนคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยมีคำวินิจฉัยออกมาพร้อมๆ กัน