xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอำนาจพิเศษของกษัตริย์นอกและเหนือรัฐธรรมนูญในทัศนะของจอห์น ล็อค (2)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“บุคคลจะยอมรับความชอบธรรมของการกระทำนอกกฎหมายมิได้ เว้นแต่ว่าความยึดมั่นในหลักการกระทำที่ชอบธรรมสอดคล้องกับกฎหมายนั้นอ่อนแอลง แต่จอห์น ล็อค กลับกระทำเช่นนั้นอย่างชัดแจ้ง เขาอ้างในหนังสือชื่อ Two Treatises of Government ว่า กษัตริย์มีสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติทั่วไป (II/159) ที่จะกระทำอะไรก็ได้เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ หรือแม้กระทั่งขัดกับกฎหมาย มีคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีอำนาจดังกล่าว และอำนาจนั้นเป็นอย่างไร ในประเทศประชาธิปไตย”

นิยาม Prerogative กันใหม่

Prerogative ในความหมายดั้งเดิมได้แก่ สิทธิของกษัตริย์ ล็อครักษาคำของพวกปฏิปักษ์กษัตริย์นี้ไว้ แต่เปลี่ยนคำนิยามให้ใหม่หมด เขาชี้ให้เห็นความพิสดารของคำนิยามที่เขาให้ “กับสิ่งที่เรียกว่า Prerogative” (II 160) มิใช่ว่าทุกสิ่งที่เรียกว่า Prerogative จะเป็น Prerogative หรืออำนาจพิเศษจริงๆ เช่นนั้นแล้ว ล็อคหมายความอย่างไรกันแน่กับคำนี้ ล็อคนิยามคำว่า Prerogative นี้ 5 ครั้ง และทั้ง 5 ครั้ง เขาพูดถึง Prerogative นั้น และ Prerogative นี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องตรวจสอบคำนิยามนั้นและนี้ของเขาอย่างรอบคอบ

คำนิยามแรกของล็อคตามหลังติดมากับข้อความที่เขาบอกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่เป็นอนิจจังและอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ Prerogative จึงมิใช่อะไรมากไปกว่าอำนาจในมือของกษัตริย์ที่จะทำให้เกิดผลดีแก่ประชาชน ในกรณีต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเกิดสิ่งไม่แน่นอนที่มองไม่เห็นล่วงหน้า หากกฎหมายที่มีอยู่และเปลี่ยนแปลงมิได้ไม่สามารถนำความปลอดภัย อะไรก็ได้ที่จะทำให้เกิดผลดีกับประชาชนอย่างชัดแจ้ง และจับรัฐบาลให้ตั้งอยู่บนความถูกต้อง นั่นก็คือและเป็นอำนาจพิเศษหรือ Prerogative ที่เที่ยงธรรม (II 158)

คำนิยามที่สอง (ซึ่งเป็นคำแรกที่ปรากฏในบทว่าด้วยอำนาจพิเศษ “of Prerogative”) มีความว่าดังนี้ “อำนาจที่จะปฏิบัติการได้ตามดุลพินิจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือแม้กระทั่งบางครั้งก็ขัดกับกฎหมายมีอยู่ นี่แหละที่เรียกว่า อำนาจพิเศษของกษัตริย์” (II 160) อีกสี่หมวดต่อมา ล็อคก็ให้คำนิยามอีกว่า “Prerogative หรืออำนาจพิเศษ ไม่มีอะไรมากกว่า การที่ประชาชนอนุญาตให้กษัตริย์ทำอะไรหลายๆ อย่างได้โดยเสรี ในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือแม้กระทั่งขัดกฎหมายที่เขียนไว้ก็ได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เมื่อกษัตริย์กระทำดังนั้น ประชาชนก็ยอมรับโดยสงบ” (II 164)

คำนิยามสุดท้ายที่ล็อคพูดถึงอีกในบทว่าด้วยอำนาจพิเศษ ก็คือ “อำนาจพิเศษมิใช่อะไรนอกจากอำนาจที่จะทำประโยชน์ให้ประชาชนโดยไม่มีกฎหมาย” (II 166) ในที่สุด ในท้ายบทที่ว่าด้วยทรราชย์หรือ tyranny ล็อคกล่าวว่า “อำนาจที่จะกระทำตามอำเภอใจที่มอบไว้ในมือกษัตริย์นั้น มีไว้เพื่อกระทำความดี มิใช่ทำอันตราย ให้กับประชาชน” (II 210)

เราจะเห็นได้ทันทีว่าทุกคำนิยาม มีอยู่ 2 อย่างที่คงที่อยู่โดยตลอด จนเราสามารถกล่าวได้ว่า ทั้ง 2 อย่างนี้นั้นรวมตัวกันเป็นคุณสมบัติหลักของ Prerogative นั่นก็คือ ประการที่หนึ่ง อำนาจนั้นจะต้องเป็นอำนาจที่จะทำประโยชน์ให้ประชาชน และต้องจำกัดอยู่กับประโยชน์นั้นๆ ความจงใจฝ่าฝืนนอกคอก การกระทำหรืออำนาจนั้นๆ ก็มิใช่ Prerogative เสียแต่แรกแล้ว (II 166) หากการยึดถือกฎหมายธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจนิติบัญญัติ (cf II 134) การยึดถือกฎหมายธรรมชาติและการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งในคำนิยามของ Prerogative เช่นเดียวกัน (II 159) และสาระของทั้ง 2 อย่างนี้ก็เหมือนกัน นั่นก็คือรักษาความมั่นคงดำรงอยู่ของสังคม และถ้าเป็นไปได้ ก็รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในสังคมนั้นๆ และนี่ก็คือความหมายของคำว่า Public good หรือประโยชน์(สาธารณะ)ของประชาชน ผู้ใช้อำนาจ Prerogative เคารพกฎหมายธรรมชาติอันเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทำงานไปสู่ความมุ่งหมายด้วยวิธีการที่นิติบัญญัติถูกห้ามมิให้กระทำ (cf II 136)

ประการที่สอง Prerogative หรือพระราชอำนาจหรืออำนาจพิเศษมิได้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฎหมาย Prerogative เป็นอำนาจพิเศษที่อยู่เหนือและนอกกฎหมาย ที่อำนวยให้กษัตริย์สามารถกระทำในสิ่งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือขัดกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้

ทั้งสองแง่นี้ แต่ละแง่ในตัวของมันเอง ก็ยังทำให้เราต้องการคำอธิบายมากขึ้น เพื่อทำความกระจ่างว่าล็อคหมายความว่าอย่างไร เราต้องหันไปหาตัวอย่าง Prerogative ที่ล็อคยกขึ้นมาอ้าง ทั้งหมดมีอยู่ 5 ตัวอย่างด้วยกัน (II 156, II 158, II 159 x 2, II 167) แต่ตัวอย่างที่ 1 กับที่ 5 คล้ายจนจะเหมือนกันทีเดียว อาจสงเคราะห์เป็นตัวอย่างเดียวได้

ล็อคเริ่มต้นอย่างค่อนข้างระมัดระวังว่าการเปิดประชุมสภาเมื่อมีความจำเป็นการใช้อำนาจพิเศษต่างกับการเปิดประชุมตามวาระที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก่อนจะยกตัวอย่างนี้ ล็อคอธิบายว่าการเรียกประชุมสภาเป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่านั่นเป็นการใช้อำนาจธรรมดาทั่วไปของฝ่ายบริหาร (II 154-155) ผู้เขียนใคร่ตรวจดูว่าล็อคว่าอย่างไรก่อนจะไปถึงการยกตัวอย่างจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจคำอธิบายนั้นแต่ต้น

แต่ก่อน ฝ่ายบริหารมีหน้าที่สั่งเปิดประชุมฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น หากรัฐธรรมนูญกำหนดเวลาสมัยประชุมไว้ ฝ่ายบริหารก็เพียงประกาศให้มีการเลือกตั้ง และออกระเบียบคำสั่งต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อยหรือไม่ การประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับกุศโลบายของฝ่ายบริหาร ที่จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะออกหรือแก้ไขกฎหมายใด หรือมีความจำเป็นจะต้องป้องกันแก้ไขปัญหาความยุ่งยากใดๆ หรือไม่ (II 154) ข้อสำคัญพึงรำลึกว่า ฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้องก็เท่ากับการประกาศสงครามกับประชาชน (II 155)

ทีนี้มีเรื่องแปลกเกิดขึ้น เพราะตอนนี้แหละที่ล็อคบวกอำนาจในการไล่ฝ่ายนิติบัญญัติออกเพิ่มให้กับฝ่ายบริหาร (II 156) ในขณะที่ล็อคเพิ่งพูดถึงความเป็นไปได้ที่ฝ่ายบริหารอาจกระทำผิดอำนาจหน้าที่ เขาพูดขยายขอบเขตออกไปกว้างๆ ไม่มีจำกัด แต่เราต้องจำคำเตือนว่า การใช้พระราชอำนาจพิเศษกับสภาอย่างน่าเคลือบแคลงของกษัตริย์สจ๊วต (เกิดขัดแย้งกับสภาและประชาชนทำให้ Charles I ถูกประหาร 1649-ผู้เรียบเรียงและ James II ต้องถูกถอด 1668 นำไปสู่ Glorious Revolution) ล็อคก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า อำนาจนั้นในที่สุดก็ถูกควบคุมโดยสำนึกว่ามี โอกาสที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ อำนาจพิเศษทางรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ล็อคบรรยายต่อด้วยการขยายอำนาจที่กษัตริย์พึงมีเหนือรัฐสภา แต่เดิมล็อคเห็นว่าควรไว้ใจให้กษัตริย์เปิดและปิดการประชุมสภาได้ตามความจำเป็น แทนที่จะกำหนดเวลาเปิดไว้ในรัฐธรรมนูญ (cf. II 154) แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจเพราะเห็นว่าอย่างนั้นไม่แยบคาย

ล็อคให้เหตุผลว่า ในการก่อตั้งรัฐบาลครั้งแรกที่ผู้ก่อตั้ง ถึงแม้จะมีจินตนาการและสายตาไกลเพียงใดย่อมจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นเจ้าบัญชาการเหตุการณ์ในอนาคตได้ จนกระทั่งสามารถกำหหนดวันเปิดและระยะการประชุมของสภาไว้ล่วงหน้าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการทุกอย่างของสังคม ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ประชาชนต้องเสี่ยงหรือเผชิญเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแน่นอน นอกจากจะฝากความหวังไว้กับบุคคลผู้มีปรีชาญาณที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้และเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้สามารถจะใช้ Prerogative หรืออำนาจพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม ที่ไหนและในมือใครเล่า จึงจะเหมาะสมที่จะควบคุมการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองเท่าบุคคลผู้นั้น (II 156)****

ที่มา : เรียบเรียงจาก The Extraconstitutionality of Lockean Prerogative ของ Ross J. Corbett โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น