xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายย้ำ! “พ.ร.บ.ปรองดอง” ทำลายกระบวนการยุติธรรม จุดชนวนความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความพยายามในการฟอกความผิดให้นักโทษชายทักษิณ มุ่งล้มล้างกระบวนการยุติธรรม สถาปนาการเมืองทรราชย์ให้อยู่เหนือระบบตุลาการ ล้มคำตัดสินของศาลด้วย “ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” ยังคงกลายเป็นประเด็นเดือด ตราบใดที่สภานักโกงเมืองยังคงพยายามผลักดันกฎหมายปรองดองจอมปลอมเพื่อให้ “นายใหญ่” พ้นผิด โดยอ้างคำทำเพื่อส่วนรวมมาบังหน้า ไม่รับฟังกระแสสังคมที่ออกมาทัดทาน ด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างมองกลเกมครั้งนี้ทะลุปรุโปร่งว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมิใช่เพื่อประเทศชาติ ทั้งยังหักล้างทำลายหลักการของกระบวนการยุติธรรมให้ล้มครืน
ไพโรจน์ พลเพชร หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
 
     ดังที่ ไพโรจน์ พลเพชร หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทั้งเป็นนักกฎหมายผู้เชื่อมั่นในสิทธิชุมชน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเครือข่ายภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน ได้เน้นย้ำต่อ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ว่า หากสังคมนิ่งเฉยปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวถูกประกาศใช้ สังคมไทยย่อมกลายเป็นสังคมที่ไม่รู้จักคำว่า “ความถูกต้อง” เป็นสังคมที่ไม่สนใจเหตุและผล เป็นสังคมที่คนผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นสังคมที่ผู้ชนะสามารถกระทำย่ำยีประเทศชาติได้ตามแต่ใจโดยไม่คิดรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน
 
     โดยนายไพโรจน์ พลเพชร เผยว่าในมุมมองส่วนตนแล้วเห็นว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองครั้งนี้เป็นความพยายามที่ฝ่ายการเมืองนำเสนออย่างผิดจังหวะเวลา และเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ยังคงคุกรุ่นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันว่าด้วยการนิรโทษกรรมของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนั้นผิดหลักการการนิรโทษกรรมเมืองที่เคยมีมาในอดีต เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นมิได้มีเพียงการกระทำผิดต่อรัฐอันว่าด้วยการชุมนุมทางการเมือง
 
     แต่การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ยังก่อให้เกิดคำถามว่าอาจมีจุดประสงค์มุ่งล้มล้างความผิดให้แก่ผู้กระทำผิดที่มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทั้ง 91 ศพ ซึ่งในกรณี 91 ศพนี้เองที่ไพโรจน์ย้ำว่าไม่สามารถใช้กฎหมายนิรโทษกรรมได้ เพราะมิใช่เรื่องของ “การเมือง” แต่เป็นการกระทำผิดที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต
 
     ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองจึงนับเป็นการทำลายการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมทางการเมือง 91 ศพมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้จึงทำให้ประชาชนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงมีเจตนารมณ์ที่มุ่งให้ประชาชนลืมผู้กระทำผิด โดยเฉพาะเมื่อความผิดที่ก่อขึ้นเป็นความผิดที่ทำลายชีวิตของผู้อื่น
 
     สอดคล้องกับทัศนะของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยอธิบายแก่ ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นว่าการนิรโทษกรรมเพื่อฟอกความผิดนั้นมิใช่หนทางสู่ความปรองดองที่แท้จริง ยิ่งเมื่อการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งยกโทษให้แก่ผู้ที่กระทำผิดต่อชีวิตของผู้อื่น
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
     “ถ้าเป็นการขัดต่อกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม เช่น ความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นความผิดที่นิรโทษกรรมได้ แต่ถ้าหากว่ามีการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดี หรือของประชาชนด้วยกันเองก็ดีที่กระทำต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น ผมเห็นว่าการนิรโทษกรรมนั้นทำไม่ได้ เพราะคนที่เป็นเจ้าของชีวิตไม่ใช่รัฐ แต่เป็นสิทธิของเจ้าตัวเขาที่มีสิทธิจะให้มีการดำเนินคดีต่อไปได้ เรื่องแบบนี้เคยเป็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ครั้งหนึ่งแล้ว”
     ผศ.ดร.กิตติศักดิ์อธิบายว่า ในเหตุการณ์นั้นเป็นกรณีที่รัฐบาลตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำที่เป็นความผิด ซึ่งหมายถึงว่าในด้านหนึ่งนั้นการชุมนุมของประชาชนที่มีความผิดให้กลายเป็นไม่มีความผิด แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้ถือว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชนก็ไม่มีความผิดด้วย
 
     “ในความเห็นของผม การนิรโทษกรรมประชาชนที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐนั้นทำได้ เพราะว่ารัฐเป็นผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบ และเมื่อได้รักษาความสงบและเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อให้เกิดการรักษาความสงบและมั่นคงยิ่งขึ้น รัฐก็จะไม่เอาโทษผู้ที่ก่อกวนความสงบ แบบนี้ทำได้ แต่ถ้าประชาชนเขาทำผิดต่อชีวิตร่างกาย ทำร้ายกันเองหรือฆ่ากันเองก็ดี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายของประชาชนก็ดี ความผิดแบบนี้ เป็นความผิดต่อชีวิตร่างกายซึ่งมันเป็นเรื่องที่รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตร่างกายของประชาชน และเมื่อรัฐไม่ใช่เจ้าของชีวิตร่างกาย รัฐจะมานิรโทษกรรมความผิดอันนี้ไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์ พฤษภาคม 2555 นั้น เป็นกรณีที่รัฐจะต้องดำเนินคดี แต่ถ้าดำเนินคดีแล้วอภัยโทษ แบบนี้ทำได้ เพราะมันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ แต่ถ้าจะบอกว่าไม่ให้มีการดำเนินคดี ให้เลิกแล้วต่อกัน ผมเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐ
 
     “วัตถุประสงค์หลักของการที่เราอยู่รวมกันเป็น ‘รัฐ’ นั้น วัตถุประสงค์หลักเลยก็คือ ‘รัฐจะต้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน’ แล้วถ้าวันหนึ่งรัฐมาบอกว่าถ้ารัฐทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินแล้วไม่เป็นความผิด แบบนี้มันก็ขัดต่อวัตถุประสงค์ของรัฐ”
 
     นอกจากนั้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ มองว่า การปรองดองอันไม่ชอบธรรมและมีผลประโยชน์แอบแฝงนั้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เพราะแผนปรองดองนั้นเปรียบได้กับการมุ่งล้มล้างกระบวนการยุติธรรมที่เปรียบเสมือนเสาหลักซึ่งคอยค้ำยันสังคมไม่ให้พังทลายด้วยความไม่ชอบธรรม
 
     “ความหมายของ ‘ปัญหาทางรัฐธรรมนูญ’ ก็คือ ประการแรก ต้องดูว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคไหม และประการที่ 2 จะไปขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยหรือเปล่า การขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจหมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายฝ่ายตุลาการไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายตุลาการก็ไม่ใช้อำนาจเข้ามาก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายตุลาการจะทำหน้าที่วินิจฉัยคดีว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ยกเว้นกรณีคดีที่เป็นคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นมาขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นกติกาที่ตกลงกันไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัย
 
     “ส่วนปัญหาเรื่องความเสมอภาคในกรณีล้มคดี คตส.นั้น ถ้าหากเขาบอกว่า ‘กระบวนการไม่ถูกต้อง ให้ไปดำเนินการใหม่ เริ่มต้นกระบวนการใหม่ หรือเริ่มต้นพิจารณาใหม่’ อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้ไปล้มล้างคำพิพากษา แต่แม้จะบอกว่ากระบวนการที่ดำเนินมาไม่ถูกต้องก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกว่า ถ้าเช่นนั้นการดำเนินกระบวนการอื่นๆ ที่กระทำไปแล้วต่อบุคคลในอดีต เช่นการยึดทรัพย์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาศ จารุเสถียร ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นก็จะเกิดปัญหาว่าถ้าครั้งนี้สามารถทำได้ บุคคลเหล่านั้นก็จะขอรับผลประโยชน์ตามหลักการของความเสมอภาคด้วยหรือไม่ เพราะถ้าจะบอกว่าคนทุกคนต้องเสมอภาคกันก็จะเสมอกันแบบนี้ กลายเป็นปัญหาทางการเมืองตามมาอีก”
 
     ขณะที่ไพโรจน์ พลเพชร เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า
     “การปรองดองครั้งนี้ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า 'เพื่อใคร?' มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร? การนิรโทษกรรมมันอาจจะซ้ำรอยเดิม ว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นแล้ว เราก็ยกโทษให้ผู้กระทำผิด ทั้งที่การสูญเสียชีวิตนั้นไม่อาจนิรโทษกรรมได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำตอบว่า 91 ศพ เสียชีวิตเพราะใคร? แล้วจะรอมชอม ปรองดองได้อย่างไร เมื่อยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ปรากฏ เรายังไม่สามารถตอบคำถามของสังคมได้ว่าใคร? ทำให้เขาเสียชีวิต คนทำผิดต้องถูกลงโทษ ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าเวลานี้ไม่ใช่จังหวะของการเสนอกฎหมายฉบับนี้”
     นอกจากนั้น ไพโรจน์ยังมองว่าหากร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ได้รับความเห็นชอบผ่านสภาฯ อาจกลายเป็นเชื้อไฟที่พร้อมปะทุ หรือกลายเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เปรียบเสมือนสังคมที่มีความคุกรุ่น มีบรรยากาศความขัดแย้งก่อหวอด ดำรงอยู่ไม่จาง
 
     “เป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ สังคมจะมีความขัดแย้งคุกรุ่น เป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่ถ้าระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว สังคมไทยต้องไม่ยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ คนในสังคม ภาคประชาชนต้องร่วมกันแสดงพลัง ร่วมกันตรวจสอบ หากเรายินยอมให้เกิดขึ้น มันก็ยิ่งสร้างวัฒนธรรมความรุนแรงให้ดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยลงโทษผู้กระทำผิด สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ทางออกของความขัดแย้งนั้น เมื่อเราต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต เราต้องกลับสู่กระบวนการยุติธรรม สังคมต้องร่วมกันแสวงหาความจริง การปรองดองที่แท้จริง ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องเดินขึ้นสู่ศาล ไม่ใช่ล้มล้างความผิดโดยที่ความจริงยังไม่ปรากฏ คนในสังคมต้องร่วมกันเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ปรองดองนี้ ก็ต้องแสดงออกด้วยวิถีทางประชาธิปไตย”
 
     สุดท้าย ไพโรจน์ฝากทิ้งท้ายถึงบรรดานักการเมืองที่มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายปรองดองว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงมิได้หมายถึงชัยชนะของเสียงส่วนมาก หากแต่หมายถึงการรับฟังและใส่ใจต่อความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อย รับฟังเหตุผลและข้อเสนออันเป็นธรรมจากเสียงของประชาชนทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันหาทางออกอันเหมาะสม ถูกต้องชอบธรรมแก่ประเทศชาติและส่วนรวมอย่างแท้จริง

     “ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเสียงข้างมากของผู้ชนะ ถ้าเขายืนยันที่จะใช้เสียงข้างมากเพื่อชนะ เขาก็ทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วย ผมคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา เพราะสังคมไทยต้องร่วมกันตรวจสอบเรื่องนี้ เสียงข้างมากไม่ได้เป็นหลักประกันว่าถูกต้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ พลังของภาคประชาชน พลังแห่งศีลธรรม ความดี พลังของเหตุและผล พลังของข้อเท็จจริง เสียงข้างมากไม่ใช่ความยุติธรรมของผู้ชนะ”
                                       ........
กำลังโหลดความคิดเห็น