xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ จี้ อสส.ตอบ เหตุเป่าคดีล้มล้าง รธน.-เล็งเอาผิดอาญาซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธมิตรฯ ยื่นหนังสืออัยการสูงสุด จี้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร เหตุใดไม่ส่งศาล รธน.วินิจฉัย 416 นักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับตัดสินเอง ทั้งที่ ม.68 ไม่ให้อำนาจ เล็งเอาผิดอาญา อสส.ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ พร้อมยื่นตรงศาล รธน.วินิจฉัย แก้ รธน.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"แกนนำพันธมิตรแถลงการณ์" 

เมื่อเวลาประมาณ 13.10 น. วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พลตรีจำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายประพันธ์ คูณมี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ได้ร่วมกันแถลงข่าวหลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายปานเทพกล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ ได้ไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ในกรณีที่นักการเมือง 416 คน ร่วมกันล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามมาตรา 68 ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง ส่งคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สั่งการหรือวินิจฉัยให้นักการเมืองเหล่านี้เลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากนี้ยังไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการทางคดีอาญา

ผลปรากฏว่านับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานนับเป็นเดือนเศษแล้ว อัยการสูงสุดมิได้พิจารณาเรื่องนี้ ได้แต่ถ่วงเวลาเอาไว้กระทั่งจะมีการลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่สาม อัยการสูงสุดก็ยังเพิกเฉย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 5 สำนวนเอาไว้จากการกระทำของอัยการสูงสุดที่ล่าช้า และเมื่อศาลรับธรรมนูญรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยแล้ว อัยการสูงสุดเพิ่งจะให้ความเห็นว่าไม่มีมูล แล้วจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขยายอำนาจของอัยการ ให้เหนือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งๆ ที่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยในส่วนของอัยการ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พันธมิตรฯ จึงได้ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เหตุใดจึงไม่ดำเนินการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ลำพังเพียงแค่อัยการสูงสุดพูดออกมาเป็นคำแถลงโดยไม่ตอบเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นย่อมถือว่ายังไม่ตอบเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ จึงขอให้อัยการสูงสุดตอบพันธมิตรฯ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ว่าด้วยเหตุผลอะไร จึงไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดลงรับหนังสือเลขที่ 14818 ไปแล้ววันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัยการสูงสุดได้กระทำการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หากยังไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อ จะตอบกลับมาหรือไม่ตอบกลับด้วยเหตุผลใดก็เรียนให้ทราบว่า อัยการสูงสุดดำเนินการผิดขั้นตอน ผิดรัฐธรรมนูญ ย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งพันธมิตรฯ จะดำเนินการทางคดีอาญาในลำดับถัดไป

หลังจากเรื่องนี้ พันธมิตรฯ ได้อาศัยสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 68 ซึ่งเป็นการอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้อง 5 สำนวน ว่าเมื่อพันธมิตรฯ ยื่นต่ออัยการแล้ว ก็ขอใช้สิทธิ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังอาศัยมาตรา 212 ไว้อีกว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับร้องไว้ มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ได้ และการใช้สิทธิ์ตามวรรคหนึ่งที่ว่านี้ ต้องเป็น กรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ซึ่งพันธมิตรฯ ยื่นต่ออัยการแล้ว

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐรรมนูญ ที่รับ 5 คำร้องก่อนหน้านี้ หรือจะใช้สิทธิ์หลังจากที่ยื่นต่ออัยการสูงสุดแล้วใช้ไม่ได้ผล แล้วยังใช้สิทธิ์ตามมาตรา 212 ตามที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าต้องผ่านอัยการก่อน บัดนี้พันธมิตรฯ ดำเนินครบในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีข้อขัดแย้งของฝ่ายใดก็ตาม ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ฝ่ายใดจะโต้แย้งแล้ว และหวังว่าผลสุดท้ายก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยต่อไปว่า คำร้องของพันธมิตรฯ ที่ระบุว่า นักการเมือง 416 คน ได้กระทำการในการล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริงผลต่อเนื่องก็จะตามมา คือกระบวนการยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และที่พันธมิตรฯ ต้องดำเนินการต่อ และดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่งคือการยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีอาญาในฐานที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ถึงขั้นล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งโทษสูงสุดคือประหารชีวิต

นายประพันธ์ กล่าวว่า กรณีที่พันธมิตรฯ ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เป็นผลสืบเนื่องมาจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำแถลงและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการที่ได้วินิจฉัยคำร้องของพันธมิตรฯ ที่ได้ไปยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดว่าเป็นกรณีที่ไม่มีมูลตามคำร้องที่อัยการจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่ามาตรา 68 ที่ไม่ได้ให้อำนาจพนักกงานอัยการในการที่จะสั่งคดีนั้น ชัดเจนว่าในมาตรา 68 ไม่ได้เขียนให้อำนาจพนักงานอัยการในการที่จะมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับการวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องที่ไปยื่นผ่านกระบวนการของอัยการ เขียนแต่เพียงว่าให้อัยการสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ บัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากอัยการไม่ยื่น ไม่ส่งคำร้องของผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนผู้ทราบการกระทำความผิดนั้นสามารถยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่ง เป็นคำวินิจฉัยของศาลที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังที่ศาลรับธรรมนูญได้แถลงไปแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้รับคำร้อง

ทั้งนี้ขอเรียนว่า พันธมิตรฯ ได้ใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย เพราะถ้าหากว่าพนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้องนั้นเราถือว่าเป็นความผิด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจงใจที่จะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายในการที่จะยื่นคำร้องในครั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิ์อัยการในการสั่งคดีนั้น ขอเรียนว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจน โดยยกตัวอย่างกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่าด้วยการตรวจสอบในคดีร่ำรวยผิดปกติหรือส่อไปในทางทุจริต ซึ่งจะกำหนดให้อัยการมีหน้าที่สั่งหรือมีหน้าที่ใดๆ อันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเอาไว้ เพราะฉะนั้นการกระทำของพนักงานอัยการที่เราขอให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ก็เพื่อเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า หากประชาชนจะยื่นคำร้องต่อศาลหรือ ป..ป.ช. เพื่อยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรืออัยการสูงสุดตามมาตรา 270 นั้นก็จะได้เป็นหลักฐานว่าพนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่โดยส่อไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ 2 หมื่นชื่อเพื่อเข้ายื่นถอดถอนต่อ ป.ป.ช.หรือจะฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาก็ได้ พันธมิตรฯ จะรอคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร หากปรากฏว่าพนักงานอัยการยังยืนยันที่จะไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ พันธมิตรฯ ก็จะดำเนินการในสองช่องทาง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พันธมิตรฯ ได้กำหนดกรอบเวลาในการรอคำตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ พลตรีจำลองกล่าวว่า เราไม่ได้กำหนดว่าให้สำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับมาภายกี่วัน แต่คราวที่แล้วเมื่อยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งแต่ 26 เม.ย.เป็นต้นมา เป็นระยะเวลา 1 เดือนกับ 16 วัน ก็ถือว่านานเกินไปแล้ว เราต้องไปยื่นเพื่อขอรับทราบว่าเหตุไฉนการดำเนินคดีถึงได้ช้าขนาดนี้ เมื่อถามว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.) การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จะทำอย่างไรเพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ พลตรีจำลองกล่าวว่า เราติดตามสถานการณ์อย่างกระชั้นชิด และพิจารณาไปตามสถานการณ์ จะพูดก่อนล่วงหน้าไปไม่ได้ ถึงวันนี้ข่าวยังสับสนและไม่แน่ชัดว่าจะทำอย่างนั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่ถึงกระบวนการเลือก ส.ส.ร.แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะให้แน่ชัดอีกทีก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วในแต่ละมาตรา หากพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้จะถูกกล่าวหาว่าตีตนไปก่อนไข้หรือจินตนาการเอา แต่ยืนยันว่าโดยรวมถือว่าผิด เพราะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ และดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมิชอบ จึงเสนอเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยยังไม่ได้มีการจัดการชุมนุมในเรื่องนี้ เมื่อถามว่า หากมีการรวบรัดลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้วพันธมิตรฯ จะยังไม่มีการคัดค้าน พลตรีจำลองกล่าวว่า ขอพิจารณาดูอีกที เราพิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอหารือในประเด็นนี้

นายปานเทพกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้พันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนว่า เรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญนั้น พันธมิตรฯ ไม่ได้เห็นด้วย แต่ไม่ใช่โดยเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ ประกาศว่าจะใช้วิธีการชุมนุมในขณะนี้ เหตุผลคือไม่ตรงกับสามเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ จะออกมาชุมนุม คือ มีการตรากฎหมายเพื่อลดพระราชอำนาจหรือโครงสร้างของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพวก และมีประชาชนตื่นรู้มากและต้องการการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เรายังไม่เห็นเนื้อหา เพียงแต่เราเห็นว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงใช้สิทธิ์ทางกฎหมายเพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวสามารถมีข้อยุติได้ด้วยข้อกฎหมาย โดยไม่ได้ใช้วิธีการชุมนุมในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญได้กรุณารับคำร้องไว้ 5 สำนวนไปแล้ว ทำให้พันธมิตรฯ เห็นว่าเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่กระทำการวินิจฉัยในเรื่องนี้ และเริ่มกระบวนการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว พันธมิตรฯ จึงขออยู่ในสถานภาพที่ขอใช้สิทธิ์ของตัวเองยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเคารพรอรับคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด ส่วน พ.ร.บ.ปรองดองเข้าตรงเงื่อนไข 1 ใน 3 ของพันธมิตรฯ อย่างชัดเจน พันธมิตรฯ จึงต้องประกาศเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมชัดเจน ส่วนวันพรุ่งนี้ที่จะมีการประชุมสภา ตนยังไม่เห็นว่ามีความชัดเจนอะไร วันนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการลงมติในวาระที่สามหรือไม่ ซึ่งเราเห็นว่า ถ้ารัฐสภาตัดสินใจลงมติ ก็ต้องรับผิดชอบกับกระบวนการทางกฎหมายหลังจากนั้นเอาเอง ซึ่งพันธมิตรฯ ก็ได้เตรียมรองรับเอาไว้แล้วในกระบวนการทางอาญา โดยยื่นต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว ถ้าลงมติในวาระสามเพิ่มเติม เราก็จะได้ใส่ชื่อเพิ่มเติมให้ครบถ้วนหลังจากนั้น

พลตรีจำลองกล่าวอีกว่า เรื่องกฎหมายปรองดองถ้าดึงดันที่จะเอาเข้าสภา ตนได้พูดบนเวทีชุมนุมว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งได้เตือนรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ เรื่องนี้รัฐบาลต้องหยุดยั้ง พ.ร.บ.ปรองดองให้ได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา และรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มคำว่าปรองดองเรื่องมา ตนประกาศว่าหากการชุมนุมของพันธมิตรฯ หากมีความจำเป็นจริงๆ จะไม่ชุมนุมที่รัฐสภา แต่จะไปชุมนุมกันที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพราะสะดวกในการไปรัฐสภาหรือทำเนียบรัฐบาล ก็ยังไม่มีพันธมิตรฯ คนใดคัดค้าน ก็จะบอกกับประชาชนล่วงหน้าว่า การชุมนุมใหญ่คราวต่อไปก็จะไปใช้ที่เก่า คือเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ติดกับประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล หากไม่มีแกนนำพันธมิตรฯ คนใดคัดค้าน แต่วันเวลาขอพิจารณา ซึ่งการชุมนุมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องสบาย ต้องเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้มา อีกเรื่องหนึ่งคือ เราไม่อยากมีเรื่องกับ ส.ส. ส.ว.และคณะรัฐมนตรี แต่เราจำเป็นต้องเอาผิดกับนักการเมือง 416 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงลงมติร่างเจบีซีก็เคยทำจดหมายขอร้องถึง ส.ส. และ ส.ว. แต่มาคราวนี้ทำไม่ทัน เพราะนักการเมืองได้ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญวาระที่หนึ่งแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น