xs
xsm
sm
md
lg

การเริ่มต้นแห่งจุดจบของระบบทุนสามานย์และอำมาตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในทศวรรษที่ผ่านมาระบบทุนสามานย์ในสังคมไทยสถาปนาตนเองขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง ทำให้มีพลังอำนาจในการครอบงำและควบคุมสังคมไทยแทนระบบอำมาตย์ดั้งเดิม พลังหลักในการหล่อเลี้ยงระบบอำนาจของทุนสามานย์ มาจากความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนเชิงพลวัตระหว่างมวลชนแดง ทุนสามานย์ และอำมาตย์ เนื้อหาของการปฏิสัมพันธ์มีการเคลื่อนไหวระหว่างการสยบยอมอ่อนน้อมกับการแข่งขันท้าทาย การพึ่งพากับความเป็นอิสระ และการเป็นมิตรกับการเป็นปรปักษ์ ส่วนอารมณ์ในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ก็ผสมปนเประหว่าง ความชอบ ความรัก ความน้อยเนื้อต่ำใจ การดูถูกดูแคลน ความโกรธเคือง ความเกลียดชัง และความเคียดแค้น

เมื่อแรกได้อำนาจทุนสามานย์หยิ่งผยองในความเก่งกล้าสามารถของตนเอง ถือดีในอำนาจที่ได้มาจากผู้เลือกตั้ง เปิดเกมปฏิบัติทางการเมืองในเชิงรุกกำหนดแนวทางมาตรการเชิงนโยบายช่วงชิง ลิดรอน ตัดตอนอำนาจของฝ่ายอำมาตย์อย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายการปรับโครงสร้างและระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่นำเอาการบริหารแบบบริษัทธุรกิจมาใช้ในการบริหารระบบราชการ สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นเจ้าของระบบราชการ ดึงอำนาจทุกอย่างเข้ามารวมศูนย์สั่งการด้วยตนเอง อำมาตย์ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายแนวทางและการบริหารบุคลากรบางหน่วยงาน เช่น กองทัพ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการกระทำของทุนสามานย์

เมื่อควบคุมระบบราชการได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ทุนสามานย์ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น กลับขยายอำนาจออกไปรุกราน ท้าทายอำนาจทางสังคมของอำมาตย์อีกด้วย โดยการกระทำการเชิงสัญลักษณ์ประกอบพิธีกรรมบางประการในสถานที่ซึ่งไม่บังควร และใช้อำนาจฝ่ายอาณาจักรเข้าไปแทรกแซงการบริหารของฝ่ายศาสนจักร

ในด้านมวลชนซึ่งในช่วงแรกที่ทุนสามานย์เข้ามามีอำนาจ ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนเป็นจำนวนมากและมวลชนก็ยังไม่ได้แตกแยกเป็นฝักฝ่ายเฉกเช่นในปัจจุบัน มวลชนมีความหวังว่าทุนสามานย์จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่สร้างความมั่งคั่งแก่ทุกผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน สร้างประชาธิปไตยและกระจายอำนาจลงไปสู่ภาคประชาชนให้มากขึ้น แต่เมื่อได้อำนาจมาทุนสามานย์กลับกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม สร้างความมั่งคั่งแต่เฉพาะตนเอง ครอบครัว และพรรคพวกในแวดวงที่จำกัดเท่านั้น โดยอาศัยอำนาจรัฐเรียกรับผลประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีหลายหมื่นล้านบาท

ส่วนการสร้างประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจก็เป็นเพียงวาทกรรมและพิธีกรรมของการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะการปฏิบัติการทางการเมืองที่เป็นจริงของทุนสามานย์คือ การเหยียดหยามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ใส่ใจกับการเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรและไม่สนใจตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้าน อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าทุนสามานย์ไม่คิดและต้องการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง ไม่ประสงค์ที่จะยืดอกรับการตรวจสอบจากระบบปกติตามประเพณีของระบอบประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้นกลับกระทำการแทรกแซงสื่อมวลชนปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยการใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ตนเองควบคุมอยู่เป็นเครื่องมือ สั่งไม่ให้ลงโฆษณาในสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทุนสามานย์ หรือหากเป็นสื่อในหน่วยงานรัฐ ทุนสามานย์ก็จะเข้าไปควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิดมิให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และให้ทำได้แต่เฉพาะการเสนอข่าวที่ประจบสอพลอและสนับสนุนทุนสามานย์เท่านั้น

การทำลายล้างระบบประชาธิปไตยของทุนสามานย์ยังรุกคืบอย่างต่อเนื่อง เข้าไปกัดกินเลือดเนื้อและกระดูกของระบอบประชาธิปไตย ใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มสื่อมวลชนและบุคคลที่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของตนเอง เช่น นายโรจน์ งามแม้น เจ้าของคอลัมน์ “เปลวสีเงิน-คนปลายซอย” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ นายสุทธิชัย หยุ่น เจ้าของสื่อเครือเนชั่น นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า ทุนสามานย์สั่งการให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินเงินทองของบุคคลเหล่านั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนอย่างกว้างขวาง

ทุนสามานย์ยังทำร้ายล้างแก่นและกระดูกสันหลังของประชาธิปไตยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยทำลายระบบนิติรัฐและนิติธรรม สถาปนารัฐมาเฟียขึ้นมา กำหนดนโยบายในเชิงบังคับและชี้นำ รวมทั้งให้ท้ายเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการที่รุนแรงกับประชาชนผู้ถูกสงสัยว่าพัวพันกับยาเสพติดและผู้ถูกสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อทุนสามานย์ กระทำตนเป็นศาลเตี้ย ประหารชีวิตคนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือใช้ปฏิบัติการอุ้มแล้วทำให้หายตัวไป ดังเช่น กรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร และ ประชาชนอีกเกือบสามพันชีวิตที่ถูกฆ่าเพียงเพราะบางคนถูกสงสัยหรือบางคนถูกใส่ความกลั่นแกล้งว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติด

หากสำนึกแห่งสันติวิธีและค่านิยมแห่งความอดกลั้นความแตกต่างระหว่างผู้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดเป็นพลังชีวิตของระบอบประชาธิปไตย ในระยะเวลาที่ผ่านมาทุนสามานย์ปลูกฝังสำนึกและค่านิยมแก่คนในสังคมไทยในทางที่ตรงกันข้าม นั่นคือการปลูกฝังสำนึกแห่งความรุนแรง การเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ และการขจัดสิ่งที่แตกต่างจากตนเองออกไป สำนึกแห่งความรุนแรงถูกปลูกฝังโดย การใช้ภาษาเชิงอุปมาที่แฝงนัยแห่งความรุนแรงและการกำหนดมาตรการปฏิบัติที่สนับสนุนความรุนแรง เช่น การใช้คำว่า “สงคราม” ในนโยบายปราบปรามยาเสพติด นโยบายขจัดความยากจน ส่วนมาตรการของนโยบายที่มีนัยแห่งความรุนแรง เช่น “คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติดมีสองที่ให้ไปคือ วัด กับ คุก” การอยู่วัดในความหมายนี้คือ การไปประกอบพิธีงานศพนั่นเอง

ค่านิยมการเอาแต่ใจ เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุนสามานย์ อยากได้อะไรต้องให้ได้ตามที่ตนเองปรารถนาโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น และผลกระทบของการกระทำว่าจะสร้างความเสียหายแก่สังคมมากเท่าไร เช่น ในบางปี ประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันทำงาน เพียงเพื่อให้ครอบครัวตนเองได้ทำธุรกรรมเพื่อเสียภาษีน้อยลง ไม่สนใจว่าประชาชนคนอื่นๆในแผ่นดินจะคิดอย่างไร หรือ นโยบายอีลิตการ์ด ที่ขาดทุนอย่างย่อยยับ ทำให้ประเทศเสียงบประมาณจำนวนมาก หรือ การขายบริษัทโทรคมนาคมให้กับต่างชาติโดยไม่ใส่ใจว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติเพียงใด

ผลพวงจากการที่ทุนสามานย์บริหารประเทศผิดพลาด ทำลายประชาธิปไตย ละเมิดจารีตประเพณีของสังคม นำพาประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการรัฐสภา ประชาชนจึงออกมาขับไล่จนต้องพ้นจากอำนาจทางการเมืองระยะหนึ่ง และถูกพิพากษาลงโทษตามความผิดที่ก่อเอาไว้ บางคนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ บางคนถูกสั่งเว้นวรรคทางการเมือง

แต่ทุนสามานย์กลับไม่ยอมแพ้รวบรวมสรรพกำลังแย่งชิงอำนาจกลับคืนมาอีก ทุนสามานย์คิดว่าการที่ตนเองต้องพ้นจากอำนาจเป็นเพราะอิทธิพลของอำมาตย์ จึงเปิดฉากปฏิบัติการทางการเมืองตอบโต้กลุ่มอำมาตย์อย่างรุนแรง สร้างวาทกรรม สร้างความเชื่อโดยใช้ข้อมูลเท็จโจมตีอำมาตย์ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ขณะเดียวกันก็จัดตั้งมวลชนแดงขึ้นมาเป็นฐาน พร้อมกันนั้นก็ปลูกฝังความเชื่อแก่มวลชนแดงอย่างเข้มข้นว่าอำมาตย์เป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย ประดิษฐ์คำพูดและเอกสารตอกย้ำทางอุดมการณ์ให้มวลชนแดงเกลียดชัง คั่งแค้น อำมาตย์อย่างเกินจริง จนทำให้มวลชนแดงเชื่ออย่างฝังหัวว่าศรัตรูของประชาธิปไตยคืออำมาตย์ ทั้งที่ผู้ทำลายประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคนก็คือกลุ่มทุนสามานย์นั่นเอง

ทุนสามานย์สั่งการให้มวลชนแดงชุมนุม และใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการกดดันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดมีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมจำนวนมาก มีการเผาอาคารบ้านเรือนของเอกชน สถานที่ราชการ ศาลากลางหลายจังหวัด และสำนักงานสื่อมวลชน มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐจนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่หลายคน และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ผลพวงจากความรุนแรงที่ทุนสามานย์สร้างขึ้นมาทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยสั่นคลอนและแตกสลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

มวลชนแดงที่ทุนสามานย์สร้างขึ้นมาได้กลายเป็นกองกำลังทางการเมืองและเป็นฐานสำคัญให้พรรคการเมืองของทุนสามานย์ใช้ในการก้าวขึ้นมาสู่การควบคุมอำนาจรัฐรอบใหม่ เมื่อได้อำนาจรัฐมาทุนสามานย์พยายามใช้กลไกอำนาจปลดเปลื้องความผิดของตนเอง โดยสั่งการให้รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแดงดำเนินการผลักดันการนิรโทษกรรมแก่ตนเอง โดยเรียกการนิรโทษกรรมเสียใหม่ว่า “ปรองดอง” และสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งทุนสามานย์มีความรู้สึกว่า เป็นตราสังข์ที่ผูกมัดความเป็นปีศาจของตนเองไว้มิให้ออกมาอาละวาดได้อย่างเป็นอิสระ

จึงเกิดปฏิบัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบแผนเดียวกับการประกอบพิธีกรรมในลัทธิหมอผี อาศัยความเชื่อแบบไสยาศาสตร์ดั้งเดิม และการเปรียบเทียบหรืออุปมาที่วิปริต เช่น ผลไม้พิษย่อมเกิดจากต้นไม้พิษ มาใช้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเพราะผลจากการปฏิบัติการทางสังคมไม่ได้เป็นกลไกตายตัวอย่างผลตามธรรมชาติบางประการ ดังที่เกิดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เกือบทุกประเทศ ว่าประชาธิปไตยนั้นมักเกิดจากการปฏิบัติด้วยความรุนแรงทางการเมืองเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งก็เดินหน้าเข้าไปหาอำมาตย์ สั่งการให้รัฐบาลของตนเองเข้าไปขอขมาบุคคลที่ตนเองเคยวิพากษ์ วิจารณ์และโจมตีอย่างรุนแรง ราวกับว่าเป็นปรปักษ์ที่ไม่อาจอยู่ร่วมในโลกใบเดียวกันได้ การกระทำเช่นนี้ของทุนสามานย์เกิดจากความเชื่ออย่างฝังหัวว่า ตนเองหลุดพ้นจากอำนาจเพราะอิทธิพลของอำมาตย์ หรือผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ (ตามภาษาที่ทุนสามานย์ใช้เรียกบุคคลดังกล่าว) ดังนั้นหากเข้าไปขอขมาและแสดงออกให้บุคคลดังกล่าวเห็นว่าตนเองสำนึกผิด ที่ในอดีตละเลยความสำคัญ รวมทั้งท้าทายอำนาจของอำมาตย์ และต่อไปในอนาคตจะสั่งให้รัฐบาลหุ่นของตนเองตอบสนองความต้องการของอำมาตย์ทุกอย่างทุกประการ โดยหวังว่าอำมาตย์จะให้อภัยและยกโทษกับการกระทำที่เหิมเกริมของตนเองในอดีต และยอมให้ตนเองเข้าประเทศไทยได้

ปฏิบัติการปรองดองของทุนสามานย์ที่ให้รัฐบาลเข้าไปขอขมา ถูกมวลชนเสื้อแดงตีความว่าเป็นการแสดงความอ่อนน้อมและประจบสอพลอต่ออำมาตย์ เป็นการเหยียบย่ำความรู้สึกของมวลชน ลืมเลือนอุดมการณ์ประชาธิปไตย(แบบแพ้อฝันของมวลชนเสื้อแดง) อันเป็นการทรยศต่อประชาชนและมวลชนเสื้อแดงที่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อเพื่อให้ทุนสามานย์ก้าวขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง ความแตกร้าวระหว่างทุนสามานย์และมวลชนเสื้อแดงจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น อารมณ์ชอบชื่นชมและบูชาที่มวลชนเสื้อแดงมีต่อทุนสามานย์จึงเกิดความสั่นคลอน ความระแวงสงสัย ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกว่าตนเองถูกหักหลังเริ่มเกิดขึ้นและแพร่ระบาดออกไปสู่มวลชนเสื้อแดงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมวลชนเสื้อแดงที่เป็นชนชั้นกลาง แกนนำ และเป็นผู้มีความคิดเป็นของตนเองในระดับหนึ่ง ส่วนมวลชนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของทุนสามานย์ความรู้สึกอาจไม่รุนแรงเท่ากับมวลชนเสื้อแดงกลุ่มแรก เพราะต้องพึ่งพาผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆที่ทุนสามานย์โยนไปให้เป็นระยะๆ

ความถดถอยของความนิยมต่อทุนสามานย์ สะท้อนเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส.ส. และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมวลชนเสื้อแดงของทุนสามานย์อยู่อย่างแน่นหนา และความเสื่อมถอยนี้จะแพร่กระจายออกไปในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยมากขึ้นหลังจากวันขอขมา เพราะมวลชนเสื้อแดงจำนวนมากเริ่มเกิดความสำนึกและมองเห็นความจริงแล้วว่า ทุนสามานย์มิได้กระทำอย่างที่พูด แต่ทุกอย่างที่ทุนสามานย์ทำไปก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก

นับจากนี้ไปก็ถึงเวลานับถอยหลังสำหรับทุนสามานย์และระบบรัฐสภาสามานย์ เพราะเกาะแห่งความจริงค่อยๆผุดขึ้นมาจากทะเลแห่งมายาคติและความเชื่อมากขึ้นทุกวัน เราคงจะเห็นจุดจบของระบบทุนสามานย์ในอีกไม่ช้า แต่การเสื่อมถอยของระบบทุนสามานย์ในรอบใหม่นี้ มิใช่เป็นการเสื่อมถอยเพื่อเปิดพื้นที่ให้ระบบอำมาตย์เข้ามาแทนดังในอดีต เพราะระบบอำมาตย์ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากระบบทุนสามานย์นัก ได้รับความบอบช้ำจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของระบบทุนสามานย์และมวลชนเสื้อแดง จนยากที่จะมีความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจนำขึ้นมาอีก

สังคมไทยในช่วงระยะนี้จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีลักษณะเป็นอย่างไร หากระบบอำนาจเดิมแบบทุนสามานย์และแบบอำมาตย์ สิ้นอิทธิพลลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น