xs
xsm
sm
md
lg

ถอดแนวคิดการเมืองการปกครองไทยไหนชนชั้นชาวนา: บทเรียนจากศรีบูรพา “จนกว่าเราจะพบกันอีก”

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โกเมศบอกฉันว่า ประเทศของเขา มีชื่อว่าประเทศ “สยาม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ไทยแลนด์” และได้เปลี่ยนเป็น “สยาม” แล้วได้เปลี่ยนเป็น “ไทยแลนด์” อีก ขณะที่เขาเล่าว่าเขาเป็นพลเมืองของประเทศไทยแลนด์ เขาขอว่า อย่าให้ฉันซักถามเขาเลยว่า ชื่อทั้งสองนั้นมีความหมายกระไร และการเปลี่ยนชื่อของประเทศกลับไปกลับมาเช่นนั้น มีเหตุผลอะไรเป็นเครื่องสนับสนุนบ้าง...(ศรีบูรพา: ย่อหน้าที่ 1 หน้า 21)

เป็นครั้งที่ 3 ผู้เขียนมีโอกาสอ่านผลงานคลาสสิกของศรีบูรพา “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ในค่ำคืนที่นอนไม่หลับเพราะพิษของอาหารเย็นที่มากเกินไป ขณะอ่านได้นั่งเอนหลังบนหมอนอิงตั้งหน้าตั้งตาอ่านด้วยความรู้สึกสบายและผ่อนคลาย แต่เมื่ออ่านได้ระยะหนึ่งถึงเนื้อหาช่วงที่ 3 อย่างที่เกริ่นข้อความไว้ตอนต้น ทำให้เกิดอาการตาค้างคืออ่านแล้ววางไม่ลง เพราะมีความคิดหนึ่งแวบเข้ามาให้หวนคิดถึงระบอบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบไทยแลนด์ จึงเป็นที่มาของการสะท้อนความคิดร่ายถอดแนวคิดการเมืองการปกครองไทยไหนชนชั้นชาวนา: บทเรียนจากศรีบูรพา “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ซึ่งเป็นความคิดอ่านที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนนี้

ผลงานคลาสสิก “จนกว่าเราจะพบกันอีก” แม้จะผ่านกาลเวลามาหลายทศวรรษ แต่ยังคงมีกลิ่นอายของความร่วมสมัยนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่าการดำเนินเรื่องราวนั้น ได้ตัวละครหลัก คือโดโรที ชาวออสเตรเลีย และโกเมศ ชาวไทยแลนด์ มีฉากออสเตรเลียเป็นบรรยากาศในการถ่ายทอดข้อมูลประเทศของตนอย่างตรงไปตรงมา ชนิดได้รสชาติของเสวนาปัญญาชน แม้กระทั่งประเด็นเล็กๆ อย่างการแปลชื่อประเทศ “สยามว่า อิสรชน” (ศรีบูรพา: ย่อหน้าที่ 4 หน้า 21) ยังสะท้อนเป็นประเด็นให้ผู้อ่านได้ขบคิดถึงความเป็นอยู่ ความมีอยู่ของชนชั้นในสังคมไทยแลนด์ ที่ถูกผูกโยงติดตามกับระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยจนมาถึงยุคปัจจุบัน

ขอสวมบทบาท ผู้สรุปสารัตถะเรื่องราวการสนทนาระหว่าง โดโรที กับโกเมศ เพื่อเชื่อมโยงกับสภาพการเมืองการปกครองของไทย ตามประสาคนชอบย่อความว่า โกเมศ บอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาวไทยแลนด์ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อย่างในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จนมีคำพูดว่า “น้ำถึงไหนปลาถึงนั่น” และความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีของพลเมืองประเทศนี้ รวมทั้งความรื่นรมย์ของแสงจันทร์วันเพ็ญตลอดปีที่ชาวชนบท เยี่ยงชาวนาต่างได้เปิดบ้านเพื่อชื่นชมความงดงาม โกเมศเล่าแง่ความสวยงามของไทยแลนด์จบ ช่วงท้ายจึงได้เอ่ยถามโดโรที ว่า เธออยากเป็นพลเมืองของไทยแลนด์หรือไม่ ยังไม่ทันขาดคำ โดโรทีพยักหน้ายิ้มด้วยความสุขเหมือนตอบรับว่าอยากเป็นพลเมืองชาวสยาม

โกเมศบรรยายต่อไปว่า นอกจากความอุดมสมบูรณ์อันน่าริษยาที่ธรรมชาติมอบให้ไทยแลนด์แล้ว คนไทยแลนด์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวนาซึ่งมีน้ำใจอย่างยิ่ง เห็นได้จากการบริจาคทาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีต่อแขกและคนต่างถิ่นอย่างไม่มีขีดจำกัด การบริจาคทาน คือการให้หลั่งไหลมาจากน้ำใจของชาวนา ซึ่งเป็นคนยากจนมากกว่าคนมั่งมี ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นความประหลาดอย่างมาก และนี่ทำให้โดโรที เอ่ยขึ้นมาด้วยความลืมตัวว่า “ฉันอยากเป็นชาวนาของประเทศล้าหลังของอิสรชน”

ยังไม่ทันขาดคำโกเมศ ได้เตือนโดโรที ให้ระลึกว่า ความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในประเทศของเขา เป็นความสมบูรณ์ที่ธรรมชาติสร้างให้ มิใช่เกิดจากปัญญาหรือความพากเพียรของมนุษย์ ความสุขของชาวนานั้น เกิดจากความรู้สึกภายในจิตใจของตน เป็นความประพฤติที่น่ายกย่องและสงบเสงี่ยม แต่พวกเขากลับถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยวภายใต้ยถากรรม จนกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดใจ เพราะเหตุที่ว่า ร้อยละ 80 ของพลเมือง คือชาวนา ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ไทยแลนด์ถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และก็อีกนั่นแหละ

พวกเขาถูกปล่อยให้อยู่กับความเลวทรามที่สุด เป็นชนชั้นที่อาภัพที่สุดของประเทศ ซึ่งมีแม่น้ำ สายฝน ความอุดมของแผ่นดินและธรรมะของเจ้าชายสิทธัตถะหล่อเลี้ยงพวกเขาไว้ โดยไม่มีผู้ใดเป็นที่พึ่งของพวกเขาเลย ชีวิตของชาวนามีโอกาสเดินบนคันนามากกว่าบนถนนจนค่อนชีวิต โอกาสที่จะใช้ยวดยานพาหนะ พักผ่อนหย่อนใจ และกินอยู่อย่างสุนทรีย์ กลับมีพื้นที่น้อยนิด ยังไม่ทันจบการสนทนา โดโรทีกลับตั้งปัญหาถามโกเมศว่า แล้วเมล็ดข้าวที่เก็บไปจากทุ่งนาของชาวนาผู้น่าสงสารเหล่านั้น ส่งออกไปขายต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาให้แก่ประเทศตั้งครึ่งค่อนนั้น ประเทศของโกเมศนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง โกเมศตอบว่า ประเทศไทยแลนด์ก็เหมือนประเทศอื่น รัฐบาลนำเงินไปใช้สอน ในการทหาร ตำรวจ การปกครอง การศึกษา การพาณิชย์ และกิจการอื่น ซึ่งรายได้ของบุคคลและอัตราค่าจ้างกำหนดไว้สำหรับการงานเหล่านั้นมีมานานแล้ว

จนถึงปัจจุบันนี้ ในประเทศของโกเมศ ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีได้รับเงินเดือนเท่ากับรายได้ของชาวนาประมาณ 400 ถึง 500 คนรวมกัน ส่วนพวกพ่อค้าและตำแหน่งราชการชั้นรองๆ ลงมา ก็มีรายได้แตกต่างกันไกลกับพวกคนงานและชาวนาไทย ยังไม่ทันสิ้นคำพูดของโกเมศ โดโรทีร้องคัดค้านว่า “มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เป็นไปไม่ได้” โกเมศ บอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้ในประเทศของเธอ แต่เป็นไปได้อย่างสบายในประเทศไทยแลนด์ของฉัน”

โกเมศ กล่าวเตือนสติของโดโรทีต่อไปว่า ฉันได้เตือนเธอแล้วใช่หรือไม่ว่า “ถ้าเธอไปเป็นชาวนาในสยาม เธออาจกลายเป็นนักปฏิวัติ” และสาธยายต่อไปว่า ผลงานของชาวนาที่อาบเหงื่อไคลทำงานกรำแดดกลางทุ่งทุกวัน ได้ถูกแบ่งปันกันไปตามสัดส่วนดังนี้ เอาไปตั้งเป็นเงินเดือนให้บุคคลพวกหนึ่ง ซึ่งมีรายได้สูงกว่าพวกเขาตั้ง 100-200-300 เท่า และคนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งทำค้าขายกับชาวนา คือนายทุนพ่อค้าเครื่องจักรกล ที่นำเครื่องจักรมาสร้างหนี้สินให้กับคนที่น่าสงสารอย่างชาวนา ก่อนจะอำลาประเด็นนี้ โกเมศถามโดโรทีอีกครั้งว่า เธออยากเป็นชาวนาไทยของประเทศอิสรชนหรือไม่...เธอโดโรทีส่ายหน้า สั่นศีรษะ พูดอะไรไม่ออกจริงๆ

ผู้เขียนได้เรียบเรียงเรื่องราวแบบกระชับมาก แต่จุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทย ซึ่งหากจะถอดบทเรียนวิถีชีวิตชาวนา ที่ยังมองเห็นและเป็นอยู่ รวมทั้งจะคงเป็นอยู่ต่อไปในวิถีชีวิตชาวนาไทย ผู้น่าสงสาร ตราบกระทั่งจนถึงยุคปัจจุบันนี้ ชาวนายังคงเป็นผู้น่าสงสาร ไม่ต่างจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลชีวิตและครอบครัวชาวนาไทย ตามนโยบายรัฐที่สร้างกระแสประชานิยม เพื่อชนชั้นรากหญ้า เช่น นโยบายการรับจำนำข้าว เป็นต้น จะเป็นสิ่งที่บอกว่าเป็นคำตอบสำหรับการดูแลชาวนา ผู้สร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงประเทศนี้ก็หาไม่ทีเดียว ปัญหาหนี้สินและการสร้างนิสัยความฟุ่มเฟือยให้กับชาวนาเพื่อเปลี่ยนท่าทีการพึ่งพาตนมาเป็นการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ จึงน่าจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อวิธีคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนาที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

มาตรการที่ดีควรมีต่อชาวนาอย่างชัดเจน หากแม้รัฐจะดูแลและยกย่องชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญที่ควรคิดทำ คืออย่าทำนาบนหลังชาวนา และอย่าปล่อยให้คนทำนา ต้องกินปลายข้าว รวมทั้งพลเมืองของประเทศนี้ ต้องได้รับการบริโภคข้าวชั้นดี ที่มีคุณภาพอย่างผลผลิตที่ส่งออก ส่วนมาตรการทางการค้า ควรจัดสรรส่วนต่างจากการค้าข้าว ให้ชาวนาผู้น่าสงสารเพื่อความมีชีวิตที่ดี อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนต่างไปตกอยู่ที่พ่อค้าหรือนายทุน ซึ่งเป็นระบบนายทุนที่ทารุณชาวนาอย่างโหดร้าย

บทเรียนที่ได้รับจากการเสพวรรณกรรมอย่าง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” แม้จะสะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวนาเหมือนหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นเนื้อหาแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง ผู้เขียนยังอ่านจนกว่าเราจะพบกันอีกไม่จบรอบที่ 3 แต่วรรณกรรมกลับสะท้อนใจให้คิดอ่านว่าบางทีการอ่านวรรณกรรม ก็คือการอ่านชีวิตแห่งยุคสมัย มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วิถีสังคมและวิถีชีวิตของชนชาติ และจนกว่าเราจะพบกันอีกครั้ง

ผู้เขียนรู้สึกห่วงใยกับความขัดแย้งเกี่ยวกับความปรองดองของการถกเถียงกันเพื่อสร้างสันติสุขในประเทศนี้ หากปราศจากความเชื่อและการไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ว่า ความปรองดอง มิได้เกิดจากการพูดหรือตัวหนังสือที่นำพาถกเถียงกัน จนเลยเถิดกำหนดเป็นตัวบทกฎหมายบังคับใช้ให้คนรักใคร่ปรองดองกัน รวมทั้งหว่านเม็ดเงินเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงวัตถุแล้วบอกว่าเป็นการเยียวยาทางจิตใจ นั่นคงมิใช่ยารักษาโรคทางความรู้สึกความปรองดองเสียทีเดียว

แต่ทว่าความปรองดองเป็นความรู้สึกด้วยหัวใจอย่างจริงใจว่าบุคคลที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มสังคมไม่แตกสามัคคี ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะเห็นโทษอย่างมหันต์ของการแตกความสามัคคีที่มีบทเรียนมากหลาย และคำตอบสุดท้ายของความปรองดองจะเกิดขึ้นแจ่มชัดก็ต่อเมื่อทุกคนทุกฝ่ายหยุดพูดคำว่าปรองดอง หันหน้ามารับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างสุจริตเพื่อตนและส่วนรวม เพราะผู้ที่พูดคำว่าปรองดอง คือผู้ที่กำลังสร้างความแตกแยก ร้าวลึกลงในความเชื่อและค่านิยมของประชาชนในชาติอย่างไม่รู้ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น