xs
xsm
sm
md
lg

โปรดอย่ามองข้าม! บ้านหลังที่ 2 ที่พึ่งสุดท้ายของหนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...วรรณภา บูชา

ปัญหาเด็กเร่ร่อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทั่วประเทศคาดการณ์ว่า มีเด็กเร่ร่อนราว 30,000 คน และในอีกไม่ช้าอาจจะมีเด็กเร่ร่อนกว่า 600 คน ที่จะกลายเป็นเด็กเร่ร่อนโดยสิ้นเชิง ไร้ที่พักพิง เนื่องจากบ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก สถานสงเคราะห์ จำนวน 6 แห่ง กำลังจะล้มหายยุติการดำเนินการไป เพราะขาดแคลนงบประมาณในการนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
น.ส.ทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋ว
ข้อมูลน่าตกใจนี้มาผลวิจัยเรื่อง “การถอดบทเรียนบ้านแรกรับและบ้านพัฒนา สำหรับเด็กเร่ร่อน” ของ น.ส.ทองพูล บัวศรี หรือ ครูจิ๋ว จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์เชิงลึก บอกเล่าผ่านเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกระบบดูแล : สู่การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ยั่งยืน”

ครูจิ๋ว เล่าว่า จากการเก็บข้อมูลจากบ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก และสถานสงเคราะห์จำนวน 22 แห่ง ใน 12 จังหวัด พบว่า ทุกแห่งล้วนประสบปัญหาเดียวกัน ขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้ โดยเฉพาะบ้านแรกรับ และบ้านพัฒนาเด็กที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งรายได้หลักมาจากการรับบริจาคที่ไม่แน่นอนและไม่ยั่งยืน โดย 90%มาจากต่างประเทศที่เหลือมาจากการรับบริจาคภายในประเทศ โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งในต่างประเทศและในประเทศทำให้เงินบริจาคลดเหลือไม่ถึง 50% กระทบต่อการดูแลช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในภาพรวม ยกตัวอย่างมูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก ซึ่งมีเด็ก 133 คน มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 120,000 บาทต่อเดือน แต่มีรายรับเพียง 40,000 บาท ทำให้มูลนิธิบางแห่ง ต้องติดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ไว้นาน 4 เดือน เพราะไม่มีเงินจ้าง แต่ก็ยังทำงานอยู่ด้วยใจจริงๆ

ครูจิ๋ว เล่าอีกว่า แม้แต่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินมาก่อนก็เจอปัญหาเดียวกัน อย่างค่าใช้จ่ายต่อเดือน 9 แสนบาท ก็ได้บริจาคแค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น พ่อแม่อุปถัมภ์หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ผู้ใจบุญที่รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์บางรายก็ขอลดเงินช่วยเหลือลง เพราะทุกคนจะสามารถเหลือผู้อื่นได้ในภาวะที่ไม่เดือดร้อน

“บ้านของเด็กเร่ร่อนหลายแห่งพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างสุดกำลัง อย่างบ้านลูกรักมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก จ.ขอนแก่น ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ประหยัด ลดค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ สอนให้เด็กหัดทำเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงปลา แม้จะช่วยประหยัดค่าอาหาร แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเด็กจะต้องไปโรงเรียนในระบบแต่ไม่ได้รับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ทำให้สถานดูแลเด็กเหล่านี้ต้องแบกรับภาระ นอกจากนี้ ผู้ดูแลก็ต้องเจียดเงินส่วนตัวมาให้กับเด็กๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำแบบนี้ได้นานเท่าไหร่ ยิ่งหากเป็นมูลนิธิที่อยู่ในต่างจังหวัด เงินบริจาคที่ได้รับจะยิ่งน้อยลงตามไปด้วย”ครูจิ๋ว เล่า

ครูจิ๋ว ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีบ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก และสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศกว่า 40 แห่ง เป็นของรัฐ 17 แห่ง ที่เหลืออีก 23 แห่ง เป็นขององค์กรพัฒนาเอกชน ขณะนี้มี 6 แห่งที่สถานการณ์ทางการเงินวิกฤต และมีแนวโน้มต้องยุติการดำเนินงาน หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบอย่างเพียงพอ ทั้งมูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก ดูแลเด็ก 140 คน มูลนิธิช่วยเหลือเด็กขอนแก่น 50 คน บ้านนานา มูลนิธิพันธกิจเพื่อเด็กและชุมชน 120 คน มูลนิธิบ้านนกขมิ้น 220 คน บ้านครูจา พัทยา 35 คน และสถานบ้านรับเลี้ยงเด็กบ้านครูมุ้ย สมุทรปราการ 20-30 คน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กกว่า 600 คนไร้ที่พักพิง

ทางออกของปัญหานี้ ครูจิ๋ว มองว่า กองทุนคุ้มครองเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีเงินกว่า 100 ล้านบาท สามารถสนับสนุนงบฯดำเนินการแบบถาวร โดยค่าใช้จ่ายรายหัวขั้นต่ำที่เหมาะ สมอยู่ที่ 73-83 บาท/คน/วัน หรือ 27,000-37,000 บาท/คน/ปี ซึ่งจะใช้งบ ประมาณ 20-40 ล้านบาท/ปี โดยงบประมาณก้อนนี้ จะนำมาเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร 3 มื้อต่อวัน ค่าขนม ค่ารถ ค่าเสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายกิจกรรมเสริมทักษะในวันหยุดปิดเทอม

นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญคือ องค์กรพัฒนาเอกชน อาจต้องรู้จักปรับตัว เพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยการเขียนโครงการ และพัฒนาองค์กรหรือมูลนิธิให้ได้มาตรฐานในการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพด้วย

ด้านรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญ รัฐจะไม่สนใจองค์กรพัฒนาเอกชน ที่อาสามาทำงานเพื่อสังคมไม่ได้ ดังนั้น นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐจะต้องคิดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ให้เด็กเร่ร่อนคนรากหญ้าเข้าถึงการศึกษา พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในดีขึ้นโดยการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ไม่ใช่ผลักภาระให้เอกชน ขณะเดียวกัน การศึกษาในระบบต้องมีหลายมิติเพื่อรองรับคนที่มีความแตกต่างกัน ไม่ใช่ใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด อย่างที่ในปัจจุบันขณะที่เราพยายามนำเด็กเข้าระบบ แต่ระบบกลับพยายามผลักเด็กออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น