สพฉ.จัดเสวนาถอดบทเรียนน้ำท่วม หวังรับภัยพิบัติ 55 ด้วยความพร้อม “ดร.สมิทธ” ชี้ ปีหน้าเกิดน้ำท่วมแน่ ย้ำ ต้องมีสติ สร้างองค์ความรู้สู่ประชาชน แนะรัฐบาลควรบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เลขา สพฉ.เผย อบรมพยาบาล เตรียมรับมือแล้ว
ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา “ถอดบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัย สานพลังเครือข่าย รับภัยพิบัติ 2555” โดยมี นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ภัยพิบัติธรรมชาติและสถานการณ์ภัยพิบัติของโลกในอนาคต”
ดร.สมิทธ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการรับมือภัยพิบัติ คือ การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เบื้องต้นไว้ก่อนเพื่อความไม่ประมาท และต้องตระหนัก ตั้งสติให้มั่น เพราะมนุษย์โลกคงไม่สามารถบังคับภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติได้ แต่ทางที่ดี คือ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างปลอดภัย เพราะเราจะต้องประสบภัยน้ำท่วมอย่างแน่นอนในฤดูฝนข้างหน้า หรือประสบกับภาวะภัยพิบัตคล้ายๆ กับปีที่ผ่านมา หรือน้อยกว่าเล็กน้อยอย่างแน่นอน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่เห็นแผนการเตรียมการว่ารัฐบาลมีการระบายน้ำอย่างไร แต่มีแผนเรื่องการใช้งบประมาณแล้ว และระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90 ของความจุเชื่อน ซึ่งไม่ทราบว่าทำไมถึงต้องกักเก็บน้ำไว้ตั้งแต่ต้นฤดู ส่วนการปล่อยน้ำในปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีการบูรณาการ เพราะระดับน้ำในเขื่อน 3 เขื่อนหลักๆ เกินวันละร้อยล้านลูกบาศก์เมตร แต่ระบายออกได้ไม่ถึงร้อยล้าน จึงไม่แปลกที่น้ำจะท่วม ซึ่งนี่คือความผิดพลาดของการบริหารน้ำ และปีหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ถ้ายังไม่มีแผน และไม่มีระบบเตือนภัย
“การบูรณาการระหว่างหน่วยงานในเมืองไทยใช้ไม่ได้ เราไม่เคยใช้ข้อมูลในการบริหารน้ำล่วงหน้า ไม่มีข้อมูล การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา แม้จะประกาศให้ทราบ แต่หน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำไม่เคยนำข้อมูลมาใช้เรื่องการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน และไม่เข้าใจว่าเหตุใดหน่วยงานที่บริหารน้ำในประเทศไทยมีมากกว่า 20 หน่วยงาน ถือได้ว่ามากที่สุดในโลก แต่กลับอยู่คนละกระทรวง ทบวง กรม อาทิ อยู่ใต้อำนาจของผู้บริหารแต่ละคนซึ่งเป็นนักการเมือง” ดร.สมิทธ กล่าว
ขณะเดียวกัน เห็นว่า ประชาชนก็ไม่มีความรู้ในการรับมือ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นประการแรก หน่วยงานภาครัฐควรทั้งให้ความรู้กับประชาชนในการรับมือที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นท้ายที่สุดกลุ่มที่ต้องรับภาระหนักคงหนีไม่พ้นแพทย์และพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมา อุปกรณ์ก็มีไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรหารือกับสำนักงบประมาณเพื่ออุปกรณ์ในการทำงานช่วงน้ำท่วมด้วย
ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเสริมว่า เห็นได้ชัดว่า เราจะต้องเตรียมแผนในการรับมือและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่รอดและปลอดภัย ซึ่งจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาในวงการแพทย์และวงการสาธารณสุขไทยถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และไม่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดี ต้องมีแผนเสมอว่าหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะทำอย่างไร ซึ่งเบื้องต้น สพฉ.ซึ่งเสมือนเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิต่างๆ ก็ได้เตรียมรับมือแล้ว โดยเบื้องต้นได้ประสานความร่วมมือ และจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมรถพยาบาลยกสูง และเตรียมจัดฝึกอบรมทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติแห่งชาติ (DMERT) จากเดิมที่มี 8 ทีม เพิ่มอีก 10 ทีม เพื่อให้กระจายให้ครบทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อความทันการณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ป่วยฉุกเฉิน