โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังภาคใต้ (DSJ)
มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ระเบียบวาระที่ 2.4 วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางได้พิจารณารายงานเรื่องการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง
รับทราบ ว่าสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นในประเทศไทย ทั้งชนิดที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันโดยก่อความเสียหายรุนแรง กับชนิดที่คาดการณ์ได้แต่ก่อความเสียหายอย่างกว้างขวาง รวม 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม พายุหมุนเขตร้อน แผ่นดินไหว สึนามิ มหาอุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่า-หมอกควัน ซึ่งจะสร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ตระหนัก ว่าการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติเป็นงานที่เกินความสามารถ ที่หน่วยงานรัฐจะบริหารจัดการเพียงลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประกอบกับการดำเนินงานด้านแผนเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ยังมีข้อจำกัด ขาดมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบแจ้งเตือนภัย การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ การฝึกซ้อมของหน่วยงานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา การกำหนดการบัญชาการเหตุการณ์ที่มีเอกภาพ และความเข้าใจของบุคลากรในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ในภาวะปกติจนถึงขั้นสถานการณ์วิกฤต ทำให้การบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพห่วงใย ว่า สังคมและชุมชนท้องถิ่น ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เข้าไม่ถึงความซับซ้อนของปัญหา และความหลากหลายของภัยพิบัติธรรมชาติ จนไม่อาจนำมาสู่การกำหนดมาตรการป้องกันและรับมือภัยพิบัติ อันเป็นสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
กังวล ว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง และยังขาดแนวนโยบายเฉพาะสำหรับรองรับภัยพิบัติแต่ละประเภท ตลอดจนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสาธารณภัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในที่ดินและการควบคุมอาคาร ที่ยังไม่สามารถบังคับใช้อย่างได้ผล และยังให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนน้อยเกินไป ขาดการถอดบทเรียนการทำงานในขณะเกิดภัยพิบัติแต่ละครั้งอย่างเพียงพอ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ดีขึ้นกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
จึงมีมติดังต่อไปนี้
1.ให้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานเลขานุการ เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ศูนย์เทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการดังนี้
จัดให้มีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง และให้นำข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ตามภาคผนวกท้ายเอกสารหลักสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 4 ไปพิจารณาร่วมด้วย
จัดตั้งกลไกและระบบสนับสนุนงบประมาณแบบพิเศษ และ/หรือเงินกองทุนในทุกระดับ เพื่อการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับ โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง
2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทในพื้นที่เสี่ยง โดยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นเพื่อรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมถึงความครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งอำเภอ และจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ หรือกองทุนอื่นๆ เพื่ออุดหนุนการทำงานของเครือข่าย โดยมีเค้าโครงของสาระสำคัญ ดังนี้
การพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ โดยจะต้องมีการซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ
การป้องกันและลดผลกระทบ
การจัดการในภาวะฉุกเฉินและการแพทย์สาธารณสุข
การฟื้นฟู การจัดสร้างที่พักชั่วคราว การดูแลด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
การสนับสนุนเครือข่ายจัดการภัยพิบัติของชุมชนท้องถิ่นและสังคม
3.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนระดับชาติเพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการบริหารจัดการภัยพิบัติ การบริหารระบบโลจิสติกส์ การจัดการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ส่งเสริมการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมระดับชุมชน การขับเคลื่อนแผนและปฏิบัติตามแผนในระดับชุมชน และส่งเสริมการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านอื่นๆ โดยเฉพาะระดับชุมชนท้องถิ่น โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุน ทั้งนี้ มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเลขานุการ รับผิดชอบการดำเนินงานให้มีคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน และสนับสนุนงบประมาณตรงลงไปยังชุมชนท้องถิ่น
4.ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณพิเศษแก่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อบริหารจัดการให้มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น หรือทั้ง 3 ภาคส่วน ร่วมกันดำเนินการวิจัยและสร้างองค์ความรู้เรื่องภัยพิบัติ รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาชนที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการในทุกระดับ รวมทั้งพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งในและนอกระบบ
5.ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีระบบโทรศัพท์กลางและคลื่นวิทยุสื่อสาร เพื่อการจัดการภัยพิบัติเป็นการเฉพาะในภาวะภัยพิบัติธรรมชาติ และส่งเสริมให้มีการนำระบบไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้มีรายการที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียง โดยมีหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรสาธารณะที่เกี่ยวข้อง และมีศักยภาพเหมาะสมเป็นผู้ดำเนินการ
6.ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครภาคพลเมืองที่หลากหลายเพื่อรับมือภัยพิบัติ กู้ชีพ กู้ภัย และฟื้นฟูภัยพิบัติในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ และมีการเผยแพร่องค์ความรู้ที่จำเป็นกับประชาชนและชุมชน ในการพึ่งตนเองในภาวะภัยพิบัติ
7.ให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดขับเคลื่อนงานการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ ในพื้นที่ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม
8.ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6