xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ปี 55 สงบหรือไม่? ‘ดร.ศรีสมภพ’ วิเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) นักวิจัยผู้เก็บข้อมูลสถิติสถานการณ์ไม่สงบมาตลอด 7 ปี วิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงในปี 2555 ไฟใต้สงบหรือไม่ อะไรคือปัจจัย ดังนี้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
ไฟใต้ปี’55 สงบหรือไม่

มี 2 แนวโน้ม หากดูจากเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2554 ตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ แนวโน้มที่ 1 สถานการณ์ความรุนแรงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2554 เป็นผลมาจากการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการปกครองพิเศษตามที่รัฐบาลเคยเสนอในช่วงหาเสียงหยุดชะงักลง เรื่องการเจรจากับขบวนการก่อความไม่สงบที่เคยดำเนินการในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็หยุดชะงักลง และการขาดความชัดเจนในเรื่องทิศทางของนโยบายและความต่อเนื่อง

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทั้ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือการใช้กฎหมายที่เป็นทางเลือกใหม่ อย่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ให้อบรมผู้ต้องหาแทนการจำขัง ตามมาตรา 21 ก็ยังไม่มีความไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนทางนโยบายและสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีต่อประชาชนในพื้นที่และสัญลักษณ์ต่อขบวนการ

แนวโน้มความรุนแรงในปี 2555 อาจจะสูงขึ้น เพราะเป็นการตอบโต้และแสดงสัญลักษณ์กดดันรัฐบาล สร้างกระแสว่า สถานการณ์ยังไม่ยุติและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

แนวโน้มที่ 2 หากมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.) ประสานการทำงานเป็นระบบมากขึ้น จัดการทัศนะและท่าทีว่าด้วยเรื่องเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ให้ชัดเจน จัดการเจรจากับกลุ่มต่างๆ หรือจัดการพูดคุยกับคนในพื้นที่ เช่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น

หากรัฐบาลดำเนินการอย่างนี้ แนวโน้มสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่จะลดลง แม้อาจลดลงไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยประคับประคองสถานการณ์เอาไว้ได้

ผมเข้าใจว่า ผู้บริหารชุดใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามพูดคุยและเจรจากับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ร่วมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม

การผสมผสานทางนโยบายหรือการพูดคุยเชื่อมต่อระว่างภาคประชาสังคมกับฝ่ายรัฐและฝ่ายความมั่นคง จะเป็นดึงกระชับเหตุการณ์และเป็นเงือนไขให้เหตุการณ์ลดลง ส่วนเหตุการณ์ที่มีอยู่ อาจไม่ออกมาในรูปแบบที่รุนแรงมากหรือก่อเหตุพร้อมกับหลายสิบจุด เพราะมีนัยยะทางการเมืองหรือทางนโยบายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ปีที่ผ่านมามองเห็นการต่อสู้ทั้งของฝ่ายรัฐ และฝ่ายขบวนการอย่างไร

ในส่วนของรัฐ ในรอบปีที่ผ่านมาทำได้ 2 อย่าง คือ 1. การรักษาความไม่สงบในพื้นที่หรือ การควบคุมพื้นที่ทำได้ในระดับหนึ่ง ในแง่การใช้กำลัง การใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก ในระยะหลังทำได้ดีขึ้นในแง่การระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของประชาชน หรือไม่ให้เกิดความผิดพลาด ส่วนตำรวจ พยายามทำงานทางการเมืองหรือทำงานมวลชลมากขึ้น

แนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี แต่การแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะทางยุทธศาสตร์และการจัดการความขัดแย้ง จะต้องมีการพัฒนากันต่อไปว่าจะเอาอะไรเป็นประเด็นหลัก กลุ่มไหนจะเป็นกลุ่มประสานงานหรือกลุ่มใดจะเป็นกลุ่มเจรจาของฝ่ายรัฐ

ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ การประสานงานกับผู้ศาสนา ผู้นำท้องถิ่นหรือภาคประชาชนสังคมในพื้นที่ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐต้องให้ความสำคัญในการสร้างหรือขยายพื้นที่กลางทางการเมือง หรือพื้นที่กลางการเจรจาต่อรอง หากสามารถสร้างพื้นที่กลางได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและทางนโยบายได้

ในส่วนของขบวนการนั้น กำลังมีการปรับตัวอยู่หลายอย่าง เพราะการใช้ความรุนแรงสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเป็นตัวชี้ขาดการเปลี่ยนแปลงทางเมืองหรือการแก้ไขปัญหาได้ เพราะมีผลด้านลบต่อประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ หากปัญหาเยื้อยื้อยาวนาน ก็จะบั่นทอนหรือทำให้สังคมมันอ่อนแอลง สะท้อนได้จากปัญหายาเสพติดในพื้นที่ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรง

ปัญหายาเสพติดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงโดยตรงกับขบวนการก่อความไม่สงบ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สงบที่ยื้อเยื้อ จึงทำให้เกิดสังคมอ่อนแอลง หากฝ่ายขบวนการต้องการสร้างสังคมทีดีหรือสังคมที่มีความสุข ก็ต้องคิดเรื่องนี้ด้วย เพราะหากปล่อยให้ประชาชนแย่มากๆ ก็จะส่งให้ผลกระทบทางการเมืองของตนเองด้วย

การแก้ปัญหา คือ ต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาหรือมีข้อเสนอที่เป็นนโยบายชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ขาดไม่ได้การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง 2 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขบวนการ จะต้องมองเห็นความจำเป็นในการใช้พื้นที่กลางในการแก้ปัญหาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสันติ

ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร กว่าจะเกิดสันติภาพในชายแดนใต้

สถานการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว 8 ปี อาจจะมีความหวังมากขึ้น หากเดินมาถูกทาง แต่หากเดินผิดทาง อาจจะต้องใช้เวลานานไปอีก

อะไรคือทางออกของปัญหาชายแดนใต้

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรงและโดยอ้อม ต้องเรียนรู้และปรับตัว คือถอดบทเรียนของตัวว่า การต่อสู่ด้วยความรุนแรงนั้น ไม่ว่าฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายทหาร ไม่สารมารถที่จะแก้ปัญหาได้

หากเกิดสภาวะที่เยื้อยื้อเรื้อรังต่อไป ทุกๆฝ่ายก็จะได้รับเสียหาย ร่วมทั้งประชาชน ฉะนั้นต้องหาทางปรับตัว เรียนรู้ และก้าวไปข้างหน้า ต้องหาวิธีการทางสันติภาพ และกระบวนการทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหา แล้วหันมาสู่กระบวนการเจรจาระหว่างกัน

ข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างข้อเรียกร้องสูงสุดของขบวนการ คือแบ่งแยกดินแดน ผมว่าอาจยากที่จะยอมรับได้ น่าจะลองทบทวนดู อาจจะต้องมีการปรับ จะเป็นไปได้หรือไม่หากใช้วิธีการอื่น หรือลดเป้าหมายลง เพื่อให้เกิดการเจรจากันจริงๆ

ส่วนฝ่ายรัฐเองก็ต้องเรียนรู้ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยการปฏิรูปทางเมืองเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้

ฉะนั้น การปรับโครงสร้างโดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจมีความสำคัญและต้องยอมให้มีการปรับ เพราะมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรเท่าไร เพราะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือกรอบกฎหมาย

ทุกฝ่ายต้องลดเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องตนเองลงมา ผมคิดว่าจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ ปรับคนละก้าว เดี๋ยวก็สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะคนยอมรับแนวทางสันติภาพมากขึ้นอยู่แล้ว

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น