xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วเวที ‘สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้’ จี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป จัดเวที “สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้” มุ่งเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดภายใต้หัวข้อ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” พร้อมออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สภาประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป จัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” มีประชาชนจากองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่งประมาณ 1,000 คน

สำหรับกำหนดการประชุมสมัชชาฯ วันที่ 4 ม.ค. ซึ่งเป็นการประชุมวันแรก เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยา ผลกระทบจากการใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหาราชการฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ส่วนการประชุมสมัชชาฯ วันที่ 5 ม.ค. เป็นการประชุมพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งจะมีการนำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ฝ่ายต่างๆ เสนออยู่ในขณะนี้ 6 รูปแบบ

ช่วงเช้าวันเดียวกัน สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2555 ลงนามโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการเป็นรายอำเภอ ภายใต้เงื่อนไขความเห็นชอบร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายชุมชน ฝ่ายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ อย่างน้อย 2 ใน 3

การดำเนินการเพื่อพิจารณายกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.2555 เป็นต้นไป พื้นที่ใดประกาศยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ให้กลไกของรัฐทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ในพื้นที่นั้นโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2555 ลงวันที่ 1 ม.ค.2555 ลงนามโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา ดำเนินการให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในหลักเกณฑ์ของรัฐอย่างรวดเร็วทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและประโยชน์สูงสุดของผู้ได้รับผลกระทบนั้น

ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยาจากรัฐ เนื่องจากไม่ได้รับรองจาก 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ให้ดำเนินการ ดังนี้

ภายใน 6 เดือน หากไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุการเกิดคดีที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้ถือว่ากรณีดังกล่าวเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ และให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิ์การเยียวยาทันที ให้ตั้งผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เป็นคณะกรรมการร่วมติดตามสอบหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีข้อสงสัยและเป็นคดีสำคัญ สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษในคดีความมั่นคง

ผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยใช้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ไม่นำข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางอาญา ให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวด้วย บุคคลที่รออัยการสั่งฟ้องให้มีสิทธิ์ร้องขอให้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีที่สั่งไม่ฟ้องให้ได้รับค่าชดเชยการถูกคุมขัง 84 วัน ส่วนกรณีที่ถูกดำเนินคดีหลายคดี และมีคำสั่งไม่ฟ้องในคราวเดียวกันให้คิดค่าเสียหายชดเชยเป็นคดีๆ ไป บุคคลที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินในชั้นศาล ควรเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ควรลดมูลค่าหลักทรัพย์ในการประกันตัวให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ และไม่ควรสร้างเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นพิเศษนอกเหนือจากกรอบกฎหมายอาญาทั่วไป บุคคลที่มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด ต้องได้รับการชดเชยค่าเสียหายตามกฎหมาย และควรมีการทบทวนอัตราค่าชดเชยให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้ความรุนแรง และให้ประโยชน์จากกระบวนการเยียวยาเชิงสมานฉันท์ สร้างความปรองดอง และแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติวิธี
กำลังโหลดความคิดเห็น