xs
xsm
sm
md
lg

ประชาสังคมจี้รัฐเยียวยาไฟใต้ทุกกลุ่ม ทบทวน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน–กฎอัยการศึก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ร่วมกันนำเสนอผลการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟใต้ ยันภาคประชาสังคมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าภาครัฐ ชี้ต้องลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม จี้ให้ทบทวนว่า 8 ปีที่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เพียงพอแล้วหรือยัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 4-5 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สภาประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป จัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมีประชาชนจากองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่งประมาณ 1,000 คน

สำหรับการประชุมสมัชชาฯ วันที่ 4 ม.ค.เป็นการประชุมวันแรก เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยา ผลกระทบจากการใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหาราชการในในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ส่วนวันที่ 5 ม.ค. เป็นการประชุมพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งจะมีการนำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ฝ่ายต่างๆ เสนออยู่ในขณะนี้ 6 รูปแบบ

ทั้งนี้ น.ส.ลม้าย มานะการ และนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ตัวแทนคณะจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ร่วมกันนำเสนอผลการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงของภาคประชาชน ต่อที่ประชุมสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หัวข้อ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน”

น.ส.ลม้าย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ช่วยเหลือเยียวยาแก่คนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่เลือกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาตามเงื่อนไขคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจากสถานการณ์ภาคใต้ (กยต.) ในเหตุการณ์กูจิงลือปะ เหตุการณ์ตากใบ และตันหยงลิมอ รวมทั้งครอบครัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐควรมองว่าผู้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เพราะทั้งหมดล้วนได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา

การทำงานของภาคประชาสังคมทำงานเชิงรณรงค์ ผลักดันให้ความช่วยเหลือเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งด้านการศึกษา ด้านการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ครอบครัวผู้ประสบภัยมีรายได้มั่นคง และจัดทำฐานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับให้ความรู้ด้านกฎหมายโดยศูนย์ทนายความมุสลิม และงานพัฒนาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ และการรณรงค์สร้างสันติภาพและยุติความรุนแรงผ่านสื่อ

“ภาคประชาสังคมยืนยันว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้มากกว่าภาครัฐ เราจะไม่ทอดทิ้งกัน จะช่วยเหลือทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่ต้องการจากการทำงานเยียวยาคือ ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม” น.ส.ลม้ายกล่าว

ด้านนายอาดีลันกล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548(พ.ร.ก.) ไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขได้รับการเยียวยา ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ จึงมีการตั้งศูนย์ทนายความมุสลิมช่วยเหลือทางคดีให้แก่จำเลยคดีความมั่นคง และจัดอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความให้ความช่วยเหลือ และความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน

“ข้อเสนอที่มีต่อสมัชชาปฏิรูปคือ ช่วยขับเคลื่อนเรื่องค่าชดเชยผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึง จนต้องให้เครือข่ายนักกฎหมายช่วยเหลือเรียกร้องค่าชดเชยแก่จำเลยในคดีอาญา” นายอาดิลันกล่าวและว่า

ประชาชนควรได้รับความรู้ด้านกฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงสิทธิของตัวเอง และเสนอให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบผู้มีรายชื่ออยู่ในหมายควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 เพราะมีผู้ที่ถูกจับโดยไม่มีหมายควบคุมตัวมาแล้ว ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

“อยากให้เจ้าหน้าที่ทบทวนว่า 8 ปี ที่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เพียงพอแล้วหรือยัง การจัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นกับการใช้กฎหมายความมั่นคงควรเป็นไปทิศทางใด” นายอาดิลันกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น