xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯ ค้านรัฐเยียวยาก่อนรู้ผลใครผิด ยันเร่งทำรายงานสลายแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
“นพ.นิรันดร์” ชี้กระบวนการก่อนเยียวยาต้องทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ เอาตัวคนผิดมาลงโทษ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสร้างความแตกแยก ย้ำรายงานสอบสลายเสื้อแดงที่รั่วออกมาสู่สาธารณะยังไม่สมบูรณ์ พร้อมรับสรุปผลล่าช้าเพราะกระบวนการทำงาน ไม่เกี่ยวกับการเมือง ยันกำลังเร่งให้เสร็จโดยเร็ว ด้าน “พิภพ-วีรวิท” ระบุมาตรการเยียวยาส่อล้ม เหตุมติครม.ไม่มีกฎหมายรองรับ

วันที่ 19 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น ควรเป็นไปตามกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ ต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน แยกแยะเอาคนผิดมาลงโทษ แล้วค่อยเยียวยา เพื่อให้สังคมตระหนักและเข้าใจร่วมกัน ซึ่งหากกระบวนการไม่ครบถ้วน ในสภาพสังคมที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายแบบนี้ เป็นปกติที่สังคมจะต้องวิจารณ์ อีกทั้งต้องมองให้ทั่วกันว่าใครที่ถูกละเมิด ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม ชาวต่างชาติที่ถูกฆ่าตาย หรือแม้แต่นักธุรกิจที่ราชประสงค์

นายนิรันดร์กล่าวอีกว่า ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา รัฐพยายามสร้างคุณค่าที่บิดเบือน ให้ประชาชนสนใจแต่เป้าหมาย ไม่สนใจวิธีการ ตรงนี้ทำให้สังคมตก และเพลิดเพลินกับประชานิยม เพลิดเพลินกับการรับผลประโยชน์จากรัฐ การทำความจริงให้ปรากฏจึงเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย เพราะแม้มีการตรวจสอบออกมาแล้ว แต่รัฐก็ไม่เคยเปิดเผยความจริงนั้นสู่สาธารณะให้รับทราบ ซึ่งความจริงนั้นสำคัญมาก ในภาวะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบบนี้

เมื่อถามถึงความคืบหน้ารายงานการสอบสวนสลายชุมนุมคนเสื้อแดง นพ.นิรันดร์กล่าวชี้แจงว่า คณะกรรมการสิทธิฯ มีองค์กรไปตรวจสอบ และทำความจริงให้ปรากฏ นอกจากนั้นต้องทำหน้าที่คุ้มครองและปกป้อง รายงานที่รั่วออกมานั้นเป็นแค่เป็นรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่เกิดจากคณะทำงาน ที่คณะทำงานนั้นดำเนินการไปตามอนุกรรมการ พอเราเข้าไปตรวจเหตุการณ์ระหว่าง มี.ค-พ.ค.ก็พบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณ 10 ช่วงต่อ จึงตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 คณะ คือ อนุกรรมการเพื่อดูภาพรวม ซึ่งก็แยกออกมาเป็น อนุกรรมการดูข้อเท็จจริง และอนุกรรการดูประเด็นทางกฎหมาย

อนุกรรมการดูข้อเท็จจริง ก็ได้ตั้งคณะทำงานออกไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง เมื่อข้อมูลข้อเท็จจริงทำเสร็จแล้ว จะต้องผ่านกระบวนการในอนุกรรมการ เพราะคณะที่ไปตรวจสอบไม่ได้ใช้อำนาจของกรรมการสิทธิฯตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจอนุกรรมการในการเรียกคนมาชี้แจง

ฉะนั้น รายงานที่รั่วออกมา กระบวนการในการเชิญคนมาชี้แจงยังไม่ได้ทำ ข้อมูลที่ได้ก็คือได้จากการไปคุยกับผู้ประสบปัญหาในเหตุการณ์ ซึ่งตรงนั้นมันไม่เพียงพอ อีกทั้งคณะกรรมการสิทธิฯมองว่ามันต้องผ่านกระบวนการให้อนุกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบ รายงานตรงนั้นเลยยังเป็นแค่เบื้องต้น เพราะต้องส่งเข้าอนุกรรมการอย่างน้อยอีก 2 คณะ

พร้อมทั้งขอยืนยันว่า รายงานชิ้นที่สมบูรณ์ล่าช้าออกไปนั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องกระบวนการทำงานที่คิดว่ายังไม่ครบสมบูรณ์ ในเชิงของอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯที่ดำเนินการตรวจสอบ ฉะนั้น ถ้ารายงานออกไปก็จะมีปัญหา ไม่ได้พิจารณาว่ามีหรือไม่มีข้อมูลว่าผู้ชุมนุมกระทำผิด ซึ่งเคยแถลงข่าวยอมรับและกล่าวขอโทษ ว่าทำงานล่าช้า เพราะเป็นกระบวนการที่สังคมคาดหวัง เมื่อตรวจสอบแล้วต้องสามารถส่งสัญญาณให้สังคมได้ว่า พฤติกรรมอันนี้ละเมิด รัฐควรทำอย่างนี้ ผู้ชุมนุมควรทำอย่างนี้

นพ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า เมื่อผลรายงานออกมา จะต้องมีฝ่ายที่ไม่ยอมรับ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิฯ เข้าใจ เพราะอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติ แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย การที่จะทำให้เห็นว่าอะไรขาวอะไรดำ มีข้อจำกัดในการทำงาน แต่ก็พยายามแก้ไข

อีกทั้งขณะนี้กำลังพยายามเร่งให้รายงานออกมา ซึ่งรายงานนั้นมี 2 ส่วน คือ ช่วง มี.ค.-พ.ค.53 อีกส่วนคือหลัง พ.ค.53 เช่นดารเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ส่วนของหลัง 19 พ.ค.53 ตรวจสอบเสร็จแล้ว และดำเนินการประสานกับหน่วยงานรัฐต่างๆ กรมคุ้มครองฯ สภาทนายความ ในการที่จะเข้าไปดูแล หรือเข้าไปปกป้องสิทธิ หรือแยกแยะว่าการกระทำอะไรที่เป็นการละเมิด แต่ที่ยังไม่เสร็จคือช่วง มี.ค.-19 พ.ค.53 ซึ่งจะทำให้เร็วที่สุด และยอมรับกระบวนการที่ยังขาด ก็คือยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เปิดเวทีสาธารณะ เนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจและอยากมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ นี่จึงเป็นข้อยุติที่คณะกรรมการสิทธิฯไม่ให้รายงานนั้นออกไป

ด้าน นายพิภพกล่าวว่า การเยียวยาผู้ชุมนุม ออกเป็นมติ ครม.ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมาย อันนี้ ครม.พลาด เพราะควรออกเป็น พ.ร.บ. และการผ่าน ครม. หรือตั้งคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่ หรือมีมาตรการอะไรช่วยเหลือ ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ ปัญหาคือเป็นการอ้างอิงจาก คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็ตั้งโดย ครม.สมัยนายอภิสิทธิ์ ซึ่งก็ไม่มีกฎหมายรองรับเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันอาจจะทำไม่ได้

ส่วน พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวว่า คอป.เขียนว่าเป็นการฟื้นฟูที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเดิม เมื่อไม่มีกฎหมาย แต่เราเป็นนิติรัฐ ฉะนั้นต้องมีกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการตามมติ ครม. ต้องออกกฎหมายมาก่อน แล้วต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติ มิเช่นนั้นก็เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ใช้คำว่าชดเชย ในกฎหมายหลายฉบับ คำว่า ชดเชย แสดงว่าต้องมีผู้กระทำผิด ในตอนแรกตามหลักปฏิบัติ ต้องฟ้องศาลก่อน และระเบียบกระทรวงการคลัง ต้องมีคำพิพากษาฎีกาให้เป็นที่สุด ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาของกระบวนการศาลคือค่อนข้างช้า สิ่งที่ตามมาคือถ้าปรากฎว่ารัฐผิด รัฐบาลก็ต้องไปหาว่าเจ้าหน้าที่คนใดที่จงใจ หรือปฏิบัติเลินเล่อ และคนๆนั้นต้องจ่าย รัฐบาลไม่จ่าย แต่ถ้าสรุปรัฐทำถูกต้อง แต่เกิดการผิดพลาด อันนี้รัฐบาลถึงจะจ่ายได้ ออกมาลอยๆแบบนี้ไม่ได้

ประเด็นที่สาม รัฐบาลพูดเรื่องกลไกของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในกรอบและดำเนินไปตามครรลองของสันติวิธี อันนี้เกี่ยวโยงกับประเด็นที่พูดมา ในเมื่อรู้ว่าไม่มีกลไก ก็ต้องถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต คือต้องทำความจริงให้ปรากฎ เพราะนอกจากจะหาคนผิดมาลงโทษแล้ว จะได้วางมาตรการที่มีประสิทธิภาพด้วย แต่คอป.ข้ามตรงนี้ไป

ประการสุดท้าย คอป.ประชุมเมื่อ 6 ม.ค.ครั้งเดียว ในการพิจารณาข้อเสนอ และเข้า ครม.10 ม.ค. เป็นเวลาที่สั้น กระบวนการตรงนี้ตนคิดว่ารัฐบาลขาดความรอบคอบในการกระทำ อีกทั้งต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ ด้วย
นายพิภพ ธงไชย
พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น