ส.ส.ระยอง ปชป.ยื่นศาลปกครองขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวมติ ครม.จ่ายเยียวยาเหยื่อการเมือง ชี้ ส่อขัดกฎหมาย ทำสังคมแตกแยก คนไม่เคารพ สูญวินัยการคลัง ทำยุติธรรมเสียหาย
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวก่อนเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉินให้มีการคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง ว่า การไปยื่นเพื่อให้เห็นว่าหากมีการใช้มติ ครม.นี้จะเป็นอันตราย โดยมีเหตุผล 5 ประเด็น คือ 1.หากปฏิบัติตามมติ ครม.จะทำให้การจ่ายเงินขัดต่อหลักกฎหมาย เนื่องจากไม่มีรายละเอียด หรือหลักเกณฑ์มารองรับการจ่ายเงินดังกล่าว และตามบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ 10 ม.ค.2555 ได้ยืนยันว่า มติ ครม.ในครั้งนี้ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย และแนวทางที่เคยปฏิบัติมา 2.หากปฏิบัติตามมติดังกล่าวจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยก เมื่อมีการเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้กับผู้ทีได้รับผลกระทบและการเยียวยาในกรณีอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ที่ตากใบ และ กรือเซะ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน
นายสาธิต กล่าวต่อว่า 3.มติ ครม.อาจทำให้คนในสังคมไม่เคารพต่อกฎหมายในอนาคต เพราะคนที่กระทำความผิดต่อกฎหมายก็จะได้รับการเยียวยา 4.ทำให้สูญเสียวินัยทางการเงิน การคลัง ยากที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม และ 5.สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะโดยหลักจะต้องมีหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ชัดเจนอย่างมีมาตรฐาน โดยมีกฎระเบียบรองรับ แต่มติ ครม.นี้ไม่มีมาตรฐานหรือกฎระเบียบใดๆ รองรับ ทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น จึงขอให้ศาลปกครองได้ไต่สวนฉุกเฉินมีคำสั่งคุ้มครองระงับมติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งหากศาลมีความเห็นตรงกันก็จะดำเนินการไต่สวนทันที ซึ่งอาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) หรือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ซึ่งตนมั่นใจว่า จะสามารถระงับมติ ครม.ดังกล่าวได้ เพราะเหตุผลที่เสนอไปล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่คนในสังคมเห็นด้วย และไม่มีการบิดเบือนข้อมูล ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางรัฐบาลจะสามารถออกระเบียบมารองรับมติ ครม.ดังกล่าวในภายหลังได้หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักใหญ่ แต่เชื่อว่าก็ยังขัดกับหลักใหญ่อยู่ดี เพราะมติ ครม.ที่ออกมาไม่ครอบคลุมและเลือกปฏิบัติ