xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองเมินไต่สวนฉุกเฉินเยียวยาม็อบแดง อ้างไม่มีเหตุจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ส.ส.ระยอง ประชาธิปัตย์ โผล่ศาลปกครอง ยื่นขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพิ่มเติมมติ ครม.เยียวยาเหยื่อการเมือง ล่าสุด ศาลไม่รับคำขอไต่สวนฉุกเฉิน อ้างไม่มีเหตุจำเป็น พร้อมยังไม่กำหนดวันไต่สวน

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 16.20 น.นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพิ่มเติม จากกรณีที่ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 ที่อนุมัติให้มีการจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549-พ.ค. 2553 และขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติกำหนดกฎเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีอย่างเป็นธรรม โดยไม่รวมถึงกรณีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

นายสาธิต กล่าวว่า เหตุที่ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินมี 5 ประเด็น คือ 1.หากมติ ครม.มีการบังคับนั้น จะทำให้การจ่ายเงินขัดต่อหลักกฎหมาย เนื่องจากอยู่นอกกรอบกฎหมาย และไม่มีกฎหมายอื่นรองรับ 2.หากมีการบังคับใช้ตามมติ ครม.ก็จะทำให้สังคมเกิดความแตกแยก เพราะหลักการเยียวยาที่อ้างว่าต้องการให้เกิดความปรองดองนั้นไม่มีมาตรฐานในการจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งหลักเกณฑ์ก็ไม่ครอบคลุมในเรื่องของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง 3.มติครม.นี้อาจทำให้คนในสังคมไม่เคารพกฎหมาย เพราะผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจากการชุมนุม ซึ่งหากมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาก็จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออกไปชุมนุมเพื่อสนับสนุนกลุ่มที่ตนต้องการให้เข้ามาบริหารประเทศมากขึ้น และหวังที่จะได้รับเงินเยียวยาจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่ย่ำเกรงต่อกฎหมาย 4.งบประมาณที่ใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวมีจำนวนมหาศาล หากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นต้องการได้รับการเยียวยาบ้างก็ยากที่จะพูดถึงความเป็นธรรม และ 5.มติดังกล่าวนี้สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เพราะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นจึงมานำเสนอต่อศาลเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินคดีดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะพิจารณาคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวหรือไม่

ต่อมาเวลา 17.15 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองไม่รับคำขอไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา และศาลยังไม่ได้กำหนดวันที่จะนัดไต่สวนคดีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น