xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ กะเทาะบทเรียนน้ำท่วม แนะทางแก้ก่อนซ้ำรอยเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
นักวิชาการประสานเสียงอนาคตไทยจะมีน้ำมากขึ้น "ดร.เสรี" ชี้ล้มเหลวแก้น้ำท่วม เหตุไทยขาดการสื่อสารเรื่องความเสี่ยง “บรรณโศภิษฐ์” แนะ บูรณาการข้อมูล ตั้งคกก.ประสานงานน้ำ-ที่ดิน ขณะที่ “มาร์ค” แนะ 5 แนวทางป้องกันน้ำท่วมปีหน้า เรียกดัชนีความเชื่อมั่นจากภาคศก.คืน ด้วยการรับประกันภัยน้ำท่วม

วันนี้ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ร่วมกับกลุ่มอาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม และกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “อาสาคนไทยร่วมใจฟื้นฟู: บทเรียนประเทศไทย ครั้งที่ 1”เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถึงบทเรียนจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา และสังเคราะห์ให้เป็นแนวยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในหลากหลายมิติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ ในอนาคต

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ปาฐกถาในหัวข้อ บทเรียนประเทศไทย: เรียนรู้จากมหาวิกฤต ว่า งานนี้จะมีการจัดขึ้นทั้งหมด 8 ครั้ง เพื่อรับฟังและระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งเราหวังว่าภายในไม่เกิน 2 เดือนจะได้ข้อเสนอแนะ และข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ไปเสนอกับรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม วันนี้มีหลายแง่มุมกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่ที่กำลังเป็นที่สนใจคือ เราจะมีแนวทางอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก สิ่งหนึ่งที่พูดกันน้อยคือปัญหาการบริหารจัดการ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการย้อนอดีต เพราะหากไม่แก้ไขการจัดการบางอย่าง ก็จะเกิดแบบนี้อีกไม่ว่าเราจะลงทุนเป็นแสนเป็นล้านก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีปัญหาการจัดการอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องความขัดแย้งของมวลชนที่คลองสามวาในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และลุกลามไปในพื้นที่ต่างๆ ตนต้องการเพียงสะท้อนว่าหากมีวิกฤตใหญ่ หรือมีแนวโน้มการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ เราจะบริหารแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ของประชาชนก็เช่นเดียวกัน เราต้องยอมรับและเผชิญความจริง ไปลงทุนสร้างเขื่อนถึงเวลาอาจจะมี ส.ส.พามวลชนมารื้อ มันก็เหมือนไม่มี การบริหารจัดการก็ทำได้ไม่เต็มที่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนจะมีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงในการบริหารจัดการ ตนคิดว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้เร็วคือ 1.ต้องบริหารจัดการในภาพรวม ว่ายุทธศาสตร์การระบายน้ำจะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร หากเรามีความคิดเรื่องการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต 2.ต้องมีการกำหนดแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะทราบว่าในส่วนของรัฐบาลก็จะอาศัยการศึกษาในอดีต เช่น ที่ไจก้าทำเอาไว้ ก็เป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่สิ่งที่ศึกษาต้องไปดูจากวันที่ศึกษาถึงวันนี้ว่าพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปหรือยัง มีสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ เพราะถ้ามีจะกระทบเส้นทางการไหลของน้ำถ้าไม่เปลี่ยนก็ต้องไปรื้อสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการวางผังไม่อาจปล่อยให้เป็นเรื่องของท้องที่ต่างคนต่างทำ ต้องมีการจัดผังภาคหรือผังประเทศ และให้ผู้เกี่ยวข้องมาสอดรับและหยุดต่างฝ่ายต่างทำผังตัวเองโดยไม่มีการประสานกัน หลักการนี้ต้องเริ่มต้นขึ้นมาให้ได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 3.ระหว่างที่ไม่มีโครงสร้างเพิ่มเติมต้องมีการทำระบบเชื่อมโยงประสานงานในทุกจุดที่มีการประสานงานของน้ำ เขาต้องรู้ว่าจะปล่อยน้ำไปที่ไหน อย่างไร พื้นที่ที่ปล่อยไปจะมีผลกระทบอย่างไรต้องมีแบบจำลองที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะบริหารภาพรวมไม่ได้ และไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนที่อยู่เหนือ-ใต้ประตูระบายน้ำ นอกจากนี้ 4.ต้องมีความชัดเจนเรื่องของอำนาจการบริหารจัดการ คนที่มีหน้าที่แก้ปัญหาต้องไปบอกได้ว่าภาพรวมที่ควรจะเป็นคืออะไร และต้องมีการบริหารจัดการที่ไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง หรือมวลชน แต่เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ซึ่งต้องไม่เปิดโอกาสให้ใช้มวลชนมากดดันจนปลี่ยนภาพรวมการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด 5.ส่วนเรื่องการระดมกำลังจากภาคเอกชน และประชาชนนั้น ตนเห็นว่าควรมีหน่วยงานในลักษณะองค์การมหาชนมารับผิดชอบในการประสานการช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน หากมีองค์การลักษณะถาวร ไม่ได้อยู่ในระบบราชการเพื่อความคล่องตัวน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเรื่องนี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคเศรษฐกิจ สิ่งที่ตนเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะเป็นตัววัดดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตคือ เรื่องการประกันภัย เกรงว่าธุรกิจสามารถซื้อประกันภัยน้ำท่วมได้หรือไม่ เพราะหากแนวทางการแก้ปัญหาไม่เกิดก็จะไม่มีการยอมรับการประกันภัย หรือถ้ามีก็เกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะแบกรับได้ ต้องตัดสินใจว่าภาครัฐจะเล่นบบาทในการรับประกันภัยต่อด้วยองค์กรของรัฐหรือไม่ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นก็มี เพราะเบี้ยประกันภัยสูงเกินไป รัฐจึงมีองค์กรเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ เรื่องนี้รัฐบาลน่าจะตัดสินใจเป็นนโยบายและออกกฎหมายให้ใช้จ่ายงบประมาณได้ ซึ่งทั้งหมดจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้

จากนั้นเป็นการเสวนาบทเรียนประเทศไทยในหัวข้อ “ก้าวใหม่เพื่อไทยยั่งยืน” โดยมี รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย อาจารย์ประจำวิชาภาคการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริหารและวิศวกรแหล่งน้ำ ทีมกรุ๊ป

โดย รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ได้มีการถอดบทเรียนวิกฤตน้ำท่วม 2554 คือ คนไทยไม่รู้น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น เราขาดการเผยแพร่ข้อมูล คนไทยไม่รู้ตระหนัก ไม่ปรับตัว รัฐบาลให้ความสำคัญเฉพาะการประชุมโลกร้อนมากเกินไป รัฐบาลนิ่งเฉย คนไทยนิ่งเฉย ไม่รู้ว่าคูคลองขาดศักยภาพการระบายน้ำ ทั้งหมดคือการขาดความพร้อมในการรับมือ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่างๆ เรามองเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้ เพราะอิทธิพลของโลกมีผลกระทบด้วย นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลที่ไม่ละเอียดพอที่มีแรงขับเคลื่อนอาจจะเกิดอุทกภัยในอนาคตได้ เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น หรือระดับน้ำในทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ เราขาดระบบการสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งฐานข้อมูล เครื่องมือ กลยุทธ์ในเรื่องของระบบการตัดสินใจลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องรวมศูนย์ตั้งแต่ประชาชน ท้องถิ่น จังหวัด เพื่อประเมินความเสียหายในการต่อสู้กับภัยน้ำท่วม และสนับสนุนการตัดสินใจเรื่องของการฟื้นฟู

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปี 38 และปี 49 พบว่าน้ำฝนในปี 54 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งเมื่อรวมปริมาณน้ำฝนทั้ง 3 ปี พบว่าปริมาณน้ำนองที่ผ่านจากจ.นครสวรรค์ รวมแล้วกว่า 3.4 หมื่นล้านลูกบาศเมตร แล้วลองจิตนาการว่าน้ำจะไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ท่วมลงมา ดังนั้น การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องของฟลัดเวย์ กลายเป็นฟลัดออลเวย์คือ เส้นทางน้ำ กลายเป็นทุกเส้นทางน้ำผ่านหมด สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ จุดอพยพจมน้ำ การจะอพยพคนต้องมีการวางแผนว่าจะอพยพพื้นที่ไหนก่อน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศต่างมีความเห็นเกี่ยวกับอุทกภัยของไทยตรงกันว่า เราขาดการสื่อสารความเสี่ยง ขาดการทำแบบจำลองน้ำท่วม และขาดการวางระบบระบายน้ำด้วยระบบท่อ ซึ่งทั้งนี้ การบริหารจัดการเริ่มจากประชาชน ให้ประชาชนช่วยตัวเองก่อน จากนั้นประชาชนจะรวมตัวเป็นชุมชนที่มีกำลังมากขึ้น กลายเป็นชาติ

รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า คิดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย 22 เปอร์เซ็นต์ของลุ่มน้ำ เกือบครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ในอนาคตเลี่ยงไม่ได้ว่าคนจะได้รับผลกระทบคิดเป็นประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หากเราไม่มีการเตรียมการ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งการเกิดของปัญหาจะเกิดจากข้างบนลงมา หากไปดูการจัดการผังเมืองทั้งหมด ทุกลุ่มน้ำต้องมีการจัดการเรื่องน้ำและที่ดินไปพร้อมกัน ตั้งแต่ระดับภาค ส่วนที่มีการรวมองค์กรบริหารน้ำไว้ที่เดียวไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะได้ข้อมูลที่แคบ แต่ควรจะประสานในหลายๆ มิติ บูรณาการจัดการร่วมกัน เพราะดูปัญหาแล้วเราจะต่างคนต่างทำไม่ได้

รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า การจัดการพื้นที่ต้องดูเชิงพื้นที่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีการประสานข้อมูล องค์รวมในการพิจารณาผลกระทบของน้ำที่ไปในพื้นที่ต่างๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบ รับผิดชอบเฉพาะกิจตัวเอง คนผันน้ำก็ผันน้ำอย่างเดียว คนสื่อสารก็สื่ออย่างเดียว ซึ่งการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องการจัดการพื้นที่ต้องทำด้านกายภาพและภาพรวม รวมทั้งระบบของการจัดการ วิศวกรรมต่างๆ ทั้งเขื่อน คูคลอง ปัจจัยที่เกิดส่วนหนึ่งเพราะเราขาดแคลนทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ เราไม่เคยดูว่าจะเอาทั้งหมดมารวมกัน หรือจัดการอย่างไร เพื่อให้เกิดการบูรณาการ นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ และชีวิตทรัพย์สิน หลายคนยังยอมรับไม่ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่ทรัพย์สินที่กลายเป็นขยะ รวมทั้งเรื่องการเกิดความขัดแย้งของกลุ่มคนอย่างรุนแรง ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเป็นบทเรียนคือ ต้องมองการจัดการลุ่มน้ำทั่วประเทศ แต่ละลุ่มน้ำต้องจัดการคณะกรรมการประสานงานน้ำและที่ดิน ซึ่งตามความเห็นแล้วต้องทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดอุทกภัยต้องมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย และการกำหนดวิธีการใช้พื้นที่ สมัยก่อนจะมีการทำแผนระดับภาคแต่เมื่อมีการปฏิรูปความสำคัญในเรื่องนี้น้อยลง นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดระบบในการจัดการแหล่งน้ำทั้งหมด และมีระบบการสื่อสารประสานงาน สามารถประสานข้อมูลกันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน อย่างไรบ้าง และเรื่องการป้องกันปัญหาภัยพิบัติ ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังจากมีภัยพิบัติ เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นภัยระดับชาติ เราจะมีแผนอย่างไรในการเตรียมตัว มีแผนเตือนภัยหรือไม่

ด้านนายชวลิต กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 150 ปี เพราะปริมาณน้ำฝนที่มาก นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจว่า สิ่งที่บริหารจัดการได้ยากคือ เรื่องของธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เราโชคดีที่ไม่ได้โดนพายุวาชิเหมือนอย่างประเทศฟิลิปินส์ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันปริมาณน้ำมากขึ้น ทำให้เราบริหารจัดการยากขึ้น อุทกภัยในครั้งนี้จึงควบคุมได้ยาก แต่ก็ต้องชื่นชมเขื่อนต่างๆ ที่มีความกล้าหาญในการกักเก็บน้ำในเขื่อนจนเกินความจุของเขื่อนไปมาก ถึงแม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็ต้องยอมรับในความกล้าหาญ เพราะครั้งนี้ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่ามีมาก ทำให้เราเรียกกันว่าเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ การควบคุมเส้นทางของน้ำในการไหลจึงเป็นเรื่องยาก จึงทำให้เราประสบกับอุทกภัยในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจเมื่อเกิดอุทกภัยต่างๆ คือ การเข้าใจและปรับตัวอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น