มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2554 คงถูกจารึกลงประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นที่เรียบร้อย มหัตภัยที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้ครั้งนี้นั้น นำมาซึ่งหายนะแก่ชาวไทยกว่าค่อนประเทศ อนึ่ง คงสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความไร้น้ำยา’ ในการจัดการทางด้านภัยพิบัติของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก
แม้ทางรัฐบาลไทยเองจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเป็นกระบอกเสียงแจ้งข่าวคราวน้ำท่วมแก่สาธารณะชนให้รับมือกันอย่างทันท่วงที แต่ดูการทำงานที่ผิดพลาดซ้ำซากของ ศปภ. ที่ปรากฏให้เห็นทุกวี่วัน ได้ถูกมวลชนกว่าค่อนประเทศตัดสินแล้วว่าเป็นหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อปัญหาน้ำท่วมเข้าสู่ภาวะวิกฤติจนเกินความสามารถของคณะของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้มีการร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสาธารณภัย โดยการนำโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาของประเทศเขาเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องน้ำท่วม
นำเข้า 2 โมเดลกู้วิกฤตน้ำ?
องค์กรแรกที่รัฐบาลร้องขอความช่วยเหลือก็คือ ฟีมา(FEMA - Federal Emergency Management Agency) หน่วยงานจัดการภัยพิบัติระดับชาติของสหรัฐอเมริกา ก็คลอดแผนงานการช่วยเหลือหลังภัยพิบัติเมื่อคราวอุทกภัยครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ หลังพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มชายฝั่งมลรัฐลุยเซียนาในปี 2548 ที่สร้างเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ถึงแม้ฟีมาจะจัดการภัยพิบัติครั้งนั้นได้ แต่ก็มีข้อติติงจากชาวอเมริกันถึงการบริหารงานที่ผิดพลาดในการแก้ปัญหาที่ล่าช้าและเกิดการสูญเสียที่เกินสมควรพ่วงมาด้วยแต่ก็ไม่ได้ลดความเชื่อมั่นของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด
และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการจัดการปัญหาอุทกภัยได้อย่างยอดเยี่ยมอันเห็นได้จาก เดลต้า เวิร์ก (Delta Works) โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นการท่วมของน้ำทะเลอย่างบูรณาการ บริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิส-เชลดา ของประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอย่างเนเธอร์แลนด์ ด้วยบทเรียนจากกรณีเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2496 ที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ
20 วันให้หลังรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย และผุดโครงการเดลต้าเวิร์คที่ถูกยอมรับทั้งเรื่องประสิทธิภาพในและความเพียบพร้อมต่อการรับมือกับมวลน้ำทะเลที่ถาโถมเข้าชายฝั่งอย่างไม่เว้นวาง และยังเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน ก็ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม
แต่ดูเหมือนในต่างประเทศนั้น บทเรียนจากมหันตภัยธรรมชาติจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการภัยพิบัติรวมถึงการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยที่ถือว่ามีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละโมเดลก็ถูกกลั่นกรองให้เข้ากับภูมิประเทศและประชากรเป็นหลัก การที่รัฐบาลจะนำโมเดลที่ประสบความสำเร็จของต่างชาติเข้ามาจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศไทย ก็คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและประสิทธิผลให้ถี่ถ้วน
การรับมือภัยพิบัติในเงาต่างชาติ
ในส่วนของโมเดลจัดการปัญหาอุทกภัยของประเทศต่างๆ คงไม่ต้องพูดถึงในเรื่องประสิทธิกันแล้ว แต่เรื่องที่สำคัญนั้นเป็นเรื่องของการนำมาปรับใช้ในประเทศไทยต่างหาก รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าโมเดลการจัดการภัยพิบัตินั้น จะเสถียรกับประเทศต้นกำเนิดมากที่สุด ซึ่งหากนำไปใช้ในประเทศอื่นก็ต้องมีการประยุกต์มากพอสมควร ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจะหยิบโมเดลนั้นๆ มาใช้ได้หรือไม่
ยกตัวอย่างโครงการเดลต้า เวิร์ก บอกให้ทำเขื่อนริมทะเลทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องมาดูว่าประเทศไทยสามารถทำได้ไหม ซึ่งปัญหาคือเรามีป่าชายเลน ถ้าทำเช่นนั้นแล้วป่าชายเลนก็ตายหมด มันเหมาะสมกับประเทศเนเธอร์แลนด์เพียงแต่เราสามารถนำมาประยุกต์ได้เพราะใช้หลักทฤษฎีเดียวกัน อย่างฟีม่าก็เช่นเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ แล้วจัดการรายละเอียดระบบการป้องกันที่เข้ากับประเทศไทยได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการจัดการวิกฤตระยะยาวซึ่งไม่สามารถนำมาบริหารวิกฤตน้ำท่วมของประเทศในเวลานี้ได้
“โมเดลพวกนี้เอาไว้ใช้ระยะยาว ทฤษฎีมันเหมือนกันหมด แต่มันขึ้นอยู่ว่าเขาจะโฆษณาทำการตลาดอย่างไร เพื่อให้ขายได้ ถ้าเป็นภาคทฤษฎีให้เต็ม 100 แต่ปฎิบัติผมให้แค่ 50 ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็โมเดลเดียวกันทฤษฎีเดียวกัน แต่ว่าเราจะดีกว่าในแง่รู้พื้นที่ อย่างต่างชาติมาจะไม่รู้พื้นที่ เขาจะนั่งบนอากาศมาใช้โมเดลไม่ได้”
ทางออกของวิกฤตการณ์น้ำท่วมนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวไทยด้วยกันเองก่อน รศ. ดร.เสรี กล่าวว่า คนไทยเองก็มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนี้กันพอสมควร การหยิบยกโมเดลของต่างชาติมาใช้จึงไม่ใช่ทางออกเสียทีเดียว
“ผมมองว่าไม่จำเป็น ความสามารถคนไทยมีเยอะ และปัญหาไม่ได้อยู่ที่โมเดล แต่มันอยู่ที่การประยุกต์ใช้แล้วทำ เช่น จะเปิดประตูน้ำตรงนี้แต่ทำไม่ได้เพราะปัญหาสังคม หรือจะทำคันดินตรงนี้กลับมีปัญหาในพื้นที่ มันเป็นปัญหาตรงนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ใช่เฉพาะภาคใดภาคหนึ่ง วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสังคม คือปัญหาสังคมมันก็เป็นปัญหารุนแรงที่บานปลายมาทุกวันนี้ ก็คือว่าไม่สามารถวางแผนปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะว่าประชาชนต่อต้าน ถ้าไม่บอกประชาชนไว้ แล้วการที่ไม่บอกก็เป็นการทำวิกฤตซ้ำวิกฤต”
รศ. ดร.เสรี เสนอแนะถึงแนวทางปฏิบัติที่จะนำมาซึ่งโมเดลการแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทยในเวลานี้
“ความที่ขาดการบูรณาการ ที่ผ่านมามันเป็นการบริหารการจัดการเชิงเรื่องราวเชิงภารกิจ ต่างคนต่างมีภารกิจเสนอมา แต่ไม่ได้เข้าไปบูรณาการในพื้นที่ ฉะนั้นการบริหารการเชิงภารกิจต้องเปลี่ยนไปเป็นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่โดยให้คนที่รับผิดชอบในพื้นที่บูรณาการทุกภารกิจ มันถึงจะเกิดเป็นโมเดลและไม่มีข้อขัดแย้งทางความคิด”
ซึ่งตรงกับทัศนะของ มนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเผยแพร่ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ที่กล่าวว่าปัญหาน้ำในบ้านเราขณะนี้มันไม่ใช่เรื่องไม่มีโมเดลในการจัดการ แต่มันเป็นปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานมากกว่า ส่วนการจะนำเอาโมเดลจากเมืองนอกมาใช้นั้น มันก็อยู่ที่การปรับใช้เพื่อให้เหมาะสม
“การนำเอาโมเดลจากต่างชาติมาใช้ อย่างการจะจัดตั้งหน่วยกู้ภัยที่คล้ายๆ ฟีม่าขึ้นมานั้นมันก็เป็นเรื่องดีแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามันจะกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. อย่างเดียวหรือเปล่า เพราะมันควรจะมีการกระจายศูนย์ไปให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรมีทุกจังหวัดเพื่อให้ได้เข้าถึงได้ทันท่วงที ผมกลัวว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะต้องปล่อยรถออกมาจาก กทม. อย่างเดียว แบบนั้นมันไม่เวิร์กและไม่ทันการณ์
“เราเคยเอาโมเดลการจัดการป่าของเมืองนอกมาใช้แล้วไม่เข้ากับบ้านเราเท่าไหร่ เรื่องของการจัดการน้ำท่วมก็เหมือนกัน มันจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเหมือนกัน เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราไม่เหมือนเขาก็คือเรื่องของการวางผังเมือง เราต้องยอบรับว่าในยุโรปนั้นผังเมืองเขาดีมาตั้งแต่ต้น ในไทยนั้นจะแตกต่างออกไป การนำโมเดลต่างประเทศมาใช้นั้นไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องมีการปรับให้ตรงกับเงื่อนไขในบ้านเรา ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่เห็นรายละเอียดจึงพูดอะไรไม่ได้มากเท่าไร”
โมเดลแบบฉบับไทย ‘เข้าใจ เรียนรู้ ลงมือ’
หากย้อนดูการแก้ปัญหาน้ำท่วมภายในประเทศ ก็มีหลายองค์กรที่ระดมสมองลงแรงช่วยเหลือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอง ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ยื่นมือเข้ามาช่วยวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งการจัดการภัยพิบัติเป็น 1 ใน 7 ของโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน ที่สสส. เข้าไปทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเตรียมการกันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติในเครือข่ายกว่า 200 ตำบล เพื่อเป็นแกนหลักในการประสานงานและการจัดการภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของ สสส.ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังชุมชนนั้นสามารถพาวิกฤติให้ผ่านพ้นไป ตัวอย่างเช่น ‘หัวไผ่โมเดล’ ต.หัวไผ่ อ. เมือง จ.สิงห์บุรี หรือ ‘บางระกำโมเดล’ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ฯลฯ
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน กล่าว่า สสส. จะเป็นตัวเข้าไปหนุนการทำงานในภาครวมของตำบล เช่น ทุกหมู่บ้านต้องเตรียมการตั้งรับน้ำอย่างไร หากเกิดน้ำมา จะเปิดเส้นทางใด หรือจะเอาน้ำออกทางไหนดี สำหรับพื้นที่บางระกำก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะเป็นชุมชนที่มีคลองถึง 31 คลอง เพื่อระบายน้ำ พร้อมทั้งมีการเตรียมการกันอย่างชัดเจน ว่าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะอพยพคนไปที่หมู่บ้านใดเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน
“ที่ผ่านมาการทำงานในพื้นที่ต่างๆ นั้นได้รับผลตอบรับที่ดีจากทุกชุมชน จนกลายเป็นว่าบางพื้นที่ อย่างบางระกำ กลายเป็นโมเดลที่ดีได้ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้และในการทำงานของบางระกำนั้นยังจะส่งผลไปยังเครือข่ายได้อีกด้วย แปลว่าไม่ได้เป็นการจัดการเพียงเฉพาะพื้นที่ๆ เดียว แต่ละตำบลจะมีเครือข่ายอีก 20 ตำบล เพราะฉะนั้นบางระกำของอำเภอบางเลน จะมีเครือข่ายอีก 20 ที่ที่ต้องเตรียมการเหมือนๆ กัน
“อย่างเช่นมีศูนย์พักพิง มีระบบการเตือนภัย ที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาที่เตือนโดยธรรมชาติ เช่น การดูปริมาณของมดที่อพยพนี้กันมาก ก็เริ่มจะมีการประชุมกัน โดยตั้งสมมติฐานว่า น้ำจะมามาก และต้องจัดการกันอย่างไร มีการเตรียมทางไหลของน้ำ ในทุกๆ เครือข่าย ถึงแม้จะยังไม่เข้มข้น แต่ก็ถือว่าได้เตรียมการไว้แล้ว พื้นที่นั้นๆ จึงไม่ค่อยลำบากมาก เพราะรู้ตัวเองว่าเวลาที่เกิดเหตุแล้วจะทำอย่างไร เขามีการเตรียมการกันขนาดว่า ถ้าอพยพแล้วจะตั้งครัวอย่างไร เขาก็เตรียมการมีชื่อแม่ครัวไว้หมดแล้ว เครือข่ายที่เราเข้าไปทำงานด้วย เขาต้องรู้เรื่องนี้หมด เพราะเป็นจุดที่ต้องรับน้ำบ่อยๆ หากเกิดเหตุการณ์ก็สามารถรับมือได้ทันที"
ส่วนปัจจัยที่ทำให้โมเดลรับมือภัยพิบัติประสบความสำเร็จได้นั้น ดวงพร อธิบายว่า
“หนึ่ง-ผู้นำชุมชนต้องมีความชัดเจนในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ เป็นภารกิจที่เขาเองต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของภาวะผู้นำท้องถิ่น สอง-ชาวชุมชนมีภูมิปัญญาในการรู้เหตุการณ์ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเป็นตัวบอก เป็นการทำนายเพราะเป็นชุมชนที่อยู่กับน้ำและพื้นที่การเกษตรที่เข้าใจ และรู้ทันน้ำดี สาม-สสส. เข้าไปสงเสริมจัดตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติ หมายความว่าโดยการสอนในการระดมทุน มาจากกองทุนเล็กกองทุนน้อย เช่น เงินปันผลที่ต้องกักเข้ากองทุนภัยพิบัติฯ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อครั้งเป็นต้น”
โครงการภายใต้การทำงานของ สสส.นั้นถือว่ามีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน เพราะเราช่วยหนุนเรื่องการปกครองท้องถิ่น ท้องถิ่นเองเขาก็มีศักยภาพในการจัดการเรื่องนี้ได้ ดวงพร ย้ำถึงสิ่งสำคัญในการก้าวผ่านวิกฤติ คือผู้นำต้องปล่อยให้ชุมชนแสดงศักยภาพของออกมาใช้ให้เต็มที่ ให้ชาวบ้านได้เข้ามาร่วมในการจัดการทรัพยากร
..........
แม้จะมีการหยิบยกโมเดลที่ประสบความสำเร็จของต่างประเทศเข้ามาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ แต่สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่การร่วมมือร่วมใจของชาวไทย และการแสดงศักยภาพของท่านผู้นำที่เปิดโอกาสให้ผู้ทรงภูมิจากแขนงต่างๆ ของประเทศเข้ามาจัดการดูแล ไม่ใช่สักแต่ร้องขอต่างชาติให้เข้ามาช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่าชาวไทยเองมีความรู้ความสามารถที่จะหยิบยกทฤษฎีของโมเดลรับมือภัยพิบัติต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับถิ่นฐาน ซึ่งส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชาวไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้คงเป็นเรื่องของความเป็นเอกภาพ..
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK