"พระเจ้าอยู่หัวท่านสร้างหลักว่าจะทำอะไรต้องเข้าใจและเข้าถึง ปัญหาคือตอนนี้ทุกคนไม่รู้ว่าปัญหามันมาจากอะไร เพราะอะไร ธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน สภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ แต่ละพื้นที่แต่ละลุ่มน้ำแตกต่างกัน และพฤติกรรมของน้ำในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน งานนี้ยังไงก็ต้องมีแม่ทัพ หากไม่มีผู้บัญชาการอย่างคนที่รู้จริงๆ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เวลานี้แก้ปัญหาเลอะเทอะสะเปะสะปะกันไปหมด"
หมายเหตุ - ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สัมภาษณ์ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน บุคคลอีกผู้หนึ่งที่เฝ้าติดตามวิกฤตปัญหาน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะเกษียณอายุมาเป็นเวลานานถึง 12 ปีแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำมาตลอดชีวิต จนถึงทุกวันนี้ หากไม่ติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ก็มักจะเดินทางเข้ามาสำรวจปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าเขื่อนกรมชลประทานแทบทุกวัน ก่อนให้ข้อมูลด้วยความมั่นใจว่า ประชาชนในกทม.ไม่ควรตื่นตระหนกกับสถานการณ์ในขณะนี้เกินเหตุ
00 อยากให้อาจารย์ประเมินสถานการณ์น้ำในกทม.จะรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายวิตกหรือไม่
ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกรมชลประทาน ผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้าขณะนี้เป็นกรณีเหมือนที่เคยเกิดในอดีต เป็นปกติไม่ได้มากมายชนิดที่จะต้องหวาดวิตก หากดูปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนบางไทรซึ่งเป็นต้นทางที่จะเข้า จ.ปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะแปรผันอย่างวิปริต แล้วน้ำที่ไหลจากเจ้าพระยาที่จะเข้ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ไหลพรวดพราด เหมือนน้ำที่ นครสวรรค์ และอยุธยา ระดับจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ปริมาณจะค่อยๆ เปลี่ยนไป
เวลานี้เราต้องดูระดับน้ำที่ผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า ต้องตรวจวัดกันทุกวัน ในช่วงที่จะขึ้นสูงสุดทุกวัน ซึ่งระดับน้ำตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกวัน หากมีน้ำทะเลหนุนสูงก็จะมีช่วง 14-15 ต.ค. ซึ่งน้ำทะเล จะหนุนสูงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าที่สันดอน ที่ช่วงนี้จะหนุนสูงกว่าปกติประมาณ 20 เซนติเมตร ระดับความสูงจะค่อยๆ เรียงลงมา ระดับอาจจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 15 ต.ค. (ณ วันที่ 18 ต.ค. 2554 กทม.ระบุว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งช่วง 28-30 ต.ค. 2554)
00 แสดงว่าปริมาณน้ำในขณะนี้ไม่น่าวิตกและไม่จำเป็นต้องประกาศแผนฉุกเฉิน
วิเคราะห์ตัวเลขแล้วไม่เห็นจะน่าวิตกเลย และตัวเลขแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะเมื่อก่อนยิ่งกว่านี้อีก การประกาศภาวะฉุกเฉินต้องหมายความว่ากทม.ล้มระเนระนาด เอาไม่อยู่ ผมก็สงสัยว่าเอาไม่อยู่คืออะไร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.และผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกทม.ก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า คันกั้นน้ำของเขาระดับที่กทม.ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าสูง 2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง แล้วขึ้นเรื่อยไปที่ปทุมธานีและนนทบุรี แล้วยังไงต่อ จะบอกไม่แน่ใจไม่ได้ เพราะการจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องของปีนี้ปีเดียว
00 พายุบันยังที่กำลังจะมาทำให้คาดเดาปริมาณฝนเพิ่มขึ้นหรือไม่
ยังไม่มาหรอก พายุจะเข้าหรือไม่ยังไม่ทราบ มันอยู่ไกลตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะมินดาเนา และเวียดนามอาจต้องรับเคราะห์ก่อนเรา ทิศทางของพายุเราจะโดนแค่หางๆ อาจจะผ่านภาคกลางหรือกทม.ฝนตกตรงๆ คงจะไม่เข้าไปที่ภาคเหนือแน่นอน เพราะร่องความกดอากาศมันเปลี่ยน ทิศทางเกิดในละติจูด 5 องศา ใกล้กับแนวศูนย์สูตรแล้ว แต่ตรงนี้จะทำให้เกิดฝนตก น้ำขัง ล้อมรอบสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งขังก็ต้องสูบออกในพื้นที่ภาคตะวันออกนอกคันกั้นน้ำจะเกิดน้ำขัง ตั้งแต่เขต มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง บึงกุ่ม พื้นที่พวกนี้จะเกิดน้ำขัง
ซึ่งต้องเข้าใจว่า น้ำฝนขังมันคนละน้ำกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เพราะฝนตกแผ่กระจายลงไปในทุ่ง ตกในกทม.ก็จะไม่ออกแม่น้ำ เพราะน้ำเยอะ ก็ต้องเกิดน้ำท่วมขัง กทม.ก็ต้องสูบออก มันแยกน้ำกันอยู่ในตัวแล้ว
น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจะมาจากอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ฝนตกในภาคกลางจะตกอยู่ในพื้นที่รวมกอง ทำให้มีน้ำขัง ออกเจ้าพระยาไม่ได้ เพราะเจ้าพระยาสูง และเหตุการณ์ที่จะเกิดไม่ใช่ 2-3 วันนี้ แต่อีก 7 วันข้างแน่นอน แต่ถ้าพายุมาเวียดนามจะต้องรับเคราะห์ก่อนไทย ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมีสติแยกน้ำให้ออก ผมไม่กลัวหรอกหากฝนตกตรงๆ ในพื้นที่ขัง มันสูบออกได้ น้ำที่ผ่านกทม.เป็นน้ำข้างบนจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน อย่างเดียว ซึ่งยังไม่เคลื่อนลงมาเต็มๆ มันยังไม่รวมตัวเป็นจุดใหญ่ทีเดียวที่นครสวรรค์ ที่ต้องจับตาคือ แม่น้ำปิง ซึ่งเป็นสายน้ำที่แปรผัน เนื่องจากฝนตกที่ จ.กำแพงเพชร จ.ตาก
เวลานี้มวลน้ำแม่น้ำปิงกำลังเคลื่อนย้ายมานครสวรรค์ ผมก็ตรวจสอบปริมาณน้ำที่นครสวรรค์ทุกชั่วโมง มันไม่มีขยับยังคงที่ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำปิงมวลใหญ่มาก็ต้องขยับ แต่ตรงนี้อย่างนำไปโยงกับเขื่อนคันกั้นน้ำที่นครสวรรค์แตก เราต้องดูตัวมวลน้ำว่ามันขยับขึ้นหรือไม่ เป็น 4,600 -4,700 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ก็ลงมาที่เขื่อนชัยนาท ซึ่งคงที่มาหลายวันที่ระดับ 3,640 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นี่คือมวลน้ำที่จะเข้ามาต่อเนื่องที่กทม.และมวลนี้จะมาสมทบกับแม่น้ำป่าสักตอนล่าง แม่น้ำป่าสักถ้าพายุไม่เข้าปริมาณน้ำก็ลงลงทุกวัน น้ำมวลนี้ไปไหนไม่ได้ ก่อนที่มากรุงเทพ ถึงเขื่อนเจ้าพระยา เขาก็แจกมาข้างๆ ลง ท่าจีน บางปะกง ก็เหลือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในระดับคงที่
00 ถ้าระดับน้ำไม่น่าวิตกเหตุใดประชาชนจึงแตกตื่นมาก
ปัญหาหลักเกิดจากพื้นที่ 3 จุดใหญ่ๆ นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ระเบิดเอาไม่อยู่ คันกั้นน้ำพัง ก็เลยมาวาดภาพว่ากทม.คงจะเหมือนกัน ผมก็บอกหลายครั้งแล้วว่าไม่เหมือนมันคนละพฤติกรรมน้ำและคนละพฤติกรรมพื้นที่ บ้านหมี่ ท่าวุ้ง ลพบุรี พื้นที่เป็นท้องกะทะใหญ่ มีคันกั้นน้ำสู้ แต่ประตูระบายน้ำคันมันขาด ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว
00 ทำไมรัฐบาลจึงไม่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจเหมือนอย่างที่อาจารย์กำลังอธิบาย
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ากรมชลประทานไปไหนหมด ทำไมไม่พูด ธรรมดาเวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤติอย่างนี้ต้องมีแม่ทัพน้ำ คอยบัญชาเหตุการณ์วิกฤติทั้งเรื่องน้ำและที่กั้นน้ำ จะมาบอกที่โน่นที่นี่พังของประชาชนพังก็ต้องบอกว่าที่พังของประชาชน กทม.ต้องตรวจสอบระบบคันกั้นน้ำของตัวเองว่าอยู่ดีหรือไม่ ก็ไม่พูด ผู้ว่าฯกทม.บอกว่า แข็งแรงๆ ก็ต้องกล้าฟันธง และต้องเชื่อมโยงไปที่นนทบุรี ปทุมธานีด้วยว่าสภาพคันน้ำน้ำยังดีอยู่หรือไม่ แข็งแรงหรือไม่ ตอนนี้ใครเป็นแม่ทัพน้ำ
ในยุคก่อน ผู้หลักผู้ใหญ่ของกรมชลประทานจะมาบัญชาการเอง เพราะรู้เรื่องน้ำดีที่สุด แต่เวลานี้ไม่รู้อะไร และทำอะไรไม่ได้ นอกจากสู้ ก็ต้องถามว่าจะสู้หรือไม่ สู้ก็ต้องถามว่าสู้อย่างไร ทำไมไม่เอาเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ มาวางแนวทางกั้นน้ำฝนกทม.ที่เชื่อมกับปริมณฑล ต้องรู้ว่า น้ำท้ายคลองรังสิต เป็นอย่างไร ระบบวางไว้ให้แล้ว การป้องกันอยู่ที่ไหน ตรงไหนจำเป็นต้องเสริม ต้องซ่อมแซม ขณะนี้ไม่มีใครตอบได้
00 ขณะนี้ดูเหมือนว่าระบบการบริหารจัดการและการป้องกันน้ำของแต่ละจังหวัดล้มเป็นโดมิโน
มันต้องล้มครับ เพราะทุกแห่งสู้น้ำหมด ผมก็บอกว่าสู้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะน้ำไม่สามารถไปอยู่ที่ที่เคยอยู่หรือที่ที่เคยรวมกองได้ มันก็สร้างตัวเองขึ้นมาเป็นระดับน้ำสูงพลังมันก็เยอะ คันทำไว้ไม่ดีก็ล้มระเนระนาดจนดูเหมือนน้ำเยอะ ทั้งๆ ที่มวลน้ำมันก็เท่าเดิม แต่ความสูงมันเยอะ แต่ทีนี้พอมาถึงกทม.มวลน้ำก็มวลเดิม แต่ความสูงไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันแผ่กระจายลงมา สถานการณ์น้ำเป็นเรื่องที่ต้องเกาะติดเพื่อจะบอกเหตุการณ์ ว่าอะไรสำคัญที่สุด แต่ละจังหวัดที่เหตุการณ์เกิดขึ้น 10 กว่าปีไม่ใครสนใจจะแก้ปัญหาเลย ไม่มีจริง เมื่อปีกลายก็มีปัญหา ให้รวมตัวสร้างหลักคิด หลักทำ
พระเจ้าอยู่หัวท่านก็สร้างหลักว่า จะทำอะไรต้องเข้าใจและเข้าถึงนะ ปัญหาคือ ตอนนี้ทุกคนไม่รู้ว่าปัญหามันมาจากอะไร เพราะอะไร ธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน สภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ แต่ละพื้นที่แต่ละลุ่มน้ำแตกต่างกัน และพฤติกรรมของน้ำในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน งานนี้ยังไงก็ต้องมีแม่ทัพ หากไม่มีผู้บัญชาการอย่างคนที่รู้จริงๆแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เวลานี้แก้ปัญหาเลอะเทอะสะเปะสะปะกันไปหมด
00 รัฐบาลยังพอมีเวลาที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือไม่
ตอนนี้ทำอย่างนี้ถูกแล้ว คือ เผชิญภัย ด้วยการช่วยเหลือผู้ประชาชนไปก่อน โดยให้มหาดไทยเป็นแกน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายรัฐบาลต้องตั้งสติว่า ในอนาคตข้างหน้าจะทำอย่างไร ไม่ใช่คิดแบบเดิม อยากจะทำอะไรต้องตั้งงบประมาณ เสนอครม.มาทำยังนี้ไม่สำเร็จ เพราะถ้าคิดโดยไม่รู้ ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ ผมบอกได้เลยว่า สตางค์ แก้ปัญหาไม่ได้หรอก ตอนนี้หากเขื่อนหยุดพร่องน้ำลงมาก็อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
00 การตั้งศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่
ดูองค์ประกอบแล้วไปไม่ได้หรอก แต่ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการช่วยเหลือประชาชนก็พอไปได้ แต่ควรให้มหาดไทยเป็นผู้ดูแล เพราะตอนนี้งานหลัก คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยส่วนกรมชลฯควรจะถอยออกมาก่อน ส่วนกรมชลจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร ประเมินให้เขาให้ถูก และต้องมีกระบวนการตั้งรับที่ชัดเจน คันกั้นน้ำ ที่ไหนมีจุดอ่อน ต้องสำรวจ เฝ้าระวัง วิธีการที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ ปกป้องไม่ให้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปในเขตเศรษฐกิจ
00 การพบปะระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์กับยิ่งลักษณ์จะทำให้เหมือนมีการร่วมมือแก้ปัญหาหรือไม่
แก้ปัญหาต้องดูว่าแก้ปัญหาอะไร แก้ปัญหาแบบนักการเมือง มันต้องมาแก้ปัญหาด้านเทคนิคการสู้น้ำกันก่อน ต้องเข้าใจระบบการแก้ไขปัญหาและการป้องกันของกทม. สมัยก่อนอุปกรณ์ไม่พร้อม เราก็สู้ได้ แต่ทีนี้จะสู้ไม่ได้ก็เพราะปอดแหกกัน ออกข่าวมา ระดับน้ำทะเลหนุนสูง มวลน้ำป่าสักมามากจะเกิดปัญหา พายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามา พูดทิ้งไว้อย่างนี้ประชาชนก็กังวล
00 แสดงว่าการแก้ไขปัญหาในอนาคตเราก็ต้องมาบริหารจัดการใหม่ โดยเฉพาะเรื่องชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม
เราต้องเอาของจริงมาคิด ว่าตัวน้ำแต่ละปีเป็นยังไง ต้องเข้าภูมิประเทศแห่งนั้น ๆ เข้าภูมิประเทศของกทม. ทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก กทม.เชื่อมกับสมุทรปราการ ออกปากอ่าว จะปกป้องกทม.ยังไงไม่ให้กระทบกับที่อื่น จะทำคันกั้นน้ำอย่างไรให้ไม่ให้กระทบถ้า อ่างทองทำคันกั้นน้ำ สิงห์บุรีทำคันกั้นน้ำ มันก็จะกระทบตลอดมาด้านล่าง กทม.เป็นพื้นที่แบนราบ ก็ต้องแยกเป็น 2 ส่วนว่า ด้านตะวันออกเป็นเขตเศรษฐกิจหรือเปล่า
00 นักการเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือไม่
ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคคงต้องปล่อยให้ผู้มีความรู้เรื่องน้ำเป็นผู้ตัดสินใจ แต่นักการเมืองต้องมาเป็นตัวช่วยในการช่วยเหลือประชาชน อนุมัติงบประมาณ พิจารณาหลักการในการแก้ไขปัญหาในครม. โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากนักเทคนิค แต่ขณะนี้ปัญหากลายเป็นว่าแม่ทัพน้ำในระบบราชการถูกนักการเมืองครอบงำหมดแล้ว จึงทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทั้งที่การแก้ปัญหาอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ นักน้ำ ผู้เชี่ยวชาญน้ำ จะต้องเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์หลัก
ในหลวงเคยตรัส เมื่อปี 2533 ว่า ไม่มีใครต้องการให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องเข้าใจภัยธรรมชาติ และให้ภัยธรรมชาติเป็นครูที่จะสอนเรา ซึ่งผู้ปฏิบัติหรือผู้มีหน้าที่โดยตรงต้องนำไปแปลว่าจะทำอย่างไรการแก้ไขเรื่องน้ำ จะเดาส่งแบบหมอดูไม่ได้ กรมชลประทานในฐานะนักเทคนิค จะต้องมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจกับนักการเมืองไม่ให้ถูกครอบงำได้ โดยนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายอำนวยการมีบทบาทในการประสานเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้คล่องตัว
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2554)