xs
xsm
sm
md
lg

อุทกภัย: วิกฤต (ไม่) เป็นโอกาส

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘วิกฤตเป็นโอกาส’ เป็นคำกล่าวแห่งความหวังสำหรับผู้อยู่นอกวงวิกฤต แต่กับผู้ตกอยู่ในห้วงวิกฤตนั้นใช่ว่าวิกฤตทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดจากพิบัติภัยธรรมชาติผสานกับความผิดพลาดของมนุษย์ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ดังกรณีอุทกภัยที่แผ่ขยายคลื่นความเสียหายไปทั่วประเทศเวลานี้ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงบ้านเรือนนั้นนอกจากจะฉายชัดถึงความด้อยประสิทธิภาพของแผนระดับชาติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญานใดๆ จากภาครัฐว่าจะสามารถพลิกวิกฤตอุทกภัยเป็นโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำที่นับวันจะสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และไม่เท่าทันความรุนแรงได้แต่อย่างใด

ในความพยายามที่ล้มเหลวของการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤตการณ์อุทกภัยในปัจจุบันที่ไม่อาจทำได้สำเร็จนั้น ไม่เพียงเพราะแนวนโยบายและมาตรการที่กำหนดออกมาไม่สัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ ดังการประเมินมวลน้ำที่ไหลเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ จนพนังกั้นน้ำที่ป้องกันเขตพื้นที่โบราณสถาน อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจราวกับ ‘ไข่ในหิน’ พังทลายจนน้ำท่วมทั้งหมด รวมถึงก่อนหน้านั้นก็ขาดระบบเตือนภัยและช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากพอจะหยุดยั้งการสูญเสียชีวิตประชาชน 269 คน สูญหาย 4 คน เดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน

โดยสองเดือนกว่าที่ผ่านมา ชาวนครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ผสานการบริหารจัดการแบบเลือกปฏิบัติของรัฐ กระทั่งความหวังว่าบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาจะรอดปลอดภัยพังทลายลงเรื่อยๆ ซึ่งกำลังจะเป็นเช่นเดียวกันกับความหวังชาวกรุงเทพฯ บางส่วนที่จะมอดดับลงเพราะผจญน้ำท่วมและน้ำท่วมขัง ทั้งนี้เพราะเอาเข้าจริงแล้วนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่สามารถป้องกัน บรรเทา แก้ไขวิกฤตอุทกภัยได้ทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าและระยะยาวได้แต่อย่างใด อีกทั้งในศูนย์กลางก็ยังมีศูนย์กลางที่ต้องปกป้องมากกว่า การเผชิญความเสียหายที่เหลื่อมล้ำจึงเข้าใกล้ศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ หลังชายขอบและศูนย์กลางของแต่ละจังหวัดถูกน้ำท่วมแล้ว

ไม่นับก่อนวิกฤตอุทกภัยยืดเยื้อยาวนานไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการน้ำกว่า 50 ฉบับ มีงบประมาณบริหารจัดการน้ำหลายหมื่นล้านบาท มีฝาย อ่างเก็บน้ำ คูคลองมากมาย ทั้งยังมีเขื่อนขนาดใหญ่ 45 เขื่อน เขื่อนขนาดกลางและเล็กราว 14,000 เขื่อน ซึ่งเก็บกักน้ำได้ถึง 78,123 ล้านลูกบาศก์เมตร

การกอบกู้สถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นมาเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์บัญชาการที่รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาและมีปฏิบัติการคอลเซ็นเตอร์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากน้ำท่วมเพื่อบูรณาการหน่วยงานและกำหนดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ทว่าถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่ใช่สัญญาณของการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสแต่อย่างใดเพราะยังคงมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลักแม้ว่าตัวศูนย์เองจะมีศักยภาพในการมองไปข้างหน้ากว่านี้ถ้ามุ่งกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปยังท้องถิ่นที่มีสมรรถนะป้องกันอุทกภัยได้ดีกว่าส่วนกลาง

ด้วยในการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจสั่งการ ดังเช่น ศปภ. แม้มีข้อดีด้านการกำหนดยุทธศาสตร์และการควบคุมการปฏิบัติการ หากแต่ก็มีความล่าช้าในการตัดสินใจที่ไม่เท่าทันสถานการณ์และการเผชิญเหตุเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขทันที ดังหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านที่เดือดร้อนแสนสาหัสเข้าไม่ถึงอาหาร น้ำดื่ม ยา เพราะห้ามแจกพื้นที่นั้นแม้เป็นของที่รับบริจาคมาก็ตามที

และที่สำคัญการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะไม่สามารถเข้าถึงเรือซึ่งเป็นยานพาหนะชนิดเดียวในการเดินทางเข้าพื้นที่ห่างไกลที่การช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐเข้าไม่ถึงทั้งจากการขาดเรือและจัดลำดับความสำคัญไปช่วยเหลือพื้นที่อื่นแทน อีกทั้งการตัดสินใจว่าจะออกเรือหรือให้สิ่งของบริจาคก็ไม่ได้ขึ้นกับคำอ้อนวอนร้องขอของผู้ประสบภัย แต่เป็นคำสั่งบังคับบัญชาที่มีตั้งแต่ระดับกำนัน นายกเทศมนตรี นายอำเภอ ไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด


การบริหารจัดการเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจึงเป็นปัญหาหนักหนาของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ ศปภ. เท่าๆ กับการกำหนดมาตรการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังแผ่ขยายคลื่นความเสียหายไปยังศูนย์กลาง ทว่าที่ถูกมองข้าม ละเลย และลดทอนลงไปในขณะนี้แต่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อนาคตประเทศคือการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยจากน้ำ นอกเหนือไปจากการขายไอเดียบางระกำโมเดลที่อ้างว่าแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน หรือการพยายามขุดเขื่อนขึ้นมาใหม่ของนักการเมืองซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อถกเถียงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ เพราะถึงวันนี้ภาครัฐก็ยังไม่มีการกำหนดนโยบายและมาตรการระยะยาวในการป้องกันอุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงและจำนวนครั้งที่ถี่บ่อยขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่ปีหน้าสถานการณ์น้ำท่วมอาจรุนแรงเลวร้ายกว่านี้ก็ได้

มากกว่านั้นรัฐต้องเร่งปฏิรูปกลไกการบริหารนโยบายการจัดการน้ำใหม่ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อติดตามสภาพการบุกรุก รุกล้ำและละเลยต่อการทำงานพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำ และทางระบายน้ำหลากให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ควบคู่กับการจัดการคืนสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกโดยกลุ่มทุนและการเมืองเพื่อปกป้องพื้นที่ป่า

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐจึงต้องมองความเชื่อมโยงของข้อมูลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลของการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมากเท่าใด พายุเข้าที่ไหนและกี่ลูกด้วยกัน เพื่อมาบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานเพื่อวางแผนในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย ในช่วงอุทกภัยก็ต้องประเมินศักยภาพการป้องกันของพนังกั้นน้ำต่างๆ บนข้อเท็จจริง เพราะไม่คุ้มค่าที่จะแขวนชีวิตประชาชนไว้ในความไม่แน่นอนทางวิศวกรรมหรือกลไกชลประทานที่อาจคำนวณผิดพลาด ดังการประเมินมวลน้ำผิดพลาดจนสร้างความเสียหายมหาศาล ขณะที่ถ้ามีการอพยพออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนก็จะไม่มีความสูญเสียเท่านี้

ที่สำคัญรัฐต้องเรียนรู้การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของระดับปัจเจกบุคคลที่ประสบอุทกภัยที่บางคนทอดแหหาปลากลางถนนน้ำท่วมขัง ใช้เรือหางยาวรับจ้างขนคนขนของ หรือการพลิกวิกฤตความเห็นแก่ตัวของผู้คนที่กลับมามีจิตอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลผู้เดือดร้อนทั้งในรูปสิ่งของและเงินบริจาค โดยการใช้ห้วงวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงเพื่ออนาคตประเทศไทยจะไม่สูญเยจากพิบัติภัยทางน้ำมหาศาลเท่าปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น