xs
xsm
sm
md
lg

เงินอย่างเดียวแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำท่วมยังไม่ทันจะลด รัฐบาลก็ตั้งท่าจะกู้เงินอีกหลายแสนล้านบาท อ้างว่าเพื่อใช้ในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งประชาชนและธุรกืจ รวมทั้งการลงทุนเพื่อสร้างระบบป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำโดยรีบด่วนทันทีที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทั้งการให้ความช่วยเหลือแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหลายแสนคนที่ตกงานทันที และไม่รู้ว่าจะต้องตกงานไปอีกนานเท่าใด การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมแซมบ้านเรือน ทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม การให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรและภาคธุรกิจที่ไร่นา โรงงาน เครื่องจักรต้องพังพินาศจากน้ำท่วม

การกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่สำหรับการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนในระบบการป้องกันน้ำท่วมไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต น่าจะเป็นการรีบร้อนเกินไปจนอาจจะถูกตั้งข้อครหาว่ารัฐบาลซึ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการแก้วิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งนี้กำลังจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าเรามีองค์ความรู้เรื่องน้ำอยู่มากพอสมควร นักวิชการด้านน้ำ ข้าราชการกรมชลประทานที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะผ่านสื่อ ล้วนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง

ขาดอยู่อย่างเดียวคือการนำความรู้ความเข้าใจนี้ไปปฏิบัติให้เป็นจริงเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ทำ หรือทำแบบมีผลประโยชน์แอบแฝง

การลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมต้องใช้เงิน แต่อาจจะไม่ต้องใช้เงินมากถึง 1-2 แสนล้านบาท เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการจัดการน้ำมีอยู่มากพอสมควรแล้ว คือ คูคลอง ระบบประตูน้ำที่จะเป็นเครื่องมือในการระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่ทะเล

สิ่งที่หายไปคือการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีสมดุลระหว่างการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลนได้อย่างพอเพียง กับการระบายน้ำลงสู่ทะลในยามที่น้ำมีมากเกินไป ได้ทันเวลา

ก่อนจะกู้เงินนับแสนล้านบาท เพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม รัฐบาลรู้สาหตุที่แท้จริงของน้ำท่วมใหญ่หนนี้หรือยัง มีคำตอบที่ชัดเจนกว่า “น้ำมากกว่าทุกปี –ประเมินสถานการณ์น้ำผิด” หรือไม่ ตอบได้ไหมว่าทำไมเขื่อนภุมิพลจึงไม่ระบายน้ำแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมแต่กลับเก็บน้ำไว้จนเต็มเขื่อน จนเห็นว่าไม่ไหวแล้วจึงระบายน้ำพรวดทีเดียววันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งถุกตั้งเป็นข้อสังเกตว่าทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลบ่าไปทั่วลุ่มน้ำภาคกลาง ทะลายนิคมอุตสาหกรรมตามรายทางแห่งแล้วแห่งเล่าจนราบพนาศูร และกำลังมาจ่อที่ปากประตูเมืองหลวงในขณะนี้

ก่อนจะกู้เงินมานับแสนล้านบาท รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการน้ำแล้วหรือไม่ หรือคิดแต่เรื่องโครงการก่อสร้างเท่านั้น

ในรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศ ของสำนักงานตรจเงินแผ่นดินที่ส่งไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า มีปัญหาการขาดการประสานงานและบูรณาการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังพบว่าการดำเนินงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลัก ซึ่งทุ่มงบไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2552 ไม่น้อยกว่า 160,591.86 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างเป็นระบบและไม่ยั่งยืน การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่า

สตง.ยังรายงานว่า ได้สุ่มตรวจสอบ 171 โครงการ ใน 35 จังหวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 14 ลุ่มน้ำหลัก 68 ลุ่มน้ำสาขา ที่ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2552 วงเงิน 1,637.34 ล้านบาท ภาพรวมยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวม 96 โครงการ หรือ 56.14% ของจำนวนโครงการที่เข้าตรวจสอบ

“มูลค่าโครงการที่สุ่มตรวจเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ได้ หรือแก้ได้น้อยไม่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของพื้นที่ เป็นเงิน 764.21 ล้านบาท และบางโครงการก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดขัดแย้งระหว่างประชาชนในชุมชนระยะยาวด้วย”

สตง.ยังชี้ว่า โครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาตามกระบวนการขององค์กรลุ่มน้ำ การจัดทำข้อมูลรายละเอียดแผนงาน/โครงการไม่ชัดเจน ไม่สามารถนำไปใช้สำหรับการพิจารณากลั่นกรองและวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามลำดับความสำคัญและจำเป็น ส่งผลให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำไม่บรรลุตามเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ระบบการพิจารณาและจัดสรรงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำมุ่งเน้นต่อการแก้ไขปัญหาโดยพื้นที่เป็นหลัก

“งบประมาณด้านทรัพยากรน้ำยังเป็นลักษณะเบี้ยหัวแตก การใช้จ่ายเงินตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่าในเชิงภารกิจของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ” สตง.ระบุ

รายงาน สตง.ทิ้งท้ายว่า ขอให้นายกฯ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ปรับปรุงและแก้ไขการดำเนินงาน อาทิ การพิจารณาศึกษาถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการเป็นระบบลุ่มน้ำ การกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพหลักพร้อมทั้งอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น