xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี ศุภราทิตย์” ต่อสู้ “ภัยพิบัติ” เพื่อมวลมนุษยชาติ คอลัมน์ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เสรี ศุภราทิตย์
“เสรี ศุภราทิตย์” ต่อสู้‘ภัยพิบัติ’เพื่อมวลมนุษยชาติ
โดย...ภาวิณี เทพคำราม

ในห่วงเวลาแห่งมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” วิศวกรผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่หลายต่อหลายคนใจจดจ่อเฝ้าหน้าจอฟังการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ด้วยข้อมูลที่เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย

และหากย้อนถึงการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่า รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทุ่มเทและเสียสละในการทำงานอย่างมาก

โดยเฉพาะช่วงกว่า 2 ปีผ่านมา รศ.ดร.เสรี ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานประสานให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ โดยการให้ข้อมูลเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวกับภัยพิบัติที่หน่วยงานรัฐมองข้าม เพื่อให้ประชาชนเตรียมการณ์รับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

รศ.ดร.เสรีเล่าว่า ตั้งแต่เมื่อปี 2552 ได้บอกกับทางรัฐบาลถึงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครภายใน 10 ปี แต่ไม่อาจระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นในปีไหน เนื่องจากว่าพบข้อมูลว่ามีปริมาณฝนที่มากขึ้น และระบบผังเมืองที่ไม่ค่อยดีนัก อีกทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และแผ่นดินที่ทรุดตัว

“ในตอนนั้นเราได้ประเมินความเสียหายบนพื้นฐานที่ว่าไม่ได้มีการต่อสู้กับภัยพิบัติด้วยวิธีใดๆ ประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากว่ายังไม่มีใครออกมาหาวิธีป้องกันอย่างชัดเจน จนเหตุการณ์ต่างๆที่เคยคาดการณ์ไว้มาถึงจริงๆ เรารู้ข้อมูลว่าจะเกิดความเสียหาย และส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ออกมาร่วมแก้ไขปัญหาและหาทางออกในการฝ่าวิกฤตให้กับประชาชน”

ทว่า ในบทบาทของการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ของ รศ.ดร.เสรี เล่าว่า ส่วนใหญ่จะเปิดสอนเทอมละ 2 วิชา ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับ Hydraulics และ Engineering ในระดับปริญญาตรี สำหรับคณะวิศวกรรม จุลศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องน้ำโดยตรง และในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะเลือกวิชาเฉพาะ เช่น Flood Engineering, Storm Surge, Tsunami Engineering เป็นต้น

“อาจารย์ที่ปรึกษาของผมตอนเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิที่เก่งที่สุดในโลก บอกกับผม ว่า การเรียนเกี่ยวกับด้านนี้จะไม่ได้รับการตอบแทนเป็นเงินทอง แต่สิ่งที่จะได้คือ การได้ช่วยมวลมนุษยชาติ และชีวิตของเขาคือการทำงานเพื่อมนุษยชาติ”

รศ.ดร.เสรี บอกอีกว่า การมองหาใครสักคนที่ทำงานเพื่ออุทิศตัวเองเพื่อสังคม และทำงานด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริงนั้น ยังคงเป็นเรื่องยากในสังคมไทย สำหรับตนเองเชื่อมั่นว่า มีจิตวิญญาณที่แน่วแน่ในการทำเพื่อส่วนรวม และสิ่งที่กำลังพยายามทำต่อจากนี้ คือ การสร้างคน อย่างน้อยต้องสร้างเพื่อให้แต่ละคนถนัดในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน แต่หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาเหล่านั้นว่าจะทำเพื่อสังคมต่อไปหรือไม่

“เป็นไปได้ยากที่บัณฑิตใหม่ จะอุทิศชีวิตการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างเดียว คนเราทุกคนย่อมต้องการสร้างต้องรากฐานที่มั่นคงให้กับตัวเองก่อน แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ขอให้คิดถึงประเทศชาติ คิดว่า จะช่วยเหลือประเทศได้อย่างไรโดยเฉพาะกับภัยพิบัติเหล่านี้ที่จะเพิ่มมากขึ้นแน่นอนในอนาคต” รศ.ดร.เสรี ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น