xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” แย้ง ศปภ. ยันเป็นไปไม่ได้ กทม.น้ำลดใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เสรี” แจงน้ำจ่อเข้า กทม.อีก 900 ล้าน ลบ.ม. แต่เข้ามาวันละแค่ 15 ล้าน ลบ.ม. ทำให้อย่างน้อยต้องใช้เวลาระบายถึง 60 วัน ไม่มีทางที่ 2 อาทิตย์ลด ส่วนอนุสาวรีย์ชัยฯ จะท่วมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคลองบางซื่อเป็นหลัก หากเครื่องสูบน้ำเสียก็เสร็จ

วันที่ 10 พ.ย. เวลาประมาณ 20.00 น. ร.ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในรายการทางช่องไทยพีบีเอสว่า การที่ ศปภ.บอกว่าน้ำจะลดใน 2 สัปดาห์ มันไม่ใช่แค่มวลน้ำอีกประมาณ 900 ล้าน ลบ.ม.ที่กำลังจะเข้ามายัง กทม. แต่ยังมีน้ำอีกจำนวนมากที่เข้ามาแล้ว ทำอย่างไร 2 อาทิตย์ลด เป็นไปไม่ได้เลย คำนวณตัวเลขดูอีกทีหนึ่ง

มวลน้ำที่เข้ามาแค่วันละประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. แต่ว่าเรามีศักยภาพเยอะมากสูบออกได้ประมาณวันละ 30-40 ล้าน ลบ.ม. แต่เขาไม่ได้มามากขนาดนั้น ฉะนั้น 900 ล้านลบ.ม. มาวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 60 วันแล้ว ฉะนั้นไม่มีทางที่ 2 อาทิตย์ลด

ส่วนการที่รัฐบาลรื้อบิ๊กแบ็กออกบางจุด เป็นสิ่งที่คิดถูก ทำให้หมดกังวลเรื่องน้ำล้นบิ๊กแบ็กไปได้ แต่น้ำจะถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่คลองบางซื่อเป็นหลักว่าจะรับไหวหรือไม่ ถ้าเครื่องสูบน้ำน็อกก็แย่

“ทีมกรุ๊ป” ยันหลัง 24 พ.ย. กรุงเทพฯ พ้นวิกฤต

นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ บริษัท ทีมกรุ๊ป กล่าวในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ โดยประเมินว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก จะคลี่คลายจากสถานการณ์น้ำท่วมภายใน 2 สัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 24 พ.ย.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่หลายจังหวัดตอนเหนือของกรุงเทพฯ มีน้ำลดลงทุกวัน เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำลดลง 3 ซม.ต่อวัน รวมทั้งหลังช่วงเทศกาลลอยกระทงไปแล้วจะเป็นช่วงน้ำทะเลลง ซึ่งช่วยให้แม่น้ำสายหลักต่างๆ เช่นแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนสามารถระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในการระบายน้ำในหลายจุดเริ่มดำเนินการได้ผลดีช่วยให้น้ำไม่เข้ามาเติมในพื้นที่ต่างๆ เพิ่ม

นายชวลิตกล่าวว่า น้ำที่เข้ามาทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวกระสอบทรายบิ๊กแบ็กยาว 6 กม.กั้นอยู่บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้ผลดีสามารถชะลอน้ำให้ลดลงและแบ่งน้ำไปยังคลองหกวาเพื่อผันน้ำออกไปทางตะวันออก ขณะที่น้ำบางส่วนที่ไหลผ่านแนวบิ๊กแบ็กในพื้นที่ที่ประชาชนไม่ยินยอมให้กั้นก็เหลือเพียง 40% จากมวลน้ำทั้งหมดทำให้ภาระน้ำในคลองบางซื่อลดลง และสามารถสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทัน

“ขณะนี้ในพื้นที่ตอนใต้ของเขตบางกะปิลงมา เช่น ถ.รามคำแหงด้านหน้า มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซอยเลขคู่บนถนนลาดพร้าวจะยังอุ่นใจได้ว่าไม่มีน้ำท่วมสูง ซึ่งอาจจะมีน้ำเอ่อบ้างก็เพียงแค่เฉอะแฉะแต่จะไม่ท่วมสูง โดยผ่านวันที่ 15 พ.ย.ที่น้ำทะเลไม่หนุนสูงไปแล้วน้ำจะยิ่งระบายผ่านคลองแสนแสบไปยังคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งจะดึงน้ำไปที่คลองพระโขนงเพื่อสูบออกได้เร็วขึ้น” นายชวลิตกล่าว

ขณะนี้เชื่อว่า มวลน้ำที่ไหลเข้ามาตาม ถ.วิภาวดีรังสิต และ ถ.พหลโยธิน รวมทั้ง ถ.รัชดาภิเษก ที่ไปหยุดอยู่ที่ริมคลองบางซื่อนั้น เป็นจุดสูงสุดและจะไม่รุกล้ำไปไกลกว่านี้แล้ว โดยน้ำเหล่านี้จะไหลลงคลองบางซื่อและถูกสูบออกโดยเครื่องสูบน้ำ 17 เครื่องเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการทำลายคันกระสอบทรายบิ๊กแบ็กก็จะส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมบนถ.วิภาวดี รังสิต ถ.พพหลโยธิน และ ถ.รัชดาภิเษก มีการท่วมขังยยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินเอาไว้

ด้าน ฝั่งตะวันตก คาดว่าช่วงสุดสัปดาห์นี้มวลน้ำจะไหล ถ.พระราม 2 ซึ่งไม่อยากให้มีการกดดันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ถนนถูกกัดเซาะ โดยควรปล่อยให้น้ำไหลข้ามบางๆ สูง 20-30 ซม. เพื่อข้ามไปยังคลองสนามไชย และคลองมหาชัย เข้าสู่แก้มลิงตามแนวพระราชดำริและระบายลงทะเลต่อไป

ขณะที่ กลุ่มพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขตบางพลัด จะเริ่มแห้งต่อเนื่องเพราะสามารถปล่อยน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ส่วนพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี น้ำจะลดลงเนื่องจากน้ำได้แบ่งลงที่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสาขาต่างๆ

ส่วนตอนล่างของพื้นที่ฝั่งตะวันตก เช่น ถ.เพชรเกษม เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตบางบอน เมื่อระดับน้ำเหนือคลองมหาสวัสดิ์ลดลง ทางรัฐบาลก็จะเข้าไปอุดรอยรั่วตามประตูระบายน้ำต่างๆ เช่น ประตูระบายน้ำมหาสวัสดิ์ ประตูฉิมพลี และประตูทวีวัฒนา ซึ่งเมื่อซ่อมแซมรอยรั่วเหล่านี้เสร็จจะทำให้น้ำไม่เข้ามาเติมในพื้นที่เพิ่ม

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้มีการเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองภาษีเจริญเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนแล้ว ขณะที่คลองบางกอกใหญ่ก็จะรับน้ำและเร่งระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน โดยหากดำเนินตามแผนเหล่านี้คาดว่า 2 สัปดาห์น้ำน่าจะลดลง

ทั้งนี้ ทีมกรุ๊ปได้อัปเดตพื้นที่เสี่ยงภัยล่าสุด พบว่า ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่รังสิต ดอนเมือง สายไหม แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน เชื่อมโยงกับถนนวิภาวดี-รังสิต ลาดพร้าว รามอินทรา นวมินทร์ ถนนประเสริฐมนูกิจ พหลโยธิน รัชดาภิเษก มีความเสี่ยงสูงสุด (สีแดง)

ขณะที่ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นเสี่ยงสูงสุดในวงกว้าง มาถึงถนนพระราม 2 อ.นครชัยศรี อ.สามพราน รวมถึงเชื่อมโยงมาถึงถนนพระราม 2
กำลังโหลดความคิดเห็น