ดร.เสรี ชี้ ภาคใต้รับอิทธิพลลานินญา ฝนจะตกต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม "นครศรีธรรมราช" ต้องเร่งทำคลองอ้อมเมือง หาพื้นที่แก้มลิง พื้นที่ชายทะเลต้องถอยร่น ปลูกต้นไม้เป็นแนวปะทะคลื่นทะเล
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริน ธร กล่าวในรายการ "ตอบโจทย์" ถึงกรณีน้ำท่วมที่ภาคใต้ในขณะนี้ว่า สาเหตุเนื่องจากเรายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลานินญา การเกิดลานินญา ทำให้ลมตะวันออกแรงขึ้น ลม ตะวันออกจะพัดความชื้นใส่ประเทศไทย และมาเลเซีย ซึ่งปรากฏการณ์อากาศแปรปรวนจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-5 ปีอยู่แล้ว จากแบบจำลองโลกที่พยากรณ์ออกมา
กายภาพของภาคใต้ มีภูเขาสูง มีพื้นที่ราบ และพื้นที่ติดทะเล เมื่อฝนตกก็มีน้ำป่าไหลหลากหลังจากนั้นก็ไหลลงสู่ทะเลต่อไป อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำฝนตอนนี้ยังถือว่าน้อย กว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ถึง 3 เท่า ในปีที่ผ่านมาเพิ่งเกิดปัญหาในเดือนมีนาคม แต่ยังไม่ทันได้แก้ไขก็เกิดน้ำท่วมขึ้นอีกแล้ว ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลา จากนี้ต่อไปชาวบ้าน ชุมชน จะต้องพิจารณาร่วมกัน แล้วเสนอต่อรัฐบาลว่าจะอยู่กันอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร ทางออกใดเร็วที่สุดต้องเริ่มทำ เพราะในเดือนมีนาคมปีนี้มีความเสี่ยง ต้องเร่งทำ ต้อง เร่งหาทางออก จากอิทธิพลของลานินญา ทำให้ฝนจะตกต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคมนี้
ดร.เสรี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีฝนตกต่อเนื่อง 3 วันปริมาณน้ำฝน 200 ม.ม. แต่ปีที่แล้วปริมาณน้ำฝน 600 ม.ม. ปริมาณฝนที่ตก ทำให้เรา คาดการณ์น้ำได้ ในปีที่แล้วมีปริมาณน้ำ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้ามาท่วมในเมืองนครศรีธรรมราช 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความสามารถในการระบายน้ำได้วันละ 30 ล้าน ลูกบาศก์เมตร น้ำท่วมอยู่ 10 วัน จึงระบายได้หมด สำหรับปีนี้ปริมาณน้ำฝนเป็น 1 ใน 3 ของปีที่แล้ว ก็น่าจะระบายได้เร็วกว่าปีที่แล้ว
สำหรับภาพระยะยาว ในช่วงกลางปีพ.ศ. 2556 ประเทศไทยจะเข้าสู่ปีแล้ง โดยตลอดปีพ.ศ. 2555 นี้จะมีฝนตกหนัก มีพายุเข้ามามาก แต่ปีนี้น้ำน่าจะน้อยกว่าปี 2554 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ว่ามีการก่อสร้าง หรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำเกิดขึ้นเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้อิทธิพลของลานินญาจะกระทบภาคใต้มากที่สุด
สำหรับทางแก้ปัญหาในระยะยาว ดร.เสรี กล่าวว่า สำหรับจ.นครศรีธรรมราช ทางแก้เมื่อมีฝนตกไหลลงจากเขาหลวงลงมา จะต้องมีคลองระบายน้ำอ่้อมเมือง เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าเมือง แต่ตอนนี้ยังไม่มีคลอง ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ น้ำก็จะท่วมแบบนี้ ส่วนพื้นที่ริมชายฝั่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงคลื่นสูงได้ จะต้องปรับตัว โดยการถอยร่นจากริมชายฝั่ง ต้องกันพื้นที่ไว้ แล้วปลูกป่าชายหาด เช่น มะพร้าว หรือต้นสน เพื่อให้เป็นเข็มขัดสีเขียว เป็นระยะประมาณ 50 เมตร ก่อนจะสร้างบ้านเรือน เวลาที่คลื่นมา ก็จะปะทะต้นไม้ เป็นกันชนให้เรา แต่ปัญหาของเราคือผังเมืองมี แต่ทำได้ยาก
กรณีของภาคใต้ ถ้าเกิดฝนตกหนักจะมี 3 อย่าง คือ น้ำป่าไหลหลากจะให้น้ำลงทะเลเร็วที่สุดก็ต้องขุดขยายคลอง กรณีน้ำล้นตลิ่งจะต้องหาพื้นที่แก้มลิง ส่วนพื้นที่ติดทะเลจะต้องหาคลองผันน้ำ มีประตูระบายน้ำ ทำให้สูบน้ำได้ ต้องมีระบบเตือนภัยจากน้ำป่าไหลหลาก เพื่อเตือนให้รู้ แล้วอพยพหลีกหนีไป โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา ระบบเตือนภัยมีความสำคัญ เช่นที่ อ.นบพิตำ อ.ลานสกา จะทำให้มีเวลาอพยพ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องพิจารณา พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง พื้นที่ที่มีความเสี่ยงถาวร ก็จะต้องย้ายอย่างถาวรเหมือนกัน ถ้าไม่ย้ายหนีก็จะเป็นวงจรให้ต้องย้ายกลับไปกลับมาแบบนี้
ชุมชนจะต้องรู้ตัวเอง ว่าการอยู่ในรอบปี ประกอบอาชีพอะไร ทำอะไร ต้องเริ่มปรับตัว ดูว่าสาเหตุมาจากอะไร การปลูกต้นยาง ถางป่า ปลูกยาง ปลูกปาล์ม จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ การทำพืชเชิงเดี่ยวจะก่อให้เกิดปัญหา การก่อสร้าง และผังเมืองจะต้องปรับปรุง
สำหรับในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้ ดร.เสร กล่าวว่า ในช่วง 1 สัปดาห์จากนี้ ลมตะวันออกเฉียงเหนือจะเบาลง 1 สัปดาห์จากนี้ไม่น่ามีอะไร หลังจากนั้นจะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะปีนี้เป็นปีที่อากาศแปรปรวน เวลาเกิดอะไรจะแรงมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถพยากรณ์ในเชิงละเอียดถึงหมู่บ้าน ถึงจังหวัดได้ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้มีหน่วยวิจัย เพื่อติดตามองค์ความรู้ ข่าวสาร