xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกสึนามิ 7 ปีที่ภูเก็ต ญาติร่วมบางตา-สสค.จัดเวทีให้ความรู้ภัยสึนามิแก่เด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กนักเรียนสนใจเรืยนรู้เรื่องภัยสึนามิ
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - บรรยากาศรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากพิบัติภัยสึนามิครบรอบปีที่ 7 ที่ภูเก็ตเงียบเหงา ญาติทั้งไทยและต่างชาติร่วมพิธีบางตา ด้าน สสค.จัดเวทีให้ความรู้เรื่องสึนามิแก่เด็กนักเรียน

วันนี้ (26 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์พิบัตภัยสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หน่วยงานต่างๆ จึงได้จัดพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ โดยที่กำแพงรำลึกผู้เสียชีวิตจากสึนามิที่สุสานไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต อบต.ไม้ขาว ได้จัดให้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้งศาสนาพุธ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งมีญาติผู้เสียชีวิตมีร่วมอย่างบางตา

ส่วนที่บริเวณสำนักสงฆ์แหลมเพชร หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้จัดให้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบง่าย มีญาติผู้เสียชีวิตมาร่วมพิธีบางตาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ที่บริเวณสวนสาธารณะโลมา ริมหาดป่าตอง องค์การบริการส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ เทศบาลเมืองป่าตองและสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดมหกรรมเด็กไทยเรียนรู้ภัยพิบัติ ชุดการเรียนรู้ สึนามิโมเดล ซึ่งมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในภูเก็ตที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิเข้าร่วม ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านไสน้ำเย็น โรงเรียนบ้านกะหลิม โรงเรียนสตรีภูเก็ต และโรงเรียนอบจ.เมืองภูเก็ต พร้อมทั้งมีการพร้อมโล่ให้แก่เด็กนักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพการเรียนรู้สึนามิ โดยมีนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต เป็นประธาน

ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เรื่องภัยสึนามิแก่เด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในการเฝ้าระวังเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ โดยได้เชิญ ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสสค. ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน

ดร.สมิทธกล่าวว่า การเรียนรู้ในปัจจุบันควรบรรจุการเรียนการสอนภัยพิบัติไว้ในหลักสูตร ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสึนามิ ไฟป่า น้ำท่วม ซึ่งจะทำให้เด็กได้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง และควรให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวตกรรมจากที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการส่งความรู้จากในห้องสู่นอกห้องให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

ดร.สมิทธกล่าวว่า ขณะนี้เหตุการณ์สึนามิได้ผ่านมาเป็นปีที่ 7 แล้ว การดำเนินการในเรื่องของหอเตือนภัยและการป้องกันภัยต่างๆ เป็นเรื่องที่ทำแบบไฟไหม้ฟางทั้งสิ้น เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการวางแผนที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติแต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนแปลงคนทำงานทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบเตือนภัยล้มเหลวไปด้วย อย่างกรณีที่เกิดคลื่นขนาดใหญ่ทางฝั่งอ่าวไทยเมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) ไม่มีการเตือนภัยใดๆที่จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ส่วนกรณีที่มีการออกมาทำนายว่าจะเกิดสึนามินั้น นายสมิทธกล่าวว่า ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำทำนายว่าจะเกิดเหตุการณ์โน่นเหตุการณ์นี้ ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความบังเอิญมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณชายหาดป่าตอง ซึ่งเป็นหาดที่มีชื่อเสียง และเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินอนอาบแดด และทำกิจกรรมบนชายหาดจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ภูเก็ตเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว มีนักท่องเที่ยวทั้งจากยุโรปและเอเชียเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศบริเวณชายหาดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
เด็กนักเรียนสนใจภาพวาดเรื่องสึนามิ ที่นำมาแสดงที่หาดป่าตอง
กำลังโหลดความคิดเห็น