“สมิทธ” แฉรัฐบาลประเคนงบ 3.5 แสนล้านบาทให้ กยน.ป้องกันน้ำท่วม ทั้งที่ไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรม ระบุ ในการประชุมมีแต่นักการเมืองพูดไม่ฟังนักวิชาการ ทำ “ดร.สุเมธ” ไม่ร่วมด้วย เตือนแค่ขุดลอกคู คลอง ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ แนะชาวบ้านรับมือเจออุทกภัยหนักอีกแน่ปีนี้
นายสมิทธ ธรรมสโรช คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “ภัยพิบัติธรรมชาติและสถานการณ์ภัยพิบัติของโลกในอนาคต” ในงานเสวนา ถอดบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัย สานพลังเครือข่าย รับภัยพิบัติ 2555 จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า ขณะนี้ที่ประเทศเม็กซิโกกำลังเคาท์ดาวน์วันที่สิ้นสุดของโลกในวันที่ 21 ธ.ค.2555 เพราะเชื่อว่าว่าโลกจะต้องล่มสลาย โดยตนก็มีข้อมูลด้วยเช่นกัน อีกทั้งทางโหราศาสตร์ก็มีการทำนายด้วย
ซึ่งในประเทศไทย ที่มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ตนเป็นกรรมการอยู่ด้วย มีการประชุม 5 ครั้ง ก่อนที่จะมีการแถลงออกมาเป็นแผนแม่บท แต่ตนเข้าร่วมประชุมเพียง 3 ครั้ง และลากิจ 2 ครั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีนักวิชาการอย่างเช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เข้าร่วมเพราะมีเหตุผลส่วนตัว ซึ่งตนเห็นว่างานที่รัฐบาลเสนอไม่เป็นรูปธรรม และการอนุมัติงบประมาณ 350,000 ล้านบาท ที่อนุมัติเพียงไม่กี่วินาที โดยไม่มีข้อเสนอของนักวิชาการที่เป็นรูปธรรมอยู่ในแผนงานนั้นด้วย
“การแถลงของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่เห็นแผนงานที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำฟลัดเวย์ว่าจะเป็นจุดใด ที่ไหน ทางน้ำผ่านทางไหน ไปทางฝั่งตะวันออก ตะวันตก ผ่าน กทม.หรือไม่ หรือไปยังแม่น้ำบางปะกง ก็ยังไม่เห็นแผน ไม่ทราบเหตุใดที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 350,000 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนจากต่างประเทศก็สอบถามผมเรื่องแผนงานของรัฐบาล”
นายสมิทธ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ หัวหน้าฝ่ายของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ก็ขอเข้าพบตน/ เพื่อสอบถามแผนงานของรัฐบาล เพราะมีความสนใจ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าไม่ทราบแผนงานนี้เลย แต่เห็นว่าในอนาคตจะต้องประสบภัยน้ำท่วมอีกอย่างแน่นอน และอาจจะมีน้ำมากเหมือนปี 2554 เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา และในปี 2555 เดือนพฤษภาคมจะมีฝนตกไม่น้อยกว่าปี 2554 แต่รัฐบาลยังไม่มีแผนงานที่จะระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำบางปะกง แต่รัฐบาลมีเงินที่อนุมัติเพียง 3-4 นาที ที่จะทำแล้ว
นายสมิทธ กล่าวถึงการจัดเก็บน้ำในเขื่อนว่า ตนไม่ทราบว่ามีการเก็บน้ำทำไมตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งการปล่อยน้ำเมื่อปี 2554 นั้นไม่มีการบูรณาการร่วมมือกันในการปล่อยน้ำออกจาก 3 เขื่อนใหญ่ โดยมีการปล่อยน้ำรวมกันวันละเกิน 100 ล้าน ลบ.ม.แต่ปล่อยลงทะเลไม่ถึง 100 ล้านลบ.ม.และที่มีการกล่าวว่าจะเอาอยู่นั้นก็กลายเป็นเอาไม่อยู่จนทำให้น้ำท่วม ซึ่งการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยยังไม่สามารถใช้การได้ เพราะไม่มีการนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ไว้มาศึกษาล่วงหน้าว่าเขื่อนต่างๆ จะปล่อยน้ำแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานบริหารน้ำกว่า 20 หน่วยงาน มากที่สุดในโลก แต่แยกกระทรวงและไม่เคยมีการประชุมติดต่อกันว่าจะบริหารน้ำอย่างไร แต่ต่างคนต่างปล่อย จนน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งหากไม่มีการแก้ไขตั้งแต่วันนี้ก็จะประสบปัญหานี้อีก
นายสมิทธ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้ กยน.ดำเนินการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกว่า 350,000 ล้านบาทที่ยังขาดความเป็นรูปธรรมนั้น ก็ต้องยอมรับความจริง ซึ่งตนทราบแต่เพียงว่ามีการอนุมัติงบประมาณเท่านั้น แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของแผนงานว่าจะมีการทำฟลัดเวย์ตรงไหน รวมทั้งจะผันน้ำไปทางทิศตะวันตก หรือตะวันออกของกทม.หรือจะผ่านกทม.ลงสู่ทะเลทางไหนบ้าง เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุม 2 ครั้งสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ใกล้จะถึงฤดูฝนแล้ว
นายสมิทธ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขก็ต้องสอบถามจาก นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น และ นายกิจจา ผลภาษี ประธานคณะอนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งรัฐบาลว่าจะมีแผนที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ขณะที่ต่างประเทศก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ โดยมีการสอบถามต่อเนื่องว่ายอดเงินที่มีการอนุมัติแล้วนั้นจะทำอะไรบ้าง รวมถึงจะทำฟลัดเวย์ตรงไหน จะให้ทิศทางน้ำไหลไปทางไหน เพราะอยากทราบถึงความเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปีติพงษ์ ระบุว่าระยะเร่งด่วนต้องขุดลอกคูคลอง ซ่อมคันกั้นน้ำที่เสียหายก่อน นายสมิทธ กล่าวว่า ทำแค่นั้นไม่พอ ถ้าน้ำเหมือนปี 2554 ก็จะท่วมอีก ต้องทำมากกว่านั้น ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน กทม. จะผ่านหรือผันไปตรงไหน ซึ่งหากทำเพียงขุดลอกคูคลอง เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ กทม.และปริมณฑลได้ ซึ่งตนก็คิดว่าการดำเนินการจะไม่ทันในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในปีนี้
ส่วนที่ประชุม ครม.มีการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า กทม.ไม่ได้ทำนั้น นายสมิทธิ กล่าวว่า ต้องสอบถามจากนักการเมือง ตนเป็นนักวิชาการ และเห็นว่าการบูรณาการก็ต้องให้นักการเมืองพูดคุยกัน ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีระบุจะต้องมีการขุดลอกคูคลองให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนั้น ตนก็ยังไม่เห็นมีการขุดลอกคูคลอง หรือซ่อมประตูระบายน้ำที่ไหน และการที่กทม.ระบุว่าได้ดำเนินการแล้วนั้นก็ต้องนำมาให้ชี้แจงหรือเสนอให้ประชาชนได้เห็นด้วยว่าขุดลอกคูคลองที่ไหน มีความลึกเท่าไหร่ มีการเก็บผักตบชวา หรือสวะหมดแล้วหรือยัง รวมทั้งบ้านของประชาชนที่ล้ำเขตลงไปอยู่ในคลอง มีการเคลื่อนย้ายหรือขยายคลองให้กว้างขึ้นหรือไม่
นายสมิทธ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าการขุดลอกคูคลองภายใน กทม.จะทันในเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่ แต่กล่าวว่าตนได้ติรัฐบาลหลายครั้งแล้ว ทำให้มีการกล่าวหาว่าตนเป็นนักวิชาการที่พูดมาก ติรัฐบาลตลอดเวลา ตนไม่อยากเป็นตัวถ่วง และไม่ทราบว่ารัฐบาลจะทำได้สำเร็จหรือไม่
“ในที่ประชุม กยน.มีการเสนอแนวทางการฟื้นฟูว่าควรทำอะไรบ้าง แต่นักการเมืองไม่ค่อยเชื่อนักวิชาการ มีการเสนอหลายเรื่อง ข้อมูลผมก็ได้ทำร่วมกับนายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่สามารถเปิดเผยได้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาก็คำนวนล่วงหน้าได้หลายเดือนตามที่ต้องการ แต่ว่าคำนวนไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีหน่วยงานที่จะเอาไปใช้” นายสมิทธ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเสนอข้อมูลในกยน.แล้วไม่มีการรับฟัง มีแนวคิดที่จะลาออกหรือไม่ นายสมิทธ กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง รวมทั้ง นายสุเมธ ตันติเวชกุล ก็ขาดการประชุม ที่ไม่เข้าร่วมประชุมเพราะพูดไม่ทันนักการเมือง ขณะที่เห็นว่าฝ่ายการเมืองจะรับฟังเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับไปปฏิบัติด้วยและต้องมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารน้ำ 20 หน่วยงาน ซึ่งในปี 2555 เชื่อว่า น้ำจะมากกว่าปี 2554
นายสมิทธ กล่าวว่า ต้องมีการเตือนประชาชนล่วงหน้าหลายวันด้วยเพื่อให้มีการอพยพ ซึ่งการทำแผนงานจัดระบบข้อมูลและระบบการเตือนภัย ที่กยน.มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้นั้น ก็มีการประชุมเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น