อุทัยธานี - คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ลงพื้นที่ตำบลหากทะนง เมืองอุทัยฯ ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย 2554 ชี้ 3 ปมปัญหาใหญ่ทำเกิดมหาอุทกภัย แถมการแบ่งเขตปกครอง ยังสร้างปัญหาเพิ่ม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำคณะกรรมาธิการฯและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ตำบลหาดทะนง อำเภอเมืองอุทัยธานี และจัดการเสวนา “ถอดบทเรียน มหาอุทกภัย 2554” ณ เทศบาลตำบลหาดทะนง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองท้องถิ่น เกษตรกรและราษฎรชาวอำเภอเมืองอุทัยธานี ร่วมการเสวนา
ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับจัดการทรัพยากร ธรรมชาติที่มีผลสืบเนื่องกับภัยพิบัติ ที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งนำประสบการณ์ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในอดีต มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต
นายสุรชัย เปิดเผยว่า การเปิดเวทีถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมในปี 54 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วิธีการแก้ไขน้ำท่วม วิธีการแก้ไขของรัฐบาล และการเยียวยาฟื้นฟูของรัฐบาล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยตั้งใจจะทำให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 55 นี้ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมด มาสังเคราะห์ เชื่อว่าจะเป็นรายงานการศึกษาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ และเป็นแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมในปี 55
จากการรับฟังความเห็นจากประชาชนชาวอุทัยฯ พอจะสรุปสาเหตุได้ว่า1. เรื่องบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ผ่านมา อาจคำนึงถึงพื้นที่ในการเกษตรเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปรับวิถีของประชาชนที่ทำการเกษตรให้สอดคล้องกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป 2.ที่ถูกหยิบยกมาทุกเวทีคือปัญหาของสิ่งปลูกสร้างที่มากขึ้นแล้วไปขวางทางน้ำ
3.คือ การบังคับใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้มีการประทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายเรื่อง และเรื่องต่างๆก็หวนกลับมามีผลกระทบกับการบริหารจัดการน้ำ เช่นการปล่อยให้สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ การปล่อยให้แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเครื่องมือสำคัญในการระบายน้ำออกที่บรรพบุษได้สร้างไว้ เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ถูกหยิบยกขึ้นมา
อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปคือเรื่องเขตปกครอง ซึ่งถูกออกแบบไว้เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน เขตปกครองก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก เราจะพบว่าผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะพยายามปกป้องท้องถิ่นของตัวเอง โดยไม่สนใจพื้นที่อื่นที่อยู่ข้างเคียง ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่สามารถสอดคล้องกันทั้งลำน้ำได้