xs
xsm
sm
md
lg

บ้านเด็กเร่ร่อนวิกฤต ขาดงบดูแล “ครุหยุย” จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาจัดงบหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มสช.ร่วมกับ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เผย บ้านรับดูแลเด็กเร่ร่อนขาดงบขั้นวิกฤต ถึงขึ้นต้องปิดตัว วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบ ก่อนขยายวงสู่สังคมอาเซียน เตรียมยื่นข้อเสนอกองทุนคุ้มครองเด็ก อุดหนุนงบ ดูแลเด็กเร่ร่อนอย่างยั่งยืน “ครูหยุย” หนุนจัดงบรายหัว ด้าน “อ.สมพงษ์” ชี้ขยายตัวแรงทั้งปัญหาและปริมาณ รัฐต้องเอาจริง

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มูลนิธิสร้าง สรรค์เด็ก ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกระบบดูแล : สู่การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ยั่งยืน” มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ บ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก สถานสงเคราะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 150 คน โดย น.ส.ทองพูล บัวศรี มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เปิดเผยว่า จากการวิจัยเรื่อง “การถอดบทเรียนบ้านแรกรับและบ้านพัฒนา สำหรับเด็กเร่ร่อน” ที่มูลนิธิดำเนินการ ร่วมกับ มสช.เก็บข้อมูลจากบ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก และสถานสงเคราะห์จำนวน 22 แห่ง ใน 12 จังหวัด พบว่า ทุกแห่งต้องการการสนับสนุนทั้งงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้ โดยเฉพาะบ้านแรกรับ และบ้านพัฒนาเด็กที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยได้รับงบจากการบริจาคซึ่งไม่แน่นอนและไม่ยั่งยืน กระทบต่อการดูแลช่วยเหลือเด็กเร่ ร่อนในภาพรวม ดังนั้น จึงอยากให้มีหน่วยงานของรัฐจัดงบสนับสนุน

“ปัจจุบันมีบ้านแรกรับ บ้านพัฒนาเด็ก และสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศกว่า 40 แห่ง เป็นของรัฐ 17 แห่ง ที่เหลืออีก 23 แห่ง เป็นขององค์กรพัฒนาเอกชน ขณะนี้มี 6 แห่งที่สถานการณ์ทางการเงินวิกฤต และมีแนวโน้มต้องยุติการดำเนินงาน หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบอย่างเพียงพอ ได้แก่ มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก ดูแลเด็ก 140 คน มูลนิธิช่วยเหลือเด็กขอนแก่น 50 คน บ้านนานา มูลนิธิพันธกิจเพื่อเด็กและชุมชน 120 คน มูลนิธิบ้านนกขมิ้น 220 คน บ้านครูจา พัทยา 35 คน และสถานบ้านรับเลี้ยงเด็กบ้านครูมุ้ย สมุทรปราการ 20-30 คน แม้จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่ปัจจุบันต้องเผชิญทั้งปัญหา เศรษฐกิจ และเพิ่งผ่านเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้เงินบริจาคลดลงถึง 50% ทำให้บ้านเล็กๆ หรือเพิ่งเริ่มดำเนินการไม่มีเงินสำรอง อาจต้องหยุดการดำเนินงาน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กกว่า 600 คนไร้ที่พักพิง” น.ส.ทองพูล กล่าว

น.ส.ทองพูล กล่าวว่า อยากให้กองทุนคุ้มครองเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีเงินกว่า 100 ล้านบาท สนับสนุนงบ ดำเนินการแบบถาวร โดยค่าใช้จ่ายรายหัวขั้นต่ำที่เหมาะ สมอยู่ที่ 73-83 บาท/คน/วัน หรือ 27,000-37,000 บาท/คน/ปี ซึ่งจะใช้งบ ประมาณ 20-40 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ บ้านแรกรับ และบ้านพัฒนาเด็กขององค์กรพัฒนาเอกชน จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด นำเสนอต่อกองทุนคุ้มครองเด็ก เพื่อพิจารณาต่อไป

ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า บ้านแรกรับเป็นบ้านหลังที่สองที่รองรับเด็กที่มีปัญหา ช่วยพัฒนาเด็กให้สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น งบประมาณจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบ้านแรกรับที่กระจายอยู่ทั่วประเทศต้องดูแลเด็กทั้งชีวิต การเสนอให้นำงบจากกองทุน มาสนับสนุนเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ดำเนินการได้ แต่จะต้องครอบคลุมและถึงตัวเด็กจริงๆ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรายหัวที่นำเสนอนั้น หากครอบคลุมการดำเนินการในทุกด้าน ทั้งตัวเด็ก และบุคลากรที่ดูแล ก็ถือว่าถูกมากกับการลงทุนเรื่องมนุษย์

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเร่ร่อนกำลังขยายตัวแบบ เงียบๆ ทั้งในเชิงปริมาณและปัญหา ตลอดจนจำนวนเด็กที่มาจากหลายที่ทั้ง ในและต่างประเทศ พบว่า เด็กจากต่างชาติ ทั้งพม่า กัมพูชา และลาว เข้ามาเป็นขอทาน และถูกใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะเรายังมองเห็นปัญหากันเพียง แค่มิติเดียว ทั้งที่มีหลายมิติ และซับซ้อนในเชิงปัญหาที่กำลังจะขยายตัวมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่องทั้งในเรื่องนโยบาย งบประมาณ และการทำงานในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีที่มีการสำรวจเชิงปริมาณ และคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งน่าจะทำให้การดูแลเด็กเร่ร่อนมีความชัดเจนมากขึ้น

ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีเด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการถูกใช้ประโยชน์ ทั้งเรื่องยาเสพติด การค้าบริการทางเพศ หรือแม้แต่การถูกบังคับข่มขู่จากกลุ่มอาชญากรต่างๆ และในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจทำให้ปัญหาขยายตัวไปอีกเมื่อเกิด การไหลเวียนประชากรในภูมิภาค หากประเทศไทยไม่หาแนวทางดูแล และปกป้องเด็กจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์ นอกจากจะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมแล้ว จะทำให้ประเทศไทยต้องชี้แจงต่อประชาคมอาเซียน ให้ได้ว่า ทำไมจึงไม่สามารถดูแลเด็กที่อยู่ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดให้ปลอดภัยได้ เพราะในทางสากลถือว่า บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและปลอดภัย รวมทั้งเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ

“หลังจากนี้ จะมีโครงการศึกษาแนวทางการบูรณาการทำงานระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถดูแลเด็กเร่ร่อนในชนบทไม่ให้เข้าสู่เมืองใหญ่ เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 281 และ 283 ว่า รัฐต้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ทำงานอย่างเป็นอิสระ โดย อปท.จะเป็นหน่วยงานหลักนการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.ชูชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น