ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกว.จัดกิจกรรมการฝึกอบรมการคิดอย่างเป็นระบบแก่ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น กระตุ้นให้นำข้อมูลของชุมชนมาคิดวิเคราะห์ และช่วยกันวางแผนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก่อนที่หน่วยงานจากภาครัฐจะลงมาช่วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยสำนักประสานงาน “การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง” จัดกิจกรรมฝึกอบรมการคิดอย่างเป็นระบบ หรือ System thinking ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เป็นวิทยากรผู้ฝึกอบรม โดยมีผู้นำชุมชน และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วมจำนวนมาก
โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลในระดับตำบลไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่เรียกว่า System thinking ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาขยายผลงานวิจัยระบบการจัดการข้อมูลตำบล
ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ ผู้ประสานงาน สกว. กล่าวว่า หลังจากที่เราสร้างระบบการตัดสินใจ หรือ System thinking สอนระบบการตัดสินใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของ อบต. และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้เข้าอบรมก็จะสามารถนำข้อมูลไปวางระบบการตัดสินใจให้แก่ชุมชน หรือพื้นที่ อบต.ของตนได้อย่างเป็นระบบ และร่วมกันสร้างระบบนี้ในพื้นที่ต่างๆ ของ 5 จังหวัดภาคใต้ด้วย
นอกจากนี้ ผลที่ตามมาในอนาคตคือ ชุมชนจะรู้ปัญหาของตนเอง และจะมาช่วยกันวางแผนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก่อนที่หน่วยงานจากภาครัฐจะลงมาช่วย สุดท้าย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย เชิงสังคม ที่ชุมชนจะมาตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง
ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ วิทยากร ผู้ริเริ่มนำ System thinking มาถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรม กล่าวว่า การคิดอย่างเป็นระบบ คือกระบวนการคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมองเห็นองค์รวมปัญหาของเราในการตัดสินใจ คือเราไม่ได้มองเห็นความสัมพันธ์ของทุกสิ่ง เมื่อเราตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมันก็จะเกิดผลกระทบกับสิ่งอื่นอีกมาก และเรามักจะไม่เข้าใจว่าเวลามันเกิดผลกระทบขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การที่ทำให้คนมีความคิดที่เป็นระบบ คือทำให้คนเข้าใจภาพใหญ่ มองเห็นได้ครบ
“ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วม ถ้ามีการป้องกันพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่ให้น้ำเข้าท่วม น้ำก็จะเข้าท่วมอีกพื้นที่หนึ่งอยู่ดี ทำให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมเสียประโยชน์ ถ้าเรามองอย่างเป็นระบบ เราจะจัดการได้เลยว่าถ้าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ของคุณแล้ว ก็จะมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแทน เมื่อคุณได้ประโยชน์ ก็มีคนเสียประโยชน์ให้คุณ คุณจะต้องเป็นผู้คืนให้เขา การเอามาอธิบายให้ทั้งคนได้และคนเสียเห็นภาพพร้อมๆ กัน มันทำให้การตกลงกันหารือกัน หาข้อยุติได้ง่ายว่ามีข้อขัดแย้งอะไรกัน” รศ.ดร.สุธีระกล่าวเพิ่มเติม
นายภิติพัฒน์ หนูมี ปลัด อบต.ควนโส หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า การเข้าร่วมเรียนรู้ในวันนี้ เป็นการสร้างความคิดให้ชุมชนในการที่จะจัดทำแผนชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีคำถามว่าชุมชนต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้มันจะช่วยตอบคำถามได้ว่าคุณต้องการอะไร แล้วทำไมถึงต้องการ เราก็จะถอดบทเรียนออกมาว่า จริงๆ แล้วมันเป็นความต้องการจริงหรือไม่ วันนี้มันจึงทำให้ผมคิดว่าวิธีการคิดอย่างนี้มันจะตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง ทุกบริบท”
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. หวังว่าท้องถิ่นจะพัฒนาพื้นที่ตนเองบนฐานความคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง