xs
xsm
sm
md
lg

สกว.จับมือ ม.อ. แก้ปัญหาพื้นที่ประเดิมจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการลงนามความร่วมมือระหว่าง สกว. -มอ.
สกว.- สกว.จับมือ ม.อ. แก้ปัญหาพื้นที่ประเดิมจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม ระดมทุนวิจัย 2 ล้านเพื่อศึกษาและตอบโจทย์ในพื้นที่เป็นเวลา 2 ปี

สืบเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญและความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และพัฒนานักวิจัย เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดสงขลานับเป็นพื้นที่หนึ่งที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้สนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550 มีทุนเดิมของเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ 32 ตำบล ที่ได้ร่วมการจัดทำบัญชีครัวเรือน แผนชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลตำบลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจพัฒนาเชิงพื้นที่

ล่าสุดจากการหารือร่วมกันระหว่าง สกว. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่าหากได้มีการเชื่อมโยงการทำงานวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยกับการเคลื่อนไหวของชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับฝ่ายเครือข่ายชุมชนในการยกระดับการเรียนรู้ และกับฝ่ายนักวิจัยในการได้สัมผัสปัญหาชุมชนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งหากได้มีกระบวนการสนับสนุนการพัฒนานักวิจัย ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างนักวิจัยใหม่ในสายรับใช้สังคมในสถาบันอุดมศึกษาด้วย

จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและมีการลงนามความร่วมมือขึ้น ระหว่างคณะผู้บริหาร สกว. ประกอบด้วย ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการ สกว. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. รศ.มยุรี จัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สกว. ด้านการสื่อสารสังคม และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฑสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา โดยมีคณบดีคณะต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ได้ตั้งกรอบระยะเวลาความร่วมมือไว้เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2555-2556 ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมทุนฝ่ายละ 1 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสิ้น 2 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนานักวิจัยใหม่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ สนับสนุนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนานักจัดการยุทธศาสตร์วิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และระบบภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการทำงานพื้นที่

ทั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การแก้ปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่และสร้างโอกาสใหม่เพื่อการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และการเมืองการปกครอง เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก และสร้างความยั่งยืนจากภายใน โดยเน้นให้คนพึ่งตนเองได้ ระบบการจัดการตนเองของชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดเข้มแข็ง ซึ่งโจทย์การวิจัยเชิงพื้นที่ในปีแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนใจและจะให้การสนับสนุน คือ "การจัดการภัยพิบัติ น้ำท่วม" ซึ่งได้มีการประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยและได้พิจารณาข้อเสนอโครงการในเบื้องต้นไปแล้วก่อนหน้านี้

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ให้ความเห็นว่าการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นประเด็นเร่งด่วนของพื้นที่ คือ “การจัดการภัยพิบัติ น้ำท่วม” ก่อน เนื่องจากขณะนี้จังหวัดสงขลากำลังประสบปัญหาอุทกภัย และเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอหาดใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2543 และปี 2553 สร้างความเสียหายให้กับอำเภอหาดใหญ่เป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันประเมินค่ามิได้

“จึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องแสดงพลังอันเข้มแข็งร่วมกันเปลี่ยนการทำงานในเชิงตั้งรับเป็นเชิงรุกอย่างจริงจัง โดยร่วมมือร่วมใจกันผนึกกำลังและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบสร้างแบบอย่างของการบริการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อหาทางออกแบบเบ็ดเสร็จในการคลี่คลายปัญหาน้ำท่วมอำเภอเมืองหาดใหญ่ในอนาคต รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับการตัดสินใจ และยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยมอบให้ รศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฑสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา เป็นผู้รับผิดชอบหลัก” รศ.ดร.ชูศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น