xs
xsm
sm
md
lg

สกว.หนุนอาจารย์ ม.อ.ศึกษาเส้นทางการผลิตแพะ รองรับ “อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกว.หนุนอาจารย์ ม.อ.ศึกษาเส้นทางการผลิตแพะครบวงจรใน จ.สตูล รองรับ “อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ และเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และตะวันออกกลาง

โครงการ “การศึกษาระบบการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในจังหวัดสตูล” โดยนายเสกสรร สุธรรมานนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และทีมวิจัย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านทางสำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2554

 
โดยทางทีมวิจัยเห็นว่า จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมแพะอย่างครบวงจร มีการเลี้ยงแพะเป็นอันดับ 5 ของประเทศ รองจากประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ปัตตานี และสงขลา ภาคราชการเองได้ให้ความสำคัญกับการผลิตแพะเพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติงบประมาณผ่านทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสตูล จัดตั้งโรงฆ่าแพะในจังหวัดสตูลเพื่อรองรับการจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงแพะที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

นอกจากนี้ยังมีโรงฆ่าแพะเพื่อรอจำหน่าย ทั้งเนื้อแพะและตัวแพะ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย และประเทศตะวันออกกลาง และปัจจุบันโรงฆ่าแพะของจังหวัดสตูลยังไม่ได้เปิดดำเนินการ ทีมวิจัยจึงเห็นความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแพะอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการศึกษาถึงแนวทางการบริหารจัดการโรงฆ่าแพะให้มีประสิทธิภาพ คุ้มกับการลงทุน โดยจะต้องใช้กรอบแนวคิดโซ่อุปทานศึกษาความเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยง พ่อค้า โรงฆ่า และผู้บริโภคทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อให้สามารถจัดส่งแพะ (มีชีวิต) จากโรงฆ่ากระจายไปยังผู้บริโภคตรงตามความต้องการในจำนวนและเวลาที่เหมาะสม โดยมีต้นทุนโดยรวมต่ำ ซึ่งจะมีผลช่วยให้ระบบการผลิตแพะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
นายเสกสรร สุธรรมานนท์ หัวหน้าโครงการ
 
ด้าน นายเสกสรร สุธรรมานนท์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ก่อนที่จะทำโครงการนี้ทางทีมวิจัยคาดหวังว่าจะมีการวางขายเนื้อแพะตามท้องตลาด แต่ปรากฏว่าไม่มี ทั้งในตลาดระดับล่าง คือตามตลาดสดทั่วไป และตลาดระดับสูงคือฟาร์มเชิงพาณิชย์ และจากการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าต้นทุนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของแรงงาน ค่าน้ำมันรถ และค่าอาหาร

“ในเบื้องต้นพบปัญหาทั้งเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ ปัญหาด้านเงินทุน ปัญหาด้านการตลาด ที่ยังไม่มีตลาดซื้อขายที่เป็นมาตรฐาน ขาดการรวมกลุ่มกันของตลาดรายย่อย และสุดท้ายคุณภาพของเนื้อแพะยังไม่ได้คุณภาพ และหลังจากนี้จะทำการระดมสมอง เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการอุตสาหกรรมแพะต่อไป” หัวหน้าโครงการกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น