xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย สกว.ระดมสมองแก้ปัญหาการจัดการน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิจัย สกว. ระดมแนวคิดแก้ปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ พบปัญหาใหญ่คือ ขาดแคลนน้ำจืด อุทกภัย และน้ำเน่าเสีย เตรียมหามาตรการแก้ไขเบื้องต้น ระบุ หากชาวบ้านให้ความสำคัญและช่วยกันดูแลก็จะมีมีน้ำจืดให้อุปโภคบริโภคมากขึ้น

ทีมวิจัยโครงการ “การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมแบบปรับตามสถานการณ์ : กรณีศึกษาคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา” ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้การดูแลของสำนักประสานงาน “การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง” จัดการประชุมระดมความคิดเห็น “วิเคราะห์สถานการณ์การจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพทรัพยากรน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ การจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน รวมไปถึงวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต” โดยมีภาครัฐ นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วม

โดยประเด็นปัญหาหลักของคาบสมุทรสทิงพระ คือ การขาดแคลนน้ำจืดในพื้นที่ปัญหาอุทกภัย และปัญหาน้ำเสีย ซึ่งทางชลประทานจังหวัดสงขลา ได้เสนอว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ต้องมีการเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำของลำคลองสายต่างๆ การยกระดับคันคลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอกให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำจืดในพื้นที่สิงหนคร สทิงพระ ไม่มีพื้นที่เก็บกักน้ำ และการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชุมชนอย่างยิ่ง

สำหรับปัญหาน้ำท่วม ทางชลประทานจังหวัดสงขลามีมาตรการสร้างคันกั้นน้ำ และเร่งระบายน้ำในส่วนที่เกินความจำเป็นออกจากพื้นที่ทะเลสาบลงสู่อ่าวไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งด้วยเช่นกัน

ส่วนปัญหาน้ำเสีย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 กล่าวว่า ทางสำนักงานมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งเกินครึ่งอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม มีการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนโดยไม่ผ่านการบำบัดลงคูคลอง ทั้งนี้ ได้พยายามผลักดันให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญเรื่องการบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะการบำบัดรวม

“อาจเป็นได้ว่าการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของชาวบ้านในปัจจุบันยังไม่มาก หากมีการใช้ประโยชน์มากขึ้น ชาวบ้านก็จะให้ความสำคัญช่วยกันดูแล ซึ่งในอนาคตท้องถิ่นมีแนวโน้มจะพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ การนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมากขึ้น ก็คงต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน” ตัวแทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น