สกว.- สกว.ให้ทุน ม.เกษตร 4.5 ล้านบาท วิจัยแก้ปัญหา “มะพร้าวอ่อน” ขาดแคลน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ครบวงจรและเป็นเชิงวิชาการมากขึ้น
รศ.ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางค์กูร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การผันแปรของสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดการขาดแคลนมะพร้าวอย่างมาก และจากการสำรวจสถานภาพอุตสาหกรรมมะพร้าวอ่อนของไทยระหว่างปี 2553-2554 พบว่าเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมยังไม่มีการพัฒนาเชิงวิชาการเท่าที่ควร
ปัญหาที่พบจากการสำรวจอุตสาหกรรมมะพร้าวคือ ยังมีปัญหาเรื่องความเที่ยงตรงของพันธุ์มะพร้าว ปัญหาการติดตามผล การแตกของผล การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ปัญหาการใช้แรงงานมากหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการพัฒนากลิ่นมะพร้าวน้ำหอม และการจัดการเปลือกเหลือทิ้ง
ดังนั้น จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการค้นคว้าวิจัยและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม จึงได้นำเสนอโครงการวิจัยและขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามความร่วมมือและให้ทุนพัฒนาศักยภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกครบวงจรเป็นมูลค่า 4.5 ล้านบาท โดยมีระยะดำเนินการ 3 ปี
ด้าน ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผอ.สกว. กล่าวว่า สกว.เห็นความสำคัญของมะพร้าวอ่อน ซึ่งมีแนวโน้มการการส่งออกมากขึ้น และยังมีคุรค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในเรื่องกระบวนการผลิตมะพร้าวอ่อนเพื่อส่งออก จึงต้องสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้ได้การจัดการอย่างเป็นระบบและครบวงจร
ส่วน รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ อาจารย์ประจำคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเกี่ยวกับปัญหาการผลิตมะพร้าวอ่อนในงานวิจัยครั้งก่อนนำมาสู่งานวิจัยครั้งนี้ พบว่าแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญของไทยมีอยู่ 2 แหล่ง คือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
สำหรับปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวในช่วงที่ผ่านมานั้น รศ.ดร.กฤษณา คือการขาดแคลนมะพร้าวอ่อนมากกว่าปกติโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งคณะวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรมีผลผลิตและรายได้น้อยลง จึงต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการและเกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมมะพร้าวอ่อนของประเทศ
“น้ำมะพร้าวของไทยมีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอมมากกว่าคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และการวิจัยครั้งนี้จะครอบคลุมการผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โดยวางแผนร่วมกับเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดในการจัดการอบรมให้เกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีผลิตมะพร้าวอ่อนทื่ยั่งยืน และให้เกษตรกรมีความพึงพอใจด้านราคาและไม่หันไปปลูกพืชอื่น” รศ.ดร.กฤษณากล่าว
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังวางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ในการผลิตมะพร้าวอ่อนในจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่และเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับมะพร้าวอ่อน