ราชบุรี - กำนันทั้ง 13 ตำบลในพื้นที่ดำเนินสะดวก เมืองราชบุรี บุกศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือจี้ผู้ว่าฯ แก้ปัญหาโรงผลิตไฟฟ้าราชบุรี และบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ สร้างมลพิษสิ่งแวดล้อมจนประชาชนได้รับความเดือดร้อน ลั่นหากไม่ดำเนินการแก้ไข และไม่มีความคืบหน้าพร้อมระดมชาวบ้านชุมนุมใหญ่ที่หน้าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (4 ก.พ.) นายไพรัตน์ หงส์ศุพางค์พันธ์ ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันตำบลท่านัด พร้อมทั้งกำนัน 13 ตำบลในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตไฟฟ้า 2 โรง คือ ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ที่สร้างมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในหมู่บ้านทั้ง 13 ตำบลถึงความเดือดร้อนจากโรงงานผลิตไฟฟ้าดังกล่าวที่มาก่อสร้างในเขตพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก ทั้ง 2 โรง ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เป็นแหล่งเกิดมลพิษในบรรยากาศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ผล เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร มูลค่าปีละประมาณ 20,000,000 บาท
นายไพรัตน์ กล่าวว่า พื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทางด้านพืชผัก ผลไม้ เช่น หน่อไม้ฝรั่งจากปี พ.ศ.2550 ผลผลิตต่อปีจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2555 ลดลงมาก พืชผักออกผลผลิตไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ พอออกมาก็จะเน่าเสีย ละมุด ลำไย คะน้า มะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกทั้งต้น มีลูกออกมาสวย แต่ข้างในไม่มีเนื้อ ผลผลิตออกมามีราคาต่ำ เช่น องุ่น ชมพู่ ฝรั่ง และผักผลไม้อื่นๆ อีกจำนวนมาก ทำรายได้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล
นับตั้งแต่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก ผลผลิตทางการเกษตรกลับลดลง และที่สำคัญ ประชาชนไม่สามารถนำน้ำฝนมาบริโภคใช้ดื่มกินได้เหมือนที่ผ่านมา ขณะที่โรงไฟฟ้าจะดูแลรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ 9 ตำบล รอบโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ตำบลดำเนินสะดวก ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ และอำเภอเมือง เป็นพื้นที่ไข่แดงติดกับโรงไฟฟ้า ซึ่งเคยดูแลรับผิดชอบต่อชุมชน ต่อมาระยะหลังกลับไม่เคยเหลียวแลชาวบ้านเลย โดยอ้างว่าต้องไปของบประมาณจากกองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน
“ความจริงโรงไฟฟ้าต้องช่วยกันดูแลพื้นที่ในจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ถามว่าของดีทำไมต้องลงที่จังหวัดราชบุรีเพียงแห่งเดียว ทำไมไม่ไปลงในจังหวัดอื่นบ้าง เพราะเหตุใด ถ้าของดีน่าจะลงได้ทุกจังหวัด ซึ่งพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำการเกษตร ไม่ใช่กับโรงงาน หรือโรงไฟฟ้า การที่โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ว่าอะไร เกิดแล้วเกิดไป แต่ต้องลงมาดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในพื้นที่ และที่อยู่ใกล้เคียงให้ดีด้วย ขณะนี้โรงไฟฟ้ากลายเป็นโรงที่ 4 และโรงที่ 5 จากที่กำลังจะเกิดที่ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม และที่กำลังจะเกิดอีกในโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ ตรงนี้ที่กำลังดำเนินการอีก เรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมีสูง” นายไพรัตน์ กล่าว
นายไพรัตน์ กล่าวต่อว่า ในฐานะตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ 13 ตำบล พร้อมรายชื่อของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้ทางจังหวัดประสานแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ให้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ ตรวจสอบมลพิษ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างรอบด้าน และทั่วถึง พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านทรัพย์สิน และจิตใจ โดยหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ประชาชนในพื้นที่จะออกมาเรียกร้อง โดยจะมีการแต่งเครื่องแบบร่วมกับชาวบ้านเดินขบวนไปประท้วงที่หน้าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง
ทั้งนี้ นายณรงค์ ครองชนม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนพร้อมรับปากจะนำเรื่องปัญหาดังกล่าวยื่นต่อนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เพื่อประสานไปยังบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป