xs
xsm
sm
md
lg

อย.เข้มซูโดฯ ห้ามผสมยา จัดกลุ่มเท่ายาบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สาธารณสุขเข้ม ประกาศให้ซูโดอีเฟดรีนเป็นยาประเภท 2 กลุ่มเดียวกับยาบ้า ยาอี และห้ามครอบครอง อย.เอาด้วย ห้ามใช้ซูโดฯ ผสมทำยา และห้ามซื้อขาย แฉพบ 4 บริษัทอ้างชื่อรพ.นวมินทร์ สั่งซื้อยาเกือบล้านเม็ดกระจายให้ร้านขายยา 70 แห่ง พร้อมส่งดีเอสไอสอบ เตรียมลุยรพ.เอกชนอีก 4 แห่ง คลินิก 5 แห่ง หลังพบยอดสั่งซื้อผิดปกติ ศรีสะเกษเชือด 3 ข้าราชการเอี่ยวซูโดฯ หาย

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ โดยเรื่องแรกเป็นเรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) มีสาระกำหนดให้ซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ยาบ้า ยาอี กระท่อม โคเคน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ ประเภท 2 พ.ศ.2555 โดยผู้ที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมีซูโดอีเฟดรีนไว้ครอบครอง มีความผิดตามมาตรา 106 พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จะต้องระวางโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท แต่หากคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณเกินจำนวน5.000 กรัม ต้องระวางโทษตามมาตรา 106 ทวิ จำคุก 5-20 ปีและปรับ 1-4 แสนบาท

**อย.เลิกสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกชนิด

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน ร้านขายยาและคลินิกที่ยังมียาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สูตรผสมพาราเซตามอล ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยาได้จะต้องส่งคืนยาทั้งหมดให้กับบริษัทผู้ผลิต และนับจากนี้ไปผู้ที่จะใช้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อย.ได้สั่งให้โรงงานผู้ผลิตยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน งดการผลิตยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรตั้งแต่เดือนม.ค.2555 เพื่อไม่ให้มีสต๊อกยาคงค้าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าขณะนี้มียาค้างอยู่ที่บริษัทยา 60 ล้านเม็ด โดยห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย และที่โรงพยาบาลรัฐ20 ล้านเม็ด อนุญาตให้ใช้ส่วนนี้จนหมด เพราะมีระบบการสั่งจ่ายยาที่เข้มโดยแพทย์ โดยในวันที่ 4 เม.ย. 2555 อย.จะประชุมชี้แจงผู้ผลิตยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทั้งหมด

**อ้างชื่อรพ.นวมินทร์ กระจายยาให้70 ร้าน

นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโรงพยาบาล(รพ.) นวมินทร์ 1 ว่า พบความผิดปกติว่ามีระบบการซื้อยาผ่านคนกลาง โดย รพ.นวมินทร์ 1 จดทะเบียนบริษัทในชื่อ บริษัท มีนบุรี เวชกิจ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบริษัทเครือญาติกันเป็นผู้สั่งซื้อยาจากบริษัทยา เข้าบริษัท มีนบุรี เวชกิจ แต่เมื่อปลายปี 2553 บริษัท มีนบุรี เวชกิจ ได้ยกเลิกมิให้มีคนกลางสั่งซื้อแทน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า คนกลางดังกล่าว ยังใช้ชื่อบริษัท มีนบุรีเวชกิจ สั่งซื้อยา เพื่อนำไปกระจายต่อให้ร้านขายยา 70 แห่ง โดยในปี 2554 พบมีการสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน 19 ครั้ง จำนวน 922,000 เม็ด ส่วนบริษัท มีนบุรีเวชกิจ ซึ่งซื้อยาเพื่อรพ.นวมินทร์ 1 มียอดการสั่งซื้อยาดังกล่าว จำนวน 300,000 เม็ด โดยตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นยอดที่มีการรายงานถูกต้อง

**ส่งดีเอสไอสอบสวนเชิงลึกรพ.รู้เห็นหรือไม่

นพ.สมชัย กล่าวว่า คนกลางสั่งยาจาก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท โอสถอินเตอร์ จำกัด จำนวน 412,500 เม็ด หจก. บี.เอ็ม.ฟาร์มาซี 210,000 เม็ด บริษัท วีแอนด์วี 2 แสนเม็ด และบริษัท โปลิฟาร์ม จำกัด 1แสนเม็ด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าคนกลางสั่งซื้อยาทั้งสิ้น 19 ครั้ง และจะถูกนำไปกระจายต่อให้ร้านขายยา จำนวน 70 แห่ง จากนี้ สบส. จะส่งมอบหลักฐานจากการตรวจสอบให้กับอย.เพื่อดำเนินการพิจารณาความผิดของร้านขายยาที่รับซื้อยาต่อจากคนกลางรายนี้ และส่งให้ดีเอสไอเพื่อดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อไปว่าโรงพยาบาลมีส่วนรู้เห็นหรือไม่กับกรณีดังกล่าว

**สอบเข้มรพ.เอกชนอีก 4 แห่ง คลินิก 5 แห่ง

นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบในโรงพยาบาลเอกชน 300 กว่าแห่ง และคลินิก ขณะนี้พบว่ามีความผิดปกติ ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ ในรพ. 4 แห่ง คลินิก 5 แห่ง ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ซึ่งพบว่ามียอดการสั่งซื้อที่ผิดปกติ เช่น สถานพยาบาลขนาดเล็ก แต่มียอดการสั่งซื้อ ปีละ 300,000-400,000 เม็ดต่อแห่ง ขณะนี้ยังทำการสอบสวนอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับ รพ.สยามราษ เชียงใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีขวดยาถูกทิ้งทำลาย 250,000 ขวดนั้น เบื้องต้น คาดว่า เป็นการสั่งซื้อโดยใช้ชื่อโรงพยาบาล แต่ไม่ได้นำยาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจังหวัดได้ประสานงานเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว

**เค้นร้านขายยา-คลินิกเอกชนให้ข้อมูลเท็จ

นายธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ โฆษกคณะทำงานป้องกันและปราบปราม ฟื้นฟู และเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานได้มีการตรวจสอบข้อมูลเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งจำนวนยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ในร้านขายยา และคลินิกเอกชน ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งในขณะนั้น ระบุว่าในสถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าว มียาอยู่ประมาณ 36,000 เม็ด แต่หลังจากได้มีการตรวจสอบเชิงลึก จากตัวเลขการสั่งซื้อของบริษัทยา พบว่า สถานที่ทั้งสองแห่งมีการแจ้งข้อมูลเท็จ โดยในส่วนของคลินิกพบว่า มีจำนวนยาในสต๊อกมากกว่า 200,000 เม็ด ขณะที่ร้านขายยามีอยู่ที่ 47,000 เม็ด รวมแล้วทั้งสองแห่งมีประมาณ 290,000 เม็ด ตนจึงได้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดลพบุรีเข้าตรวจสอบทั้งสองแห่ง ซึ่งพบว่า มีจำนวนยาตามที่คณะทำงานได้รับข้อมูลมาจริง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการตรวจยึดอายัดจำนวนยาไปแล้ว พร้อมทั้งจะมีการส่งข้อมูลไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบว่ามีการนำยาส่งต่อไปยังเครือข่ายใดบ้าง

***เชือด3ข้ารายการเอี่ยวซูโดฯ

วานนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดต่อหน้าที่ระดับจังหวัด กล่าวว่า จากกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ไปตรวจสอบการรับ-จ่ายยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลภูสิงห์ และพบว่ายาแก้หวัดสูตรดังกล่าว ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดหายไปจากโรงพยาบาลภูสิงห์จำนวน 250,000 เม็ดนั้น พบว่า มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 3 คน ล่าสุดได้เตรียมสั่งการให้มีการสอบวินัยร้ายแรงกับข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ซึ่งผู้เสียหายสามารถนำหลักฐานข้อโต้แย้งมาเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น