xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ปม‘ซูโดอีเฟดรีน’ ทุจริตยาแก้หวัด...ผลิตยาบ้า!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับตั้งแต่ที่กระทรวงสาธารณสุขเกิดคดีทุจริตยา กรณี “นายรักเกียรติ สุขธนะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตรับสินบนตามการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2546 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ จำคุก 15 ปี ฐานทุจริตรับเงินสินบน 5 ล้านบาท จากบริษัทยา ทำให้สาธารณสุขจังหวัดต้องจัดซื้อยาในราคาแพงนั้น

ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่มีใครกล้าเอาเท้าแหย่เข้าคุกหรือเอาเยี่ยงอย่างแม้แต่รายเดียว แต่ถัดมาอีกไม่ถึง 10 ปี ก็เกิดกรณีทุจริตยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ที่ทำเอาฉาวโฉ่ไปทั้งวงการแพทย์ เภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ที่เรียกได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการยักยอก ขโมยยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด เพราะถึงยาแก้หวัดจะมิใช่ยาเสพติดแต่ก็สามารถสกัดใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเมธแอมเฟตามีนหรือยาบ้าได้

เมื่อเริ่มระแคะระคาย เนื่องจากพบว่า มีการคว้านซื้อยาแก้หวัดผสมซูโดฯในท้องตลาดเป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษฉบับที่ 40 จัดให้ยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล เป็นส่วนประกอบ เป็นยาควบคุมพิเศษ คุมเข้ม จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น

ทว่า แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะควบคุมช่องทางการเบิกจ่ายยาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะร้านขายยาที่ส่วนมากไม่มีการฝ่าฝืนเว้นแต่ยังมีบางแห่งที่อ้างว่าส่งกลับคืนบริษัทยาไม่ทัน ขณะเดียวกันก็มีรายงานการจับกุมลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก กลับเหมือนภูเขาบังเส้นผม เพราะขบวนการลักลอบค้ายาแก้หวัดซูโดฯ ใช้วิธีแยบยลชักชวนบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาล ร่วมมือส่งสารตั้งต้นเพื่อผลิตยาบ้า ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค.ทั้งเดือนเจ้าหน้าที่ตำรวจพบความผิดปกติของการเบิกจ่ายยาซูโดฯ ในโรงพยาบาล สังกัด สธ.จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตไม่เว้นวัน กระทั่ง สธ.ต้องระงับการสั่งจ่ายยาดังกล่าวของ รพ.ทุกแห่ง แล้วรื้อบัญชีการเบิกจ่ายมาตรวจสอบทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีมากถึง 845 แห่ง

จนกระทั่ง พบความผิดปกติเบิกจ่ายเกินนับแสนนับล้านเม็ด เรื่องนี้จึงตกไปอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเอสดีไอ ขณะที่ สธ.เองยังต้องต้องเดินหน้ารับผิดชอบในเรื่องการสอบสวนทางวินัยในส่วนของข้าราชการและลูกจ้างที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อมูลล่าสุด มีเภสัชกรและผู้อำนวยการโรงพยาบาลถูกย้ายราชการมาประจำกระทรวงฯแล้วถึง 9 คน ในรพ.6 แห่ง ได้แก่ รพ.ทองแสงขันธ์ จ.อุตรดิตถ์ รพ.อุดรธานี จ.อุดรฯ รพ.ฮอดและรพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และรพ.ภูสิงค์ จ.ศรีษะเกษ และรอรายงานเพิ่มจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง และรพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากพบการเบิกจ่ายผิดปกติเช่นกัน หากแต่ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด สอดคล้องกับที่ชาวบ้านได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังพบแผงยาแก้หวัดนับล้านถูกทำลายและทิ้งอยู่ที่ดินรกร้างข้างทางสันกำแพง ซึ่งหากทางจังหวัดรายงานว่าข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้อง สธ.ก็ต้องสั่งย้ายทั้งเภสัชกรและ ผอ.รพ.เข้ามายังส่วนกลางเพื่อรอการสืบสวนสอบสวนเช่นกัน

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสาวถึงตัวการใหญ่ และเชื่อมโยงไปยังขบวนการค้ายาเสพติดได้ แต่ สธ.ก็ได้รับการตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ขยับฐานะจากยาควบคุมพิเศษเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแล้ว

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากรับคดีทุจริตยาแก้หวัดซูโดฯ เป็นคดีพิเศษแล้ว ก็ได้ตรวจพบพบว่า กระบวนการทุจริตเบิกยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง มีการทำเป็นกระบวนการ โดยรวบรวมยาแก้หวัด และจะความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าในมิติของการส่งของกลาง การนำยาแก้หวัดจาก โรงพยาบาลและมีตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยง

สำหรับรูปแบบขบวนการทุจริตเบิกยาแก้หวัด เกิดขึ้นจากการนำยาแก้หวัดออกจากคลังยาของกระทรวงสาธารณสุข โดยมี 3 รูปแบบ คือ 1.ด้วยการจัดซื้อ ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีการเซ็นอนุมัติ ขอเบิกยาจากคลังของ สธ.โดย มีใบสั่งซื้อเป็นหลักฐาน จากนั้นยาแก้หวัดจะถูกส่งเข้าคลังยาของโรงพยาบาลโดยมีเภสัชกร เป็นผู้จัดทำบัญชีรายการจำนวนยาแก้หวัดที่เบิกเข้ามาในโรงพยาบาล หรือเรียกว่า (สต็อกการ์ด) รูปแบบนี้ดีเอสไอพบที่ จ.อุดรธานี คือ ทำสต็อกการ์ดเป็นเท็จแล้วดึงยาแก้หวัดออกจากระบบ โดยทำทีว่าเบิกจ่ายยาแก้หวัดออกไปให้กับ โรงพยาบาลอื่นๆ ที่สั่งมา แต่สุดท้ายยาแก้หวัดถูกนำไปให้คนกลาง ส่วนเงินก็เข้ากระเป๋าของเภสัชเม็ดละ 1.30 บาท สูญหายไป 7.2 ล้านเม็ด

2.ไม่มียาแก้หวัดเข้าสู่ระบบคลังยาของโรงพยาบาล เนื่องจากเภสัชกรที่ทุจริตจะอาศัยหนังสือสั่งของ โรงพยาบาลไปยื่นให้โรงงานที่ผลิตยา เพื่อสั่งซื้อยาแก้หวัดโดยมีคนกลางออกเงินให้ และเมื่อโรงงานผลิตยาออกมาแล้ว แทนที่ตัวยาแก้หวัดจะเข้ามาที่คลังยาของโรงพยาบาล กลับถูกนำไปให้คนกลางที่มารอรับ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลประโยชน์ละ เม็ดละ 80 สตางค์ 3.ส่วนอีกระบบจะซับซ้อนขึ้นคือนำทั้งสองรูปแบบที่กล่าวมารวมกัน โดยคนกลางจะได้เงินส่วนต่างจากซื้อขายยาแก้หวัดเม็ดละ 2.20 บาท เรื่องนี้ยังไม่ได้กล่าวหาผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่งว่ากระทำผิด เพราะกระบวนการสืบสวนสอบสวนพบว่า ขั้นตอนทุจริตเกิดจากระบบจัดทำเอกสารเบิกจ่ายยา ออกจากคลังโรงพยาบาล ดังนั้น อาจมีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เกี่ยวหรือไม่มีส่วนรู้เห็นก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันและปราบปรามฟื้นฟู และเยียวยาด้านยาเสพติด ก็พยายามที่จะเปิดโปงกรณีพบหลักฐานการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ขโมยยา และคนสนิทข้าราชการระดับสูง สธ. ให้ประจักษ์ต่อสังคม โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดของชื่อย่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวเลขสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ผู้บริหารระดับบิ๊กจะได้รับอีกด้วย

เรียกว่า งานนี้เล่นเอากระทรวงหมอสั่นสะเทือนกันทั้งกระทรวงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าขบวนการดังกล่าวจะมีใครอยู่เบื้องหลัง ทว่า หลังจากที่พบความผิดปกติการเบิกจ่ายยาซูโดอีเฟดรีน ผุดขึ้นมานับแสนนับล้านเม็ดก็ถือว่าฟ้องศักยภาพการทำงานเรื่องการควบคุมยาของ สธ.ได้แล้วว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ สธ.ทำคงไม่ใช่แค่การเร่งสอบสวนกรณียาซูโดฯ เท่านั้น แต่หมายความว่า ต้องกลับไปพัฒนาระบบเบิกจ่าย และควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น