“สุรชัย” ชี้เว็บศาลรัฐธรรมนูญลงข้อมูลผิดต้องรีบแก้ด่วน กรณีระบุช่องทางการยื่นตามมาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ยันประชาชนมีสิทธิยื่นเองได้ มึน “เสื้อแดง” ฉวยโอกาสปลุกระดมสร้างความแตกแยก ทั้งที่สามารถร้องศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งระงับแก้ รธน.นี้ได้ แต่กลับไม่ทำ ด้าน “ประพันธ์” ซัดพฤติกรรมส่อเจตนาชัดเจนว่าต้องการล้มล้างการปกครอง
วันที่ 6 มิ.ย. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และนายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
จากกรณีมีคนอ้างว่าเว็บของศาลรัฐธรรมนูญเองระบุว่า ช่องทางการยื่นตามมาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เว็บของศาลน่าจะลงข้อมูลไม่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะเว็บบอกเองว่าการนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และมาตรา 237 ช่องถัดไปผู้มีสิทธิ์ เขียนว่า อัยการสูงสุด ซึ่งตนทักท้วงเลยว่าไม่ใช่ ยิ่งมาตรา 237 ซึ่งโยงมามาตรา 68 แล้วมันก็มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคที่ออกโดย กกต. แล้วก็มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการมือง ซึ่งทั้งสองฉบับไม่ได้บอกว่าอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีสิทธิ ศาลต้องรีบไปแก้ไขเว็บเลย แต่อย่างไรก็แล้วแต่เว็บศาลไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมาย จะเอามาอ้างอิงไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า 1. คำสั่งศาลให้ระงับแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ได้ปรากฏว่ามีลักษณะตามมาตรา 216 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย จึงไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมไม่ผูกพันรัฐสภา
2. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 6 อันเป็นการใช้อำนาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ไม่สามารถใช้บังคับกับรัฐสภาได้ เพราะรัฐสภามิใช้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
นายสุรชัยกล่าวว่า ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัย แล้วเข้ามาตรา 216 หรือไม่ เอาแน่ๆ ว่ามาจากศาล แล้วเขาสั่งให้หยุดการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ก็ไม่เห็นน่าจะมีอะไรไปหยิบประเด็นมาโต้แย้งกัน เพื่อสร้างบรรยากาศความแตกแยก
ตนเห็นว่าการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้ ถ้าเผื่อไม่เห็นด้วย กระบวนการทางกฎหมายก็มี ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ร้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ให้ศาลทบทวนได้ แต่ดันไม่ทำ ตนก็ไม่เข้าใจ
นักวิชาการบางคนกล่าวหาถึงขั้นว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายอำนาจขอบเขตของตัวเองโดยไม่มีกฎหมายรองรับ นี่คือบรรยากาศที่จะทำให้เกิดขัดแย้งในสังคม ประชาชนได้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง แล้วเอาไปวิพากษ์วิจารณ์กัน อย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสิ้น
นายสุรชัยกล่าวขยายความต่อว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ว่าด้วยมาตรการยุบพรรคการเมือง ระบุไว้ว่าความผิดทุจริตการเลือกตั้งเท่ากับการปฏิวัติรัฐประหาร โดยมาตรา 237 เขียนว่า ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 68 ทีนี้เมื่อมาตรา 68 ผู้ทราบเหตุการณ์ร้องไปที่อัยการที่เดียว หรือร้องที่ศาลก็ได้ มาตรา 237 มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายฉบับนี้มาตรา 95 บอกว่าถ้ามีการโกงเลือกตั้งตามมาตรา 237 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องไปยังพนักงานอัยการ แต่ถ้าอัยการไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน หรืออัยการเห็นต่างจากนายทะเบียนพรรคการเมือง มาตรา 95 บอกว่า ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน และประชุมหาข้อยุติให้ได้ใน 30 วัน ถ้าไม่อาจหาข้อยุติได้ใน 30 วัน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้เอง
นั่นแปลว่าหลักการมาตรา 68 ไม่ได้ผูกขาดอำนาจที่อัยการสูงสุดคนเดียว เห็นชัดว่าเปิดช่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้ ขนาดนายทะเบียนยังมีสิทธิ์ยื่น แล้วประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์แท้ๆ ทำไมไม่มีสิทธิ์ยื่น
ด้าน นายประพันธ์กล่าวว่า ถ้าจะล่ารายชื่อถอดถอนศาลสามารถทำได้ แต่อย่ามาใช้วิธีเอามวลชนมาล้อมสภา เพื่อดึงดันแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ แบบนี้จะทำบ้านเมืองเป็นกลียุค
อีกทั้งกรณี 3 หนาห้าห่วง เมื่อ กกต.กระทำการไม่ชอบ ประชาชนไปฟ้อง ศาลวินิจฉัยว่าประชาชนฟ้องได้ แล้วรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ทำไมประชาชนจะฟ้องไม่ได้ ให้พวกที่ไม่เห็นด้วยไปตะแบงสู้กับศาลว่าจะชนะหรือไม่ บวกกับพฤติกรรมที่เห็นชัดว่าต้องการล้มล้างการปกครอง แม้อ้างว่าไม่ได้จะล้มล้าง แต่พฤติกรรมส่อเจตนา