xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์ 13 ครม.ลุ้นระทึกสองเด้ง ล้มการปกครอง-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
ครม.โยนกฤษฎีกาส่งแถลงปิดคดี “ยิ่งลักษณ์” ติดบ่วงลุ้นระทึกด้วย คำร้อง “จำลอง” โผล่เล่นงานฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ด้าน “บิ๊กอ๊อด” เรียกประชุมหน่วยข่าวมั่นคง ประเมินศุกร์ 13 หวั่นมือที่ 3 ป่วน

วานนี้ (10 ก.ค.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ตนเองและนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปสรุปข้อมูลแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ถูกร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดต่อมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองครอง โดยภายหลังการประชุมได้หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเดิมที่ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จ ทางกฤษฎีกาจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญทันที

แหล่งข่าวจาก ครม.เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.ตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ ครม.ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตยกับพวกเป็นผู้ร้อง ครม.จำนวน 35 รายรวม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมอบหมายให้กฤษฎีกาเป็นผู้รวบรวมข้อมูล พยาน หลักฐาน ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ ครม.35 คนดังกล่าว ยกเว้นนายศักดิ์ดา คงเพชร รมช.ศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ครม.ในวันนั้น ลงชื่อมอบอำนาจให้กฤษฎีกาดำเนินการดังกล่าวแทน

แหล่งข่าวต่อกล่าวว่า นายอำพนได้ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดสักเล็กน้อยก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. โดยนายกฯ กล่าวว่า “โดยหลักการ เราคงไม่สามารถพูดถึงแนวโน้มการวินิจฉัยได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่การแถลงปิดคดีทำให้ดีที่สุด เท่าที่เวลาเอื้ออำนวยให้เรา”

จากนั้น นายอัชฌาพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา รายงานต่อที่ประชุมว่า การทำคำแถลงปิดคดีไม่มีอะไรมาก อีกทั้งเวลาจำกัดเมื่อทำเสร็จก็ส่งมอบให้นายวรวัจน์ ตรวจทานอีกครั้ง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 ก.ค. ทั้งนี้ ครม.ไม่มีการอภิปรายกันมากนัก เพียงแต่ถามนายอัชฌาพรว่าหากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยออกมาจะมีผลผูกพันถึงคำร้องของ พล.ต.จำลอง และพวก 6 คน ที่ฟ้อง 416 ส.ส. เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่ ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกาชี้แจงว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่มีลักษณะเดียวกัน ศาล รธน.ก็จะนำมาพิจารณาในคราวเดียวกัน ดังนั้น หากศาล รธน.วินิจฉัยไปทางใดทางหนึ่ง ก็มีผลผูกพันต่อคำร้องของ พล.ต.จำลองด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ ครม.จะไม่มีการอภิปรายกว้างขวาง แต่ปรากฏว่าบรรยากาศก่อนการประชุม ครม.มีรัฐมนตรีหลายรายเรียกนายอัชพรมาพูดคุยและให้ช่วยประเมินสถานการณ์ในวันที่ 13 ก.ค. จากนั้นเมื่อได้เวลาการประชุม ครม. ปรากฏว่า ครม.ยังมากันไม่ครบ ทำให้รัฐมนตรีบางรายถึงส่งเสียงแซวขึ้นมาว่ารีบเข้าประชุมกันเร็วๆ เดี๋ยวจะไม่ได้ประชุมกันแล้ว เรียกเสียงเฮฮาในห้องประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 18.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ เปิดเผยว่าในวันที่ 11ก.ค.นี้ ตนได้เรียกประชุมบูรณาการด้านการข่าวจาก 14 หน่วยงาน เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 13 ก.ค.นี้ รวมทั้งสั่งการเรื่องการดูแลความปลอดภัยภายในศาล โดยให้เฝ้าระวังมือที่ 3 เข้ามาป่วนสถานการณ์ การเฝ้าระวังกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มคัดค้านไม่ให้เกิดการปะทะกัน พร้อมกันหากนี้ตุลาการต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปรักษาความปลอดภัยก็พร้อมจะจัดให้ทันที แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครขอกำลังเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น