ครม.สุมหัวแก้เกมกล่าวหาล้มการปกครอง “ชุมพล” สั่นหวั่นโดนยุบพรรคซ้ำซ้อน เลขาฯกฤษฎีกาโวเกมทันกันชู “เรืองไกร” ยื่นยุบ 6 พรรคกันท่าแล้ว หากยุบ พท.ต้องยุบ ปชป.ด้วย ด้าน “จารุพงศ์” ปล่อยมุขเร่งเข้าประชุม บอก” ไม่รู้จะได้ประชุม ครม.อีกหรือเปล่า” ขณะที่ “ชัจจ์” ปล่อยมุก “ผมไม่เท่าไร ห่วงแต่เลขาฯ เพราะเป็น กก.บห.ถ้ายุบพรรคก็จะไปด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 10 ก.ค. นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ให้นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงเพื่อให้ ครม.รับทราบความคืบหน้าเรื่องแนวทางการดำเนินการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ส่งแถลงการณ์ปิดคดีของฝ่ายผู้ถูกร้องในวันที่ 11 ก.ค. ขณะที่เลขาฯ กฤษฎีการะบุว่า การดำเนินการเรื่องนี้ไม่มีอะไร ไม่ต้องขอความเห็นชอบ ครม.แล้วเวลามีจำกัด คำแถลงปิดคดีในส่วนของ ครม.ผู้ที่รับหน้าที่ในการร่างปิดคดีคือ เลขาฯ กฤษฎีกา และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตรวจเพียงคนเดียว เนื่องจากเวลากระชัดชิด โดยหลักเราไม่สามารถพูดถึงคำวินิจฉัยได้ แต่คำแถลงปิดคดีเราจะทำให้ดีที่สุด เท่าที่เวลาเอื้ออำนวยให้เราได้ทำ ส่วนคำร้องของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวกที่ร้อง 416 นักการเมืองไม่มีผลผูกพัน หมายความว่า ถ้ามีคำวินิจฉัยวันที่ 13 ก.ค.แล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะตีความร่วมไปกรณีคำร้องของ พล.ต.จำลองด้วย นำคำร้อง พล.ต.จำลองมารวม 5 คำร้อง ซึ่งคำร้องของ พล.ต.จำลอง และพวกรวม 6 คน จะไม่มีผลผูกพันหรือต้องดำเนินการต่อ
ขณะที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ขอเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาย้ำว่า “อยากให้ตอบให้ชัด หมายความว่าอย่างไร คำตัดสินเป็นอย่างไร จะมีผลไปถึงอะไรบ้าง หมายถึงจะโดนยุบซ้ำซ้อนใช่หรือไม่ เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยโดน พรรคผมโดนติดไปด้วยใช่ไหม ผมไม่ต้องรอลุ้นใช่ไหม “ขณะที่ทางเลขาฯ กฤษฎีกา ปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่หมายความว่า ถ้าคำตัดสินของศาลเป็นทุน ตรงนี้ก็จะเป็นทุนด้วย แต่ถ้าเป็นโทษอย่างหลังก็จะเป็นโทษด้วย เพราะถือเป็นกรณีเดียวกัน คือเป็นการยื่นร้องต่อการทำหน้าที่ที่มิชอบ เพียงแต่ 5 คำร้องนั้นเขาบอกว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่คำร้องของ พล.ต.จำลอง และรวมกับพวก 6 คน เป็นการยื่นว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งถือว่าอยู่ในหมวดเดียวกัน
โดยกรณีของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ก็เหมือนกัน ที่ยื่นยุบ 6 พรรค เพราะคาดว่า ถ้ายุบพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แต่กระบวนการที่จะไปยื่นถอดถอน หรือไปยื่นว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่ยกมือสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ก็ไปตั้งคณะกรรมาธิการมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องไปด้วยกัน เกมนี้มันเป็นเกมดับเบิ้ลล็อค ถ้ายุบพรรคเพื่อไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วต้องยุบอีก 4 พรรคตอกย้ำด้วย ดังนั้น การที่นายเรืองไกรยื่นอย่างนี้จึงถือเป็นการยื่นเพื่อปรามว่า อย่ายุบนะ ประมาณว่าเกมมันทันกัน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวที่ประชุม ครม. เปิดเผยด้วยว่า ก่อนการประชุม ครม. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีคมนาคม ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนา และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แบบติดตลกว่า “เร็วๆ เข้าไม่รู้ว่าจะได้ประชุม ครม.อีกหรือเปล่า” ขณะที่ พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า “ผมไม่เท่าไรหรอก เพราะผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคหนักหน่อย เพราะถ้ายุบพรรคก็จะไปด้วย”