xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำร้องพันธมิตรฯ ยื่น ป.ป.ช.เอาผิด 416 นักการเมืองล้มล้าง รธน. (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก ลุงจำลองแฟนคลับ
เมื่อสมาชิกรัฐสภาได้ทราบถึงนโยบายของคณะรัฐมนตรีข้อ 1.16 หากไม่ได้มีการท้วงติง ตั้งข้อสังเกตในวันแถลงนโยบาย สมาชิกรัฐสภาก็จะต้องใช้ความระมัดระวังมิให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน โดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยต้องระมัดระวังมิให้คณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายปฏิรูปการเมืองที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา แต่ปรากฏว่าได้มีการกร่วมมือกันกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญกล่าวคือ มีการสร้างภาพให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้าย เพราะมาจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีมวลชนคนเสื้อแดงของพรรคการเมืองร่วมลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย โดยไม่ปรากฏว่ามวลชนที่ร่วมลงชื่อนั้น ได้รับผลร้ายในการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันอย่างใดและรัฐสภาได้รับไว้ โดยประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาจะต้องรู้ว่า ประชาชนไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย การเข้าชื่อของประชาชนที่จะขอให้รัฐสภาพิจารณาได้นั้น จะทำได้ก็แต่เฉพาะให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ( เรื่องสิทธิและเสรีภาพ) และหมวด 5 ( และนโยบายพื้นฐานของรัฐ) โดยต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 163 เท่านั้น และเมื่อมีประชาชนเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกรัฐสภาโดยผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้องที่ 273 และผู้ถูกร้องที่ 2 ถึงผู้ถูกร้องที่ 126 ผู้ถูกร้องที่ 274 , 275 ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ …..) พ.ศ….... ..เสนอต่อรัฐสภา และประธานรัฐสภาก็รับไว้เข้าวาระการประชุม ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประชุมมีมติให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่รัฐสภา ประธานรัฐสภาก็รับเข้าวาระการประชุมรัฐสภา อันเป็นการกระทำที่มีการร่วมกันวางแผนดำเนินการเป็นกระบวนการ แบ่งงานกันทำเป็นขั้นตอน อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย และอาศัยอำนาจหน้าที่ในการเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ถูกร้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำความผิดอาญาในข้อหาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และ/ หรือปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

4.3 ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้อง ที่ 275 ผู้ถูกร้องที่ 311 ถึงผู้ถูกร้องที่ 343 ผู้ถูกร้องที่ 127 และผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 310 รวม 399 คน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 323 คน และเป็นวุฒิสมาชิก 76 คน ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายคือ เมื่อระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 9.30 นาฬิกา ต่อเนื่องกันมาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 24.00 นาฬิกา ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือด่วนมากที่ สผ. 0014 / ร 10 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 ( สมัยสามัญนิติบัญญัติ ) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ ……) พ.ศ. …… โดยมีระเบียบวาระให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ ……) พ.ศ.……ทั้งสามร่างให้พิจารณาตามสำดับร่างรัฐธรรมนูญลำดับแรก โดยนายสุนัย จุลพงศ์ธร ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้องที่ 273 เป็นผู้เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญลำดับที่ 2 โดย นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องที่ 121 กับผู้ถูกร้องที่ 2 ถึงผู้ถูกร้องที่ 126 ผู้ถูกร้องที่ 274 ถึงผู้ถูกร้องที่ 276 เป็นผู้เสนอ และร่างรัฐธรรมนูญลำดับที่ 3 โดย พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ผู้ถูกร้องที่ 298 โดยมติคณะรัฐมนตรี ( ผู้ถูกร้องที่ 127 ผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 310 ) เป็นผู้เสนอ

ผู้ถูกร้องทั้ง 399 คนที่ได้เข้าร่วมประชุมได้ทราบดีถึงสถานะของตนเองว่าเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยและใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจในทางรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนเองมาเท่านั้น แต่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่เลือกตั้งตนเอง หรือไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม อำนาจอธิปไตยที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนและจากผู้ร้องให้ทำหน้าที่ในรัฐสภานั้น จะใช้อำนาจเกินกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนและของผู้ร้องไม่ได้ เมื่อประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย สมาชิกรัฐสภาก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายด้วย สมาชิกรัฐสภาที่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ผลของการใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นโมฆะ และไม่มีผลใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป และการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโมฆะนั้น สมาชิกรัฐสภาจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามเอกสิทธิโดยเด็ดขาดที่จะไม่ถูกฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ได้แต่อย่างใด เพราะเอกสิทธิโดยเด็ดขาดเป็นเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะแต่การกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่คุ้มครองการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโมฆะ และไม่คุ้มครองความผิดอาญาในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึง 260 ผู้ถูกร้องที่ 262 ถึง 273 ผู้ถูกร้องที่ 275 ผู้ถูกร้องที่ 276 ถึงผู้ถูกร้องที่ 295 ผู้ถูกร้องที่ 311 ถึง 416 ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายโดยในระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวันถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวัน ผู้ถูกร้องดังกล่าวได้รู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในตัวบทของมาตรา 291 ได้เลย แต่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆได้เป็นรายมาตรา โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ เพราะมาตรา 291 ได้นำมาบัญญัติไว้ในหมวด 15 “ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ” และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆทุกมาตราตามมาตรา 291 นั้น จะต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16 ) ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบได้แต่อย่างใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 จะต้องผ่านความเห็นชอบของมหาชนโดยต้องผ่านประชามติก่อนตามบริบทของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญหมวด 15 มาตรา 291 เป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นเครื่องมือตามรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา แต่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใดที่บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่จะใช้เป็นเครื่องมือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้เลย การเพิ่มข้อความใหม่ในรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็น “ หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ” และเพิ่มมาตรา 291/1 ถึงมาตรา 291 /17 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น จึงมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่จะนำมาเป็นเครื่องมือรองรับอำนาจการเพิ่มหมวด 16 ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกระทำโดยองค์กรอื่นได้เลย เมื่อไม่ปรากฏมีรัฐธรรมนูญมาตราใดมารองรับการเพิ่มเติมข้อความต่อจากมาตรา 291 เป็นหมวด 16 แต่ได้นำมาประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อที่จะให้มีการลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าวทั้งสามฉบับ จึงเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ลงมติให้ความเห็นชอบโดยไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดบัญญัติรองรับมติให้ความเห็นชอบดังกล่าวเลย การลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฯทั้งสามฉบับจึงเป็นการลงมติโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 , 136 (16 ) และบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและปวงชนไทยโดยผู้ถูกร้องลงมติดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโมฆะ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มติดังกล่าว จึงเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ การกระทำในลำดับหลังต่อมาย่อมเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ด้วย

การลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวของผู้ถูกร้อง เป็นการลงมติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรคสี่ เพราะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยรู้อยู่ว่าเป็นอำนาจที่จะมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการแทนไม่ได้
ตามที่ผู้ร้องได้บรรยายไว้ในคำร้องข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องในการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือโดยทุจริต แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

4.4 ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้องที่ 416 ทั้งในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก่อนเข้ารับตำแหน่งได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า “ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ( ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ) และผู้ถูกร้องในฐานะคณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขว่า “ จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 176

ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องที่ได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่…..) พ.ศ……ต่อรัฐสภา เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำ และหากร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำตกไปนั้น ก็ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่กำหนดไว้ มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณาก็ดี การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯก็ดี การลงมติร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวก็ดี จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 มาตรา 176 และมาตรา 122 ซึ่งเป็นโมฆะ และเมื่อใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง ซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยไปใช้ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดอาญา ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองและผู้อื่น โดยใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องและปวงชนชาวไทยไปดำเนินการโดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโมฆะทั้งสิ้น

ข้อ 5. ผู้ถูกร้องที่ 416 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 416 ทั้งในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธานรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและดำเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 และรัฐธรรมนูญมาตรา 125

ผู้ถูกร้องที่ 416 ได้รู้ถึงอำนาจหน้าที่ของตน ตามที่ได้ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาว่า “ จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ” ตามมาตรา 123

ผู้ถูกร้อง 416 จะต้องทราบถึงการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและในทางบริหารนั้น เป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่เป็นอำนาจส่วนตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะรัฐมนตรี หรือของสมาชิกวุฒิสภาที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ แต่จะต้องใช้อำนาจรัฐทางด้านนิติบัญญัติ และทางด้านบริหารให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ถูกร้องที่ 416 จะต้องทราบถึงการใช้สิทธิของสมาชิกรัฐสภา ทราบถึงการใช้อำนาจทางรัฐสภา ว่าจะใช้สิทธิทางรัฐสภาในเรื่องใดได้หรือไม่ และจะใช้สิทธิทางรัฐสภาได้เพียงใด รวมถึงต้องทราบว่า สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะใช้สิทธิทางรัฐสภาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ใช้ในปัจจุบันได้เลย ตามที่ผู้ร้องได้บรรยายฟ้องตามคำร้องข้อ 1 , 2 , 3 และข้อ 4

ผู้ถูกร้องที่ 416 ได้รู้แล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 โดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามนโยบายข้อ 1.16 ที่จะปฏิรูปการเมือง อันเป็นนโยบายที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประธานรัฐสภาจะต้องทราบถึงหลักการปกครองในระบบรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาจะต้องคานอำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยจะให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่ได้ เพราะกลไกของสถาบันการทางเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารต้องมีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา ที่ต้องตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน นโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการตามนโยบายของฝ่ายบริหารที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เมื่อสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฯเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ร่างรัฐธรรมนูญฯของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภามีข้อความนัยเดียวกันและเหมือนกัน ผู้ถูกร้องที่ 416 จะรับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาไม่ได้ และจะใช้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับไม่ได้เลย การที่ผู้ถูกร้องที่ 416 รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและของคณะรัฐมนตรีไว้พิจารณา และได้ดำเนินการพิจารณาและดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งสามฉบับ โดยมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามดังกล่าวในวาระแรก จึงเป็นการที่ผู้ถูกร้องที่ 416 ปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือโดยทุจริต เป็นการสมยอมกันในทางอำนาจ ไม่ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหาร อันเป็นหน้าที่ที่ผู้ถูกร้องต้องกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานรัฐสภา การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 416 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

ผู้ถูกร้องที่ 416 ได้ทราบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ว่า ไม่มีข้อบังคับให้รัฐสภาประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯทั้งสามฉบับของรัฐสภาที่ผู้ถูกร้องที่ 416 ดำเนินการไปนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามนัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำการนอกเหนือที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ดังนั้นจึงไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภาฯที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของรัฐสภาในกรณีนี้ได้
การประชุมและการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญด้งกล่าวที่ผู้ถูกร้องที่ 416ได้เป็นประธานดำเนินการไปนั้น เป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีข้อบังคับที่จะให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ กรณีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือโดยทุจริตของผู้ถูกร้องที่ 416

ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายทั้งในทางรัฐธรรมนูญและทางอาญา ในการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 416 คน การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐในทางนิติบัญญัติและในทางบริหาร ซึ่งไม่ทำหน้าที่ตามกลไกทางสถาบันทางการเมือง เพื่อให้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมีดุลยภาพ และมีประสิทธิภาพตามวิถีทางปกครองแบบรัฐสภา และไม่ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติกำหนดไว้ แต่ได้มีการสมยอมกันในทางอำนาจ อันเป็นการทุจริตคอรัปชั่นในทางอำนาจ โดยใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องการเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และผู้ร้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันนั้น จึงเป็นการกระทำที่เกิดความเสียหายแก่อำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ มีสิทธิที่จะต่อต้านโดยสันติวิธี ในการกระทำของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 และผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในบริบทของรัฐธรรมนูญที่ผู้ร้องต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ถูกร้องจึงมีอำนาจหน้าที่ มีสิทธิและเสรีภาพที่จะใช้สิทธิทางคณะกรรมการปปช.ได้เมื่ออำนาจอธิปไตยของผู้ร้องถูกละเมิด โดยมีการนำเอาอำนาจอธิปไตยของผู้ร้องไปใช้โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิที่จะปกป้องอำนาจอธิปไตยของผู้ร้องโดยใช้สิทธิทางคณะกรรมการปปช.ได้ด้วยเช่นกัน

อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้มีการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญได้กระทำการอันเป็นการสมยอมหรือฮั้วกันในการใช้อำนาจเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญและใช้สภาเพื่อรวบอำนาจเด็ดขาด โดยจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และรัฐสภาได้ผ่านวาระแรกไปแล้ว เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่มีใครหรือหน่วยงานใดจะดำเนินการได้นอกจากจะใช้อำนาจของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่สามารถดำเนินการได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยสามารถใช้อำนาจของอธิปไตยของผู้ร้องได้โดยตรง โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้ร้องใช้อำนาจอธิปไตยของโจทก์ได้ทางศาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสอง แต่ผู้ร้องมีข้อจำกัดที่จะไปใช้สิทธิทางศาลในการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางคณะกรรมการปปช. โดยยื่นคำร้องนี้


ข้อ 6. ผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 ถึง 110 , ผู้ถูกร้องที่ 127 ถึง 258 , ผู้ถูกร้องที่ 260 ถึง 262 ผู้ถูกร้องที่ 276 ถึง 278 ผู้ถูกร้องที่ 280 ถึง 285 ผู้ถูกร้องที่ 287 ถึง 302 , ผู้ถูกร้องที่ 304 ถึง 310 และผู้ถูกร้องที่ 416 เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 , ผู้ถูกร้องที่ 111 ถึง 125 และผู้ถูกร้องที่ 275 , 279 , 303 เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกร้องที่ 126 เป็นสมาชิกพรรคมหาชน ผู้ถูกร้องที่ 263 ถึงผู้ถูกร้องที่ 268 เป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนา ผู้ถูกร้องที่ 269 ถึง 273 และผู้ร้องที่ 286 เป็นสมาชิกพรรคพลังชล ผู้ถูกร้องที่ 274 เป็นสมาชิกพรรคมาตุภูมิ พรรคการเมืองดังกล่าวได้แสดงเจตนาที่จะร่วมกันเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยไม่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

นโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาจึงเป็นโยบายร่วมกันของพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ

ผู้ถูกร้องทั้งหมดไม่ว่าสังกัดพรรคที่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยเจตนารู้แล้วว่า นโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภานั้น ขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในหมวด 5 และไม่มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันดังกล่าว เพราะมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินในปีแรกในข้อ 1.16 โดยจะเร่งรัดและผลักดันปฏิรูปการเมืองโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การมีเจตนาที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปีแรกก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. 2550

การแสดงเจตนาที่จะล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันในทันทีที่จะเข้ารับหน้าที่โดยแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งถือว่าได้ประกาศต่อประชาชนทั้งประเทศว่า รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติที่ร่วมเป็นรัฐบาล จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ แต่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นให้เสร็จภายในปีแรก จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการกระทำของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…..) พ.ศ……. โดยคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและร่างรัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นมวลชนของพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามคำร้องของผู้ร้องข้อ 2 , 3 , 4 ที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น และผู้ถูกร้องที่ 416 ก็ได้รับเรื่องนำเข้าวาระการประชุมโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นผลสำเร็จตามเจตนาของผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องก็ได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฯทั้งสามฉบับในวาระแรกไปแล้ว ตามที่ผู้ร้องได้กล่าวไว้ข้อ 4.1 , 4.2 , 4.3 , 4.4 และ ข้อ 5

การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าว เป็นการกระทำโดยเจตนาไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น ก็ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือ ไม่ยอมใช้อำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ใช้เป็นหลักควบคุมกลไกหรือองคาพยบขององค์กรต่างๆซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย อาสาปวงชนชาวไทยเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความมั่นคงในราชอาณาจักรแล้ว แต่กลับมาใช้อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากปวงชนชาวไทยและจากผู้ร้องมาดำเนินการเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องทั้งหมด จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามสุภาษิตกฎหมายอันเป็นหลักกฎหมายสากลว่า “ ไม่มีความมั่นคงในราชอาณาจักรใด ยิ่งไปกว่าการที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย ” ( Nihil tam proprium est imperii quam legibus videre ) การที่ผู้ถูกร้องมีเจตนาและมีการกระทำไม่อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้กระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้ดำเนินการล้มเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคณะบุคคลที่เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในข้อหาเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว

ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ อันเป็นการกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 เพราะได้มีการร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1 ) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ( 2 ) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ ( 3 ) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

การใช้กำลังประทุษร้ายนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 ( 6 ) บัญญัติว่า “ ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้เมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน

ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันใช้วิธีการประทุษร้ายแก่จิตใจของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้อง คือได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะบุคคลที่ผู้ถูกร้องคิดขึ้นเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้ถูกร้องกำหนดขึ้น
โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญตามเอกสารท้ายคำร้อง การรับร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาในรัฐสภา ทั้งดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ โดยการกระทำที่ผิดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องได้ร้องไว้ในข้อ 1 ถึง ข้อ 5 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดเพื่อให้มีการดำเนินการทางรัฐสภา โดยใช้เสียงข้างมากในรัฐสภานั้นเป็นการกระทำที่ผู้ถูกร้องได้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องที่ผู้ถูกร้องได้รับมอบหมายจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ไปดำเนินการทางรัฐสภาดังกล่าว การใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อสนองความต้องการของผู้ถูกร้องเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกร้องและพวกพ้องของผู้ถูกร้อง โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนหรือแกล้งโง่กับเสียงเรียกร้องของประชาชน ทั้งๆที่การใช้เสียงในรัฐสภานั้น เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทย จึงเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยและองค์พระประมุขอย่างที่สุด เพราะการที่ผู้ถูกร้องได้รับการเลือกตั้งให้ทำหน้าที่ในรัฐสภานั้น เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยได้ให้เกียรติมอบหมายให้ผู้ถูกร้องไปทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยทั้งมวล ด้วยความไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตย โดยผู้ถูกร้องต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกร้องได้กระทำการประทุษร้ายจิตใจของผู้ร้องซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยส่วนหนึ่งและปวงชนชาวไทยจำนวนมาก โดยผู้ถูกร้องไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ปวงชนชาวไทยให้เกียรติมอบหมายไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันใช้ระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยเสียงข้างมากมาดำเนินการในทางรัฐสภาเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ถูกร้องต้องรู้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น มิใช่เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว แต่ระบอบประชาธิปไตย ( Democracy) ได้มีวิวัฒนาการมานานจนมีหลักในทางปรัชญาที่สามัญชนเยี่ยงผู้ถูกร้องที่ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมือง จะต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีองค์ประกอบ คือ ( 1) การปกครองที่ประชาชนมีอำนาจการปกครอง หากไม่โดยตรงก็โดยตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือการปกครองโดยชนชั้นถูกปกครอง ( 2 ) การปกครองโดยเสียงข้างมาก ( 3) หลักของสมภาพในสิทธิ ,โอกาส , และการรักษาพยาบาล ( 4) สามัญชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้องได้ร่วมกันออกเสียงเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา แล้วอ้างว่าทุกคนต้องฟังเสียงข้างมากในสภา เพราะเป็นประชาธิปไตย เป็นการที่ผู้ถูกร้องบังคับให้ปวงชนชาวไทยทุกคนต้องผูกขาดฟังเสียงของพวกผู้ถูกร้องเท่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ใช่เป็นไปตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ครบองค์ประกอบ 4 ประการของคำว่า “ ประชาธิปไตย ” จึงจะใช้เสียงข้างมากมาตัดสินได้ การใช้เสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักของความสมภาพในสิทธิของมติมหาชนที่ให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาแล้วนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ใช่เป็นระบอบประชาธิปไตย และการใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพียงอย่างเดียวไม่อาจคุ้มครองการกระทำความผิดอาญาที่มีเจตนาร่วมกันเป็นหมู่ หาได้ไม่

ผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่างเป็นสามัญชนในความหมายทางปรัชญาของคำว่า “ ประชาธิปไตย ” ผู้ร้อง ผู้ถูกร้องและปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมือง ตามหลักปรัชญาของคำว่า “ ประชาธิปไตย” ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มาทำ “ หน้าที่ในทางการเมืองและใช้อำนาจในทางการเมือง” ผู้ถูกร้องจึงเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยและของผู้ร้องในการเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมืองแทนผู้ร้อง ผู้ถูกร้องไม่ได้ทำหน้าที่ในทางปกครองเฉพาะในทางนิติบัญญัติและทางบริหารแทนผู้ร้องและปวงชนชาวไทยเท่านั้น แต่ผู้ถูกร้องทำหน้าที่ในการใช้อำนาจในทางการเมืองแทนผู้ร้องและปวงชนชาวไทย โดยได้รับมอบหมายจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขด้วย


การออกเสียงโดยเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา เพื่อให้ทุกคนรวมทั้งปวงชนชาวไทยและผู้ร้องต้องยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่นั้น เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ( the best interest of the public ) และเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภานั้น ต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ตรงกับจุดประสงค์ ( Objective) ของปวงชนชาวไทยรวมทั้งผู้ร้องในขณะที่มีการออกเสียงในรัฐสภา เพราะจุดประสงค์ในการขณะที่มีการเลือกตั้งกับจุดประสงค์ในขณะที่มีการออกเสียงในรัฐสภา อาจเป็นจุดประสงค์ที่แตกต่างกันหรือไม่เหมือนกัน การนำเอาจำนวนผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมาใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ โดยสมคบคิดร่วมกันออกเสียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวกของตน โดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้มีการออกเสียงนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว การออกเสียงลงมติดังกล่าวก็เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองโดยขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องและปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 , 4 , 26 , 27 , 28 การออกเสียงลงมติดังกล่าว จึงเป็นการประทุษร้ายต่อจิตใจของผู้ร้องและปวงชนชาวไทย และการออกเสียงลงมติดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการออกเสียงตามหลักปรัชญาของประชาธิปไตย ที่ผู้ถูกร้องจะนำมากล่าวอ้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่จะบังคับให้ปวงชนชาวไทยหรือผู้ร้อง รับฟังในผลของการออกเสียงของพวกผู้ถูกร้องหาได้ไม่

ผู้ถูกร้องได้ทราบนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามที่ผู้ถูกร้องที่ 276 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ในข้อ 1.16 ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยผู้ถูกร้องทั้งหมดต้องได้รู้แล้วว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ และ ผู้ถูกร้องในฐานะเป็นสามัญชน เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยและเป็นผู้แทนของผู้ร้อง ในการใช้อำนาจทางปกครองอำนาจในทางนิติบัญญัติ และอำนาจในทางการเมืองแทนผู้ร้องและปวงชนชาวไทยนั้น ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายใดๆที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตามที่ผู้ถูกร้องที่ 276 แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ โดยผู้ถูกร้องจะต้องรู้ว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงทางรัฐสภานั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายต่อจิตใจของผู้ร้องและของปวงชนชาวไทยอย่างแสนสาหัส การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวทั้งหมด เป็นการร่วมกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในข้อหาเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 การออกเสียงในสภาเป็นเสียงข้างมาก เป็นกระบวนการของการกระทำความผิดอาญาในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรหรือเป็นกบฏ และไม่ได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำความผิดอาญา แม้จะมีเสียงข้างมากในสภาก็ตาม เพราะเป็นเจตนาร่วมกันกระทำความผิดอาญาดังกล่าว

6.1 จำเดิมเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2550 ผู้ถูกร้องที่ 229 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้กระทำการเคลื่อนไหวเป็นแกนนำพีทีวีนำมวลชนมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวง โดยจะชุมนุมไปถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2550 เพื่อขับไล่ คมช. และระบอบเผด็จการให้ออกไปจากประเทศ โดยผู้ถูกร้องกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาของการสะสมกำลังมวลชนและประชาชน เพื่อให้ได้จำนวนประชาชนที่มากที่สุดที่จะใช้ต่อสู่กับระบอบเผด็จการ โดยใช้ชื่อว่า “ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ นปช. โดยเห็นว่าปัญหาทุกอย่างเกิดจากคมช. หากคมช.หลุดพ้นออกไปได้ หน่วยงานและองค์กรต่างๆที่เกิดจากคมช.ก็จะต้องหลุดตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นครม. คมช. , คตส. และจะร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นด้วย ต่อมากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ( นปก.) มีผู้ชุมนุมมากขึ้น ได้มีการจัดตั้ง 7 ตัวแทนเพื่อตัดสินใจเคลื่อนไหว โดยมีผู้ถูกร้องที่ 208 และ 335 ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายวีระ มุกสิกพงศ์ และบุคคลอื่นอีกรวม 7 คน เป็นแกนนำร่วมตัดสินใจ และได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น “ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ “ นปช.” มีสัญลักษณ์เสื้อสีแดงเป็นจุดหมายร่วมกัน โดยนัดให้ผู้ชุมนุมสวมเสื้อแดงมารวมตัวกันที่สนามหลวง ได้มีการประกาศรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และได้มีการชุมนุมต่อเนื่องกดดันรัฐบาล จนรัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง

เมื่อรัฐบาลได้ยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ปรากฏว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งจำนวนมากที่สุด จึงเป็นแกนนำจัดตั้ง “ รัฐบาล” เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วความจำเป็นในการขับไล่เผด็จการก็หมดสิ้นไป ไม่มีความจำเป็นที่พวกผู้ถูกร้องซึ่งมีอำนาจทั้งนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจในทางการเมือง จะต้องใช้แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือ กองกำลังคนเสื้อแดงอีกต่อไป แต่กลับปรากฏว่า ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการกระทำจัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง มีการใช้กำลังคนเสื้อแดงคอยเข้าด้วยช่วยเหลือประชาชน หรือนักวิชาการที่มีความเห็นในทางเดียวกันกับความคิดเห็นของพวกผู้ถูกร้องและของรัฐบาล และกองกำลังคนเสื้อแดงจะเข้าขัดขวางหรือสำแดงพลังกับกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกผู้ถูกร้อง และได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นเป็นที่ประจักษ์แล้ว การกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. จึงเป็นพฤติการณ์ของการกระทำที่อยู่ในอาณัติของผู้ถูกร้อง เพราะเป็นการกระทำที่มีการชักใยอยู่เบื้องหลัง ( manipulation ) ซึ่งก็ได้มีการประกาศว่าจะดำเนินการให้มีหมู่บ้านคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน และได้มีการดำเนินการต่อมาซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนแล้วเนืองๆ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ภรรยาผู้ถูกร้องที่ 335 ได้ร่วมแถลงท่าทีของนปช.ร่วมกับรองประธานนปช. และโฆษกนปช. โดยกำหนดแนวทางในการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจากการปฏิวัติ โดยนปช.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน จะเรียกร้องให้ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจาก สสร. 100 คน จากการเลือกตั้งทั้งหมด จะไม่คัดมาจากวิธีพิเศษโดยจะร่วมกันลงชื่อ 2 แสนคนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในเดือนมกราคม 2555 ผู้ถูกร้องที่ 229 ได้แสดงเจตนาต่อสาธารณชนที่จังหวัดกระบี่ว่า รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสร็จแล้วจะทำการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. หลังจากนั้นก็จะเร่งลงประชามติโดยจะไปถามประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด สิ่งนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดง ผู้ถูกร้องที่ 229 ยังได้กล่าวว่า แม้ผู้ถูกร้องจะได้อยู่ในสภาหรือนอกสภาภารกิจก็ไม่ต่างกัน แต่ภาระหน้าที่ของเราคือ การประคับประคองรัฐบาลให้อยู่จนครบเทอม………… เพราะรัฐบาลนี้มีคนเสื้อแดงหนุนหลังและเป็นกองกำลังเดียวที่มีความแข็งแรงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากว่าไม่มีคนเสื้อแดงรัฐบาลนี้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 หลังจากที่ผู้ถูกร้องที่ 233 ประธานวิปรัฐบาลพร้อมด้วยสส.พรรคร่วมรัฐบาลได้นำรายชื่อสส. 275 คน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อผู้ถูกร้องที่ 416 แล้ว ในตอนบ่ายกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาตินำโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ พร้อมด้วย สส.ที่เป็นแกนนำ นปช.คือ ผู้ถูกร้องที่ 335 ผู้ถูกร้องที่ 187 และผู้ถูกร้องที่ 225 ได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ฉบับของนปช.แนบรายชื่อประชาชนสนับสนุน 6 หมื่นคน ยื่นต่อผู้ถูกร้องที่ 416 โดยผู้ถูกร้องที่ 335 ได้แสดงออกโดยให้ข่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนปช.มีความก้าวหน้ากว่าของพรรคเพื่อไทย เพราะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งสสร.ทั้ง 100 คนจากประชาชน แต่ของพรรคเพื่อไทยมีรายชื่อตัวแทนจากฝ่ายต่างๆถึง 22 คน ซึ่งอาจจะเปิดทางให้กลุ่มจารีตนิยมเข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก เราต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นประชาธิปไตย ร่างโดยประชาชนเพื่อประชาชน และต้องการให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมด คาดว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำประชามติแล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้า การกระทำโดยแสดงออกของผู้ถูกร้องที่ 335 เป็นการแยกประชาชนที่มีความคิดเห็นในทางอนุรักษ์นิยม หรือจารีตนิยมว่าไม่ใช่เป็นประชาชน และไม่มีสิทธิเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จึงเป็นการกระทำที่แบ่งแยกประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างกันออกจากกัน โดยเห็นว่าคนที่มีความคิดเห็นต่างไม่ใช่เป็นประชาชนที่มีสิทธิมีเสียงในประเทศไทยได้

การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 208 , 335 , 229 , 187 และที่ 225 ได้กระทำกิจการร่วมกับคนเสื้อแดง ปรากฏต่อสาธารณะแสดงว่า กลุ่มนปช. หรือคนเสื้อแดงเป็นกองกำลังของพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย ในการดำเนินการอันเป็นส่วนของแผนการเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ล้มล้างอำนาจตุลาการ เพราะปัจจุบันอำนาจตุลาการไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง หรือจากตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่เป็นอำนาจตุลาการที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาลตามนิติโบราณราชประเพณี การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจตุลาการตามนิติโบราณราชประเพณีที่คัดเลือกมาจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในทางวิชาชีพ ในระบบคุณธรรมไปเป็นอำนาจตุลาการที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงก็ดี การเปลี่ยนแปลงอำนาจตุลาการโดยให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้ง แต่งตั้งตุลาการ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจตุลาการเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทำการแทรกแซงอำนาจตุลาการได้ก็ดี ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญของอำนาจตุลาการที่ตุลาการจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนได้หรือไม่ ตุลาการมีความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมได้หรือไม่ ก็จะต้องทำประชามติก่อนที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา เพราะมิฉะนั้นความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นในสังคมอย่างรุนแรง และไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ ( Peaceful Coexistence ) การกระทำของผู้ถูกร้องที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้อำนาจทางรัฐสภา ซึ่งมี” กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้การล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จนั้น การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องจึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำความผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือโดยทุจริต และเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐภายในราชอาณาจักร การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม หลายกระทงต่างกรรม ต่างวาระกัน มีการร่วมกันกระทำความผิดเป็นกระบวนการ ซึ่งหากสืบสวนสอบสวนแล้วมีผู้ร่วมกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ จ้างวาน ผู้สนับสนุน ก็ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายต่อไปด้วย การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องอยู่ในข่ายของการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (1 ) (2 ) มาตรา 114 , มาตรา 116 มาตรา 157 มาตรา 83 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 , 4 , 26 , 27 , 28 , 30 หมวด 5 และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 75 , 76 , 81 (3) ( 4) 127 , 136 (16) , 176 , 177 , 270 , 291

ผู้ร้องจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ถูกร้อง กรณีนี้มิใช่เป็นกรณีปกติธรรมดาโดยทั่วไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐภายในราชอาณาจักร และเป็นการกระทำซึ่งมีผลต่อสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทยทุกคนและของผู้ร้อง ตลอดจนความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอคณะกรรมการปปช.ได้โปรดดำเนินการโดยรวดเร็วต่อไปด้วย เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและประชาคมโลกโดยทั่วไป ซึ่งไม่มีประเทศในระบอบประชาธิปไตยใดในโลก ที่ชนะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้มีอำนาจรัฐมาแล้ว ได้ประกาศต่อสากลโลกว่าจะล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อสถานภาพของประเทศ ในทุกมิติในทางที่เสียหายในเวทีโลกเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น