xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ซัดฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ พวกมากลากไป จ้องโดดเดี่ยวตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศจ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
“โภคิน” ชี้ที่มาที่ไปของการจัดตั้งศาล รธน.-ปกครอง เป็นไปโดยสุจริต แต่มีปัญหาในเรื่องระบบการตรวจสอบ เพราะเป็นศาลเดี่ยว ด้าน “พีระพันธุ์” ลั่นไทยไม่ยอมรับศาลเดี่ยว เพราะไม่ยอมรับความเห็นต่าง ขณะที่ “รสนา” ย้ำ ทั้งสองศาลถือเป็นที่พึ่งของ ปชช.แต่ที่น่ารังเกียจ คือ ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ เป็นพวกเดียวกันจับมือกันโดยใช้เสียงข้างมากไป และจ้องโดดเดี่ยวสถาบันตุลาการ

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในการสัมมนาหัวข้อ “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกับระบบศาล” ซึ่งจัดโดย สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ได้มีการจัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในสายตานักการเมือง นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และผู้ได้รับผลกระทบ โดยมี นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม., นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ยุติธรรม และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายโภคิน กล่าวว่า ถ้าเทียบบทบาทต่อศาลที่มีต่อการเมืองในไทย ศาลยุติธรรมมีบทบาทมากที่สุด เนื่องจากมีการก่อตั้งมาก่อน ซึ่งเดิมเราไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ เราไม่มีองค์กรที่จะชี้ขาดต่อบทกฎหมายบางฉบับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา ตนเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในสมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ตนก็ผลักดันนโยบายว่าเราจะต้องมีศาลปกครอง ซึ่งความจริงรัฐธรรมนูญปี 2517 เคยเขียนไว้แล้วแต่ก็ถูกยึดอำนาจล้มล้างไป เวลานั้นความเข้าใจยังสับสน เพราะมีแผนกคดีปกครองอยู่แล้ว ตนถูกต่อว่ากล่าวขาน พอเขียนร่างกฎหมายเสร็จแล้วจะเสนอก็มีปัญหาจริงๆ เพราะ รมต.ยุติธรรม และตุลาการ ไม่เห็นด้วย ในที่สุดเมื่อได้อธิบายก็ได้นำ พ.ร.บ.ที่เขียนไว้เข้าสภาฯ ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 ก็ยังเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ต่อมามาปี 2540 ซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องขอบคุณ ส.ส.ร.ทุกคนที่นำสิ่งที่พยายามผลักดันเอามาเขียนรัฐธรรมนูญ และเขียนแยกไปถึงการมีศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปโดยสุจริต อยากเห็นระบบที่ชัดเจน ในการทำงานของศาลนอกจากรัฐธรรมนูญ จะบังคับไว้แล้วต้องมีความปราศจากอคติ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ และศาลมีวิธีพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความอิสระของศาลนั้น ศาลยุติธรรมใช้ระบบราชการประจำ และใช้ระบบอาวุโส ในอดีตเคยมีกระทรวงยุติธรรมทำงานธุรการให้ศาลทั้งหมด มันมีการก้าวข้ามกันได้ ส่วนศาลปกครองจะเป็นปัญหาเนื่องจากว่าพยายามจะผสมผสานระบบของฝรั่งเศสกับระบบความเป็นศาล เป็นข้าราชการตุลาการ พอเราตั้งขึ้นมาก็ไม่มีศาลชั้นต้นกับศาลสูง ซึ่งจะเกิดปัญหาเปรียบเทียบกัน ขณะเดียวกัน พอศาลชั้นต้นจะขึ้นศาลสูง มีปัญหาตรงที่อธิบดีไม่ได้ รองอธิบดีไม่ได้ หัวหน้าคณะได้ ศาลยุติธรรมเป็นไปไม่ได้ที่จะแซงขนาดนี้ ถ้าไม่จัดระเบียบเรื่องอาวุโส หลักประกันของศาลปกครองไม่มี ถ้าไม่แก้ไขจะเป็นจุดอ่อน

ด้าน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า ระบบศาลยุติธรรม เราไม่สามารถที่จะเป็นอย่างประเทศอื่นได้ แต่เราสามารถไปศึกษาว่าประเทศอื่นว่ามีระบบ มีพัฒนาการหรือวิธีการทำงานอย่างไร แล้วเอาตรงนั้นมาดูระบบสังคมไทยว่าไปกันได้หรือไม่ ก่อนที่จะนำมาหล่อหลอมหรือพัฒนาระบบขึ้นมาเอง นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยหลักทางวิชาการที่ทุกประเทศยอมรับเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เป็นพื้นฐานในการพัฒนาการ ซึ่งต้องดูว่าประสบการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร อาทิ สหรัฐอเมริกา เป็นระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) ฝรั่งเศสเป็นระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) ซึ่งสหรัฐอเมริกามีเพียงศาลเดี่ยว ส่วนประเทศแถบยุโรปอย่างเยอรมนี ก็มีศาลแขนงต่างๆ คู่ขนานกัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวตนมีความเชื่อในระบบศาลเดี่ยว แต่ประเทศไทยความคิดความเชื่อคนเดียวใช้ไม่ได้ ต่างคนต่างก็มีความคิดแต่เราก็อยู่ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีวิวัฒนาการที่เรียกว่า ศาลคู่ แม้ในใจตนเห็นว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองแล้ว ปัญหาหนึ่งแม้ตนจะชอบระบบศาลเดี่ยว แต่ประเทศไทยคงใช้ระบบนี้ไม่ได้ เพราะระบบศาลเดี่ยวผู้พิพากษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจรอบด้านจริงๆ แต่ว่าศาลของไทยเป็นระบบราชการที่สอบกันเข้ามา โดยใช้กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายวิอาญา และกฎหมายวิแพ่งเป็นหลัก ซึ่งถูกสอนให้เข้าใจยึดหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง ทั้งที่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมที่จะค้ำจุนประเทศไทยได้ คือ ความยุติธรรมที่ถูกต้องแท้จริง แต่คนที่จะอำนวยความยุติธรรมได้ก็ต้องเป็นบุคคล หรือหน่วยงานที่สากลยอมรับ ซึ่งก็ต้องมีระบบคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาล หรือตุลาการที่มีอำนาจเต็มตามกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ

ส่วนในประเด็นรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเฉพาะหลักยุติธรรมอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจในประเด็นทางการเมือง พัฒนาการทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครองและยอมรับ ซึ่งคนที่จะใช้อำนาจในการใช้อดุลยพินิจต้องมีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่ผ่านมา ในระบบศาลยุติธรรมไม่ต้องการยุ่งกับการเมือง เพราะไม่อยากถูกครหา และมองว่าฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ถ้าเขามาดำเนินการตรงนี้ตนเชื่อว่าน่าจะทำได้และทำได้ดี เมื่อเป็นเช่นนี้แม้จะเป็นเรื่องดีแต่มามองในด้านรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่ จะขาดความเข้าอกเข้าใจในมุมที่ลึกลงไป ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ก็จะทำให้ความยุติธรรมที่แท้จริง ที่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือต้องทำให้เกิดขึ้นแต่มันไม่เกิด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 14-15 ปีที่ผ่านมา บุคลากรที่เข้าไปทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ทั้งที่เป็นตุลาการและเจ้าหน้าที่ธุรการได้มีการพัฒนา ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่มานานแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร คนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับกฎหมาย ซึ่งเข้าใจระบบตรงนี้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ตนจึงขอสรุปว่า เรามาไกลเกินกว่าที่จะกลับมาใช้ระบบศาลเดี่ยวแล้ว แล้วเราจะกลับไปบอกว่าให้มันกำเนิดใหม่และคลอดใหม่ แล้วค่อยๆ โตกันมาใหม่ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในระดับสากลจะล้มละลายโดยสิ้นเชิง หากมีปัญหาอะไรที่จะให้กลับไปเป็นระบบศาลเดี่ยว พูดได้แต่ไม่ควรทำ เป็นธรรมชาติที่จะมีฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสีย ไม่มีใครพอใจได้ทุกเรื่อง เมื่อศาลตัดสินว่าคนนี้ได้ คนนี้เสีย คนเสียก็ต้องไม่พอใจ แต่นี่คือระบบกระบวนการยุติธรรม ถ้าศาลตัดสินไม่ถูกโดยทุจริตก็ฟ้องศาลว่าทุจริตได้ ซึ่งระบบมีอยู่แล้ว

ด้าน นางสาวรสนา กล่าวว่า ศาลปกครองมีความสำคัญ เพราะเป็นศาลที่ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการฟ้องรัฐในเรื่องของการใช้อำนาจ ทางปกครองที่ไม่ชอบ หรือการออกกฎหมายที่ไม่ชอบ ยอมรับว่า เวลานี้ประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนจะฟ้องรัฐเป็นปัญหาที่มีความละเอียด ต้องใช้ความรู้สูงมาก การที่จะมีคนนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เข้ามาจึงมีความจำเป็น สิ่งที่ต้องตระหนักคือถ้าคนในศาลปกครองเองรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม ศาลจะไปให้ความยุติธรรมกับใครได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านศาลปกครองจะมีปัญหา เพราะจะมีบุคลากรส่วนหนึ่งที่คติดว่าถ้าไม่ได้เป็นพวกแล้วจะถูกตัดออก ก็จะไปเข้าข้างกับฝ่ายการเมืองที่มีความพยายามผลักดันให้กลับไปสู่ศาลเดี่ยว ตนเห็นว่าเราไม่สามารถจะกลับไปใช้ระบบศาลเดี่ยวได้อีก แต่คนที่จะไปจับขั้วกับฝ่ายการเมืองในการเสนอว่าให้เอากลับไปอยู่ในระบบศาลเดี่ยว หรือทำให้อ่อนแอหรือหมดไป

ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองอาจไม่ได้คิดเหมือนอย่างคนในศาลปกครองที่เขาคิดก็ได้ เขาคงคิดว่าจะหาวิธีกำจัดเครื่องมือที่จะมามีผลกับตัวเองมากกว่าที่จะทำให้ระบบนั้นอยู่ในระบบของคุณธรรม ถือเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับศาลปกครอง อีกประการหนึ่ง เมื่อก่อนศาลอยู่ในแวดวงตัวเอง พอไปเกี่ยวข้องกับการเมืองก็มีปัญหาตรงที่เขาไม่ออกมาปฏิสัมพันธ์กับภายนอก แต่ถ้ามีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกแล้วจะรักษาดุลยภาพอย่างไรในแง่ของความเป็นพรรคพวกของสังคมไทย หรือระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย จากการที่เรามีหลักสูตรพัฒนาการเมืองต่างๆ กลายเป็นว่าศาลต้องคบค้าสมาคมกับนักธุรกิจและกลุ่มทุน ซึ่งใช้ความพยายามไปสร้างคอนเนกชั่นอย่างเดียว ไม่ได้ไปเรียน ต่อไปจะถูกมองว่าความยุติธรรมจะเชื่อได้หรือไม่ และสังคมไทยคุ้นเคยมากกับการเป็นพรรคพวก หากเป็นเช่นนี้ก็จะมีปัญหามาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศาล เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ระบบการปกครองประชาธิปไตยในบ้านเราเป็นระบบอำนาจศาล มีฝ่ายบริหารคือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาฯ และมีฝ่ายตุลาการ แต่ปัญหาคือผู้บริหารกับสภาฯเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็เหลืออำนาจสองส่วนของฝ่ายค้านจะต่อรองก็ไม่ได้ ในที่สุดก็ทำได้แค่พิธีกรรม ในเมื่อได้พูดก็พูดไป สุดท้ายก็ลงมติด้วยเสียงข้างมาก เผลอๆ พอเสียงข้างมากแพ้ก็ขอกลับมติ จึงคิดว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีกติกาไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าศาลเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับประชาชน ตอนที่ไปฟ้องกรณี กฟผ. ถือเป็นคดีแรกที่มีการเพิกถอนกฎหมายพระราชกฤษฎีกาของรัฐ พอชนะคดีมีคนโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า รู้สึกว่าบ้านเมืองน่าอยู่ขึ้น เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ดีที่สุด แต่ปี 2548 ประชาชนก็รู้สึกอึดอัดกับอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่ไม่มีที่พึ่ง ซึ่งตอนรณรงค์ไม่เอา กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่มีใครสนใจ วันที่ฟ้องศาลก็ไม่มีใครคิดว่าชนะ คิดว่า พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสหกิจไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสามัญสำนึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นแม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่ประชาชนมีความรู้สึกว่าบ้านเมืองไม่น่าอยู่ ศาลจึงเป็นที่พึ่งที่เหลืออยู่ ตนอยากให้ศาลปกครองเป็นศาลที่ยืนหยัดอยู่บนความยุติธรรมและเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชน ในการที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพ

ส่วน นายสุรพล กล่าวว่า สถาบันศาลในรัฐธรรมนูญ ถ้ากลับไปดูชุดความคิดที่มีคนเสนอว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะมันไม่ดีอะไรหลายอย่าง ก็มักจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดี แต่ถูกยกเลิกไปเพราะรัฐประหาร คนที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีความคิดว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วเอาแบบปี 2540 มาใช้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ที่อ้างถึงนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเด่นที่สุดที่การควบคุมตรวจสอบอำนาจ แล้วก็ฝากไว้ที่องค์กรตุลาการมากที่สุด เพราะฉะนั้นอยู่ๆ จะบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มันไม่ดี ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงอำนาจศาล ตนไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเลิกระบบศาล เป็นการอธิบายเรื่องที่มันขัดแย้งกันเองในชุดความคิดชุดเดียวกัน แต่เผอิญคนไทยความจำสั้น ไม่ค่อยสนใจอะไรมากนัก นึกแต่ตอนต้นกับตอนท้าย ที่บอกว่าจะต้องเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ แต่ต้องเลิกระบบศาลทั้งหมด ให้กลายเป็นศาลเดี่ยว จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ในตัว

ทั้งนี้ นายสุรพล เห็นว่า เรื่องใหญ่ที่เราคิดกันคือเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ใช้อำนาจไม่ชอบ ซึ่งมันหวังพึ่งองค์กรรัฐสภาไม่ได้ จะให้วุฒิสภาถอดถอนก็เป็นเรื่องยาก สุดท้ายมันต้องหาองค์กรที่เป็นอิสระที่มีอำนาจบัญญัติเข้าไปคานอำนาจนี้ไว้เมื่อมีคดี เมื่อมีกรณีร้องเรียน มีกรณีกล่าวหาว่ามีการฟ้องขึ้น นี่คือที่มาของการพยายามสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรควบคุมตรวจสอบอำนาจ สอดคล้องกับชุดความคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พูดถึงหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม นักกฎหมายก็รู้ว่าชุดความคิดแบบนี้แม้จะมาจากที่มาของประเทศที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมกันอยู่คือมีองค์การศาลที่ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งมีความเป็นอิสระ และมีอำนาจพอที่จะเข้าไปตรวจสอบ ตนจึงนึกไม่ออกว่าเพราะเหตุใดเราถึงจะไปแตะต้องอำนาจตุลาการ มีอดีตรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดก่อนๆ เสนอแนวคิดว่า ศาลยุติธรรมควบคุมไม่ได้ ดุลพินิจในการให้ประกันตัว หรือไม่ถูกแตะต้องไม่ได้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกผู้พิพากษา หรือมีส่วนร่วมในการควบคุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ขัดนิติธรรมและหลักนิติรัฐทั้งสิ้น เพราะในระบบศาลมีระบบควบคุมดุลพินิจไปในตัวอยู่แล้ว และมีกลไกในการร้องกล่าวหาได้

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การเรียกร้องให้ยกเลิกศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ้างว่า ไม่เข้าข้างมีอะไรผิดพลาด ตนเห็นว่าหลักการของการมีระบบศาลคู่ที่ศาลหนึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกระทำหน้าที่ อีกศาลหนึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่ประชาชนทั้งหลายมีข้อพิพาทกันเอง ซึ่งตนเห็นว่าการมีศาลปกครองคู่ขนานกับศาลยุติธรรมมานาน 11 ปี 1 เดือนนั้นลงตัว มันไปของมันได้ดีและไม่มีใครคิดว่ามีปัญหาอะไรเลย ตนคิดว่าองค์กรศาลก็เหมือนองค์กรอื่นที่อาจมีเรื่องที่มีปัญหาหรือมีประเด็น ซึ่งก็ไปสู่กลไกการกล่าวหาหรืทอถอดถอนวันนี้ได้ตกผลึกแล้วว่าวันนี้ระบบศาลปกครองมีประโยชน์ และได้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากอำนาจรัฐได้ดีในระดับที่น่าพอใจ อาจมีบางคดีที่ไม่เห็นด้วย มีข้อบกพร่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าระบบศาลปกครองจะไม่ดี

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องถูกยุบหรือเอาไปรวมกับศาลยุติธรรม อย่างที่คนซึ่งได้รับมอบหมายจากคนที่คุณก็รู้ว่าใครได้มาพูดจาเรื่องนี้ โดยอ้างว่าคดีมันไม่เยอะถึงจะต้องแยกออกมาเป็นศาลเฉพาะ โดยให้ไปรวมอยู่ในศาลฎีกาอย่างอเมริกา ซึ่งแท้ที่จริงไม่เหมือนกับศาลฎีกาในบ้านเรา หากให้ศาลฎีกาเข้าไปตัดสินการกระทำของฝ่ายการเมือง ของรัฐบาล ของสภา โดยที่องค์ประกอบและที่มาของศาลฎีกาซึ่งมาจากนักกฎหมาย อายุ 25 ปี จบเนติบัณฑิตแล้วไปสอบเป็นผู้พิพากษา ไม่ได้มาเชื่อมโยงกับประชาชน หรือไม่ได้มีคนซึ่งแน่ใจว่ามีคุณสมบัติ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางรัฐศาสตร์ ในทางการบริหารราชการแผ่นดินหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาก่อน อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันมี ตนเห็นว่าเป็นเรื่องเสี่ยงมากที่จะทำลายศาลยุติธรรม





นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค
นายโภคิน พลกุล
น.ส.รสนา โตสิตระกูล




กำลังโหลดความคิดเห็น