xs
xsm
sm
md
lg

ยุค"กติกู"5หมื่นล.ซื้อประเทศได้ อัด"แม้ว"บงการล้มศาลคู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 เม.ย.) ที่อาคารเอนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดการสัมมนาในหัวข้อ "ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกับระบบศาล" โดยมี นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า ความสำคัญของ ศ.สัญญา คือเป็นนายกฯในยามวิกฤต เป็นนักกฎหมาย และ เป็นครูประชาธิปไตย ซึ่งจากการอ่านผลงาน ท่านเป็นคนใจกว้าง ยอมรับความเห็น ซึ่งความเห็นในงานสัมมนาดังกล่าว เป็นไปโดยเสรีของผู้เข้าร่วมงานแต่ละท่าน โดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ฯ จะนำความคิดเห็นนำเสนอให้สังคมได้ไตร่ตรอง และได้คิด
ประการต่อมา ศ.สัญญา เคยกล่าวไว้ว่า ทุกข์ของประชาชนมีมากเหลือเกิน โดยเฉพาะท่านมารู้ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนประทับใจมาก การที่บ้านเมืองมีปัญหามากมาย กระทบคนส่วนใหญ่ สร้างความตระหนักรู้ โดยเฉพาะนักคิดที่ได้เห็นสภาพความเป็นจริง วันนี้สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ฯ ได้ตั้งโจทย์ใหญ่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ตนคิดว่า เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านด้วยเหตุผลสั้นๆ เพราะทุกสถาบัน ทุกองค์กร เกิดการเผชิญหน้า วิกฤตที่มักจะรุนแรงทุกส่วนในสังคมต้องเร่งปฏิรูปตัวเอง มองปัญหาภายใน และของสังคมให้มาก
นอกจากนี้เห็นว่า คนไทยไม่ต้องฟังใคร จึงเรียกร้องให้แก้ไขตัวเอง ซึ่งตนรู้สึกว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านใหญ่สำคัญ และมองว่าเราอยู่ในโปรแกรมการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา มันก็คงเฉื่อย คงล้ากับการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เรามีปัญหา ความรุนแรงประทุมากขึ้น ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภา 35 และวิกฤตสีต่างๆ สะท้อนว่า โปรแกรมเดิมคงล้าหลัง คงต้องยกเครื่องสังคยานาครั้งใหญ่ อย่างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันศาล ได้เข้ามามีบทบาท เช่น การตั้งศาลแรงงาน การตั้งศาลปกครอง อันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กระทั่งปัจจุบัน มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า จะทำอย่างไร ก็จะได้มุมมองจากศาล และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหา ตนเห็นว่าช่องว่างนี้จำเป็นต้องช่วยกัน มีบทสนทนาร่วมกัน ถ้าจะวิจารณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยอมรับว่า เราทำงานไม่ดีพอ ยังไม่มีนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เผยแพร่เท่าที่ควร ซึ่งเราจะปรับปรุงด้วยการจัดงานเช่นนี้ขึ้นเรื่อย ๆ

** ศาลต้องสร้างศรัทธาให้ประชาชน

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน กล่าวปาฐกถาว่า ระบบนิติธรรมกับประเทศไทย ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ตนคิดว่าเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ บทบาทของศาลทั้งสอง ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ระบบศาลมีความสำคัญในฐานะที่ตรวจสอบทางการเมือง ศาลที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำแหน่งทางการเมือง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในปี 40 และเราก็มีศาลปกครองตามมา เราจะเห็นว่า ระบบศาลในด้านแนวความคิดได้ก้าวไปข้างหน้า แต่ความท้าทายคือ การตรวจสอบระบบการเมือง
ทั้งนี้ ระยะเปลี่ยนผ่าน ยังต้องเจอระบบเผด็จการในรัฐสภา จึงเห็นว่าทำไมประเทศไทย มีระบบเผด็จการนายทุนในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก และเป็นเรื่องหนักที่ตนต้องเห็นใจท่าน ท่านทำผลงานได้อย่างไร ผลงานจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สร้างความศรัทธาให้กับประชาชน ปัญหาคือ ท่านสร้างผลงานได้ดีหรือ ซึ่งอยากให้ท่านตัดสินเองว่า ผลงานของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง สร้างความศรัทธาได้อย่างเพียงพอหรือไม่ เห็นคำวินิจฉัยจะต้องสร้างความเชื่อถือไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสับไปสับมา ก็ไม่มีใครศรัทธา
ศ.ดร.อมร กล่าวว่า การยกระดับศาล ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัย ได้สร้างศรัทธาพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2-3 เรื่อง ได้แก่ คุณสมบัติของผู้พิพากษา ในการคัดเลือกตุลาการ วิธีพิจารณาของศาลที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดคำวินิจฉัยที่ดีหรือไม่ และจะรู้ได้อย่างไรว่า คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาอยู่ในสภาพที่ควรจะเป็น จึงขึ้นอยู่กับการตรวจสอบจากหน่วยธุรการของศาล เราจะต้องดูสาเหตุ เพื่อยกระดับมาตรฐานการวินิจฉัย ซึ่งต้องดูว่า สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร อาทิ ในการคัดเลือกตุลาการ วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ถามว่า เมื่อไปถึงวุฒิสภา คุณสมบัติผู้ตรวจสอบเป็นอย่างไร เพราะให้ผู้ที่สมัครเป็นตุลาการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งไม่รู้ว่ามีความหมายมากน้อยแค่ไหน ตนเห็นว่าต้องตรวจสอบผลงานย้อนหลัง ว่ามีคุณสมบัติ และแนวคิดอย่างไร แค่การคัดเลือกตุลาการ เรามองไม่เห็นอย่างที่ควรจะเป็น การจะแสดงวิสัยทัศน์บอกว่า ก้าวไปข้างหน้าใครๆ ก็แต่งได้
อีกประการหนึ่ง คือ วิธีพิจารณา อาจจะต้องกล่าวถึงมาตรฐานคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า อ่านคำพิพากษาแล้ว แต่ไปเขียนคำพิพากษาที่หลัง ซึ่งในความเป็นจริงมันต้องเขียนก่อน แล้วอ่านเลย จะถูกจะผิดอย่างไร ก็ต้องเขียนก่อนอ่าน ซึ่งวิธิพิจารณาเช่นนี้ ไม่ได้สร้างศรัทธา แล้วนำมาสู่ปัญหาที่ว่า การตรวจสอบคุณภาพของตุลาการ ว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่มีหน่วยธุรการ ที่เป็นหน่วยวิชาการพิจารณาว่า มีความถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า ข้อบกพร่องเหล่านี้ ในฐานะที่วิทยากร เป็นประธานศาล ท่านมีบทบาทมาก ท่านสามารถควบคุมฝ่ายตุลาการ และฝ่ายธุรการ ท่านจะต้องสร้างระบบเพื่อปิดช่องว่างหรือช่องโหว่ของกฎหมายเหล่านี้ สิ่งที่จะต้องเผชิญในระบบเผด็จการนายทุนพรรคการเมือง จะอยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการวินิจฉัย ซึ่งกฎหมายดีอยู่แล้ว แต่มีข้อบกพร่อง จึงขึ้นอยู่กับบทบาทประธานศาล ที่จะต้องเสริมระเบียบวิธีพิจารณา เพื่อที่จะได้ทำให้มาตรฐานของศาลสูงขึ้น

** ยันศาลรธน.ตัดสินโดยไร้อคติ

ต่อมา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อเรื่อง "ศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆของไทย" ตอนหนึ่ง โดยยอมรับว่า ข้อบกพร่องประการหนึ่งของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ คือ ที่มาของผู้ทำหน้าที่ตุลาการศาลฯ เหตุก็เพราะไม่มีใครอยากมา เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ตัดสินออกมาในทิศทางใด ก็จะถูกกล่าวหาตลอด
" ยอมรับว่าในคณะตุลาการมีทั้งคนดี และไม่ดี รวมอยู่ โดยคุณภาพของแต่ละบุคคลนั้น อาจจะย่อหย่อนไปตามลักษณะของแต่ละคน ถึงแม้ทุกองค์กร จะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน แต่การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน และยังมีกระบวนการที่ให้ประชาชนทั่วไป สามารถยื่นตรวจสอบตุลาการได้"
นายวสันต์ ยืนยันด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำงานอย่างไม่มีอคติ เพราะในการวินิจฉัยได้พิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ตามพยานหลักฐาน เนื่องจากมองว่า ไม่ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้ รับรู้เพียงว่า พอมีพอกินเท่านั้น ไม่ต้องการแสวงหาความร่ำรวย
" ระบบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการล็อบบี้ใครได้ ที่ระบุว่าศาลตัดสินคดีตามใบสั่ง ยืนยันว่าไม่มี ชีวิตผมที่ได้ใบสั่ง ก็มีแต่ใบสั่งจราจร เพราะการตัดสินวินิจฉัยคดี ไม่มีใครมาสั่งได้ อย่างล่าสุด การวินิจฉัย พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ก็พิจารณาไปตามหลักฐาน ไม่ได้อคติ แต่ที่ยังมีพวกที่ไม่เข้าใจ เพราะว่าเราไม่ได้บอกเขาเท่านั้นเอง" ประธานศาล รธน. กล่าว

**ล้มศาลปค.แล้วประชาชนได้อะไร

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครอง สูงสุด กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อเดียวกันว่า ในวันนี้สังคมไทยไม่ฟังใครทั้งสิ้น ซึ่งต้องเรียกร้องต่อสังคม และเรียกร้องกับต่อเราเอง ในเรื่องการตรวจสอบ เพราะรู้ว่าศาลเป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจอะไร แต่ศาลเป็นองค์กรที่อำนวยความยุติธรรม ซึ่งสิ่งแรกต้องเข้าใจว่า ศาลไม่ใช่คู่กรณีในข้อพิพาทที่ศาลต้องตรวจสอบ
ขณะที่การตรวจสอบในการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครองนั้น จะตรวจสอบในกรอบของกฎหมาย และในกรอบของคดีที่ฟ้องร้องเท่านั้น และยอมรับศาลมีจุดอ่อนในการพิจารณาล่าช้า แต่ก็มีอยู่ทุกศาลทั่วประเทศ และทั่วโลก
ทั้งนี้ แนวโน้มของคดีฟ้องศาลปกครองมีมากขึ้นทุกปี ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเริ่มตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพของตัวเองที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้สิทธิเสียไป แต่จากสถิตที่ฟ้องศาลปกครองฝ่ายรัฐจะชนะคดีมากกว่าฝ่ายประชาชน ขณะที่จากการสำรวจความเชื่อมั่นนั้น ประชาชน มีความเชื่อมั่นศาลปกครอง มากกว่า 91 เปอร์เซ็นต์ ชี้ให้เห็นว่าความยุติธรรมที่ศาลปกครองอำนวยให้นั้นเป็นความยุติธรรมที่แท้จริง แต่ก็ชี้ให้เห็นได้ว่า สังคมมีปัญหา มีความขัดแย้งมากขึ้นทุกปี
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ยุบศาลศาลปกครองนั้น นายหัสวุฒิ แสดงความไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่า หากยุบแล้วประชาชนจะได้อะไร แต่ขณะนี้ตุลาการทุกคนในศาลปกครอง นิ่ง เงียบ มองในงานหน้าที่รับผิดชอบตัวเอง และกังวลว่า คดีที่ยังค้างอยู่ใครจะรับผิดชอบต่อไป
นายหัสวุฒิ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ศาลปกครองปฏิบัติงานภายใต้ความยุติธรรม ไม่ว่าพายุจะแรงแค่ไหน ก็จะอยู่เป็นเสาหลักของประเทศ ของบ้านเมือง โดยศาลก็คือศาล ตัวบุคคล มีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง และย่อมมีปัญหา ซึ่งเราพร้อมรับฟังเพื่อนำไปปรับปรุง ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับองค์กรศาลนั้น ขอให้คิดให้ดี ว่าศาลเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรสูงสุด เป็นองค์กรตามประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจใน 3 อำนาจ แต่หากองคกรนี้ยังไม่มีความมั่นคง แล้วความเชื่อถือของนักลงทุนต่างประเทศ จะเป็นเช่นไร

** "โภคิน"ค้านยุบศาลปค.-ศาลรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย ได้มีการจัดสนทนาโต๊ะกลมเรื่อง "บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองในสายตานักการเมือง นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และ ผู้ได้รับผลกระทบ" มีวิทยากรที่น่าสนใจ อาทิ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ
นายโภคิน กล่าวว่า ระบบการตรวจสอบคดีทางปกครองที่ผ่านมาในศาลยุติธรรมเดิมไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่อตนเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในยุครัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็มีโอกาสเขียนโครงสร้างศาลปกครอง แต่นายบรรหาร ยุบสภาฯไปก่อน และเมื่อเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ดำเนินการต่อ แต่ได้รับการต่อต้านจนต้องถอนร่างดังกล่าวออกไป เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กำลังแบ่งแยกอำนาจของศาล แต่ตนก็ได้พูดคุยกับ พล.อ.ชวลิต และผู้ใหญ่หลายคน เพราะต้องการสร้างสิ่งที่คนธรรมดา สามารถใช้ได้ ซึ่งการมีศาลปกครอง ทำให้ผู้พิพากษาตัดสินไปตามวิธีพิจารณาคดีทางปกครองโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องใช้การอุดช่องว่างกฎหมาย โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความกฎหมายอาญา หรือแพ่ง
ทั้งนี้ นายโภคิน เห็นว่า แม้การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเห็นว่าทั้ง 2 ศาล ยังมีปัญหาอยู่บ้างก็ตาม

** เงิน 5 หมื่นล้านซื้อประเทศไทยได้

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า การได้มาซึ่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เหมือนมีการล็อกกันมา เพราะคะแนนมาเป็นบล็อกๆ และมีคนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาที่อายุและอาวุโสยังน้อย และเสนอคนในองค์กรเข้ามาหมด ทั้งๆที่กฎหมายเปิดช่องให้สรรหาจากู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ เข้ามาได้ น่าจะมีเจตนารมณ์ให้คนนอกเข้ามาเป็นตุลาการปกครองสูงสุด เพราะต้องการความละเอียดและเชี่ยวชาญ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะฮั้วกันได้ ถ้าไม่มีความยุติธรรมในศาลปกครองยุคเปลี่ยนผ่านแล้วจะไปให้ความยุติธรรมกับใครได้ เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกันออก ก็จะไปเข้ากับการเมือง เพื่อกลับไปสู่ระบบศาลเดี่ยว ที่เดินทางมาไกลแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ มีผู้พิพากษาเข้าไปเรียน นักการเมือง และนายทุน ก็เข้าไปเรียน เพื่อไปสร้างคอนเนกชั่นในรุ่น ไม่ได้เรียนหนังสือกัน และเสียงข้างน้อยไม่มีความหมายอะไร ฝ่ายค้านพูดไปก็เท่านั้น เป็นเพียงพิธีกรรม เพราะแพ้มติเสียงข้างมาก ก็กลับมติได้ บ้านเมืองไม่มีกติกา มีแต่กติกู ประเทศนี้เอาอะไรกันแน่ เพราะเงิน 5 หมื่นล้านบาท ก็ซื้อประเทศได้ โดยออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการ คนมีเงินมากกว่าก็มีโอกาสเข้าสู่อำนาจทางการเมือง การเขียนให้ ส.ว.ถอดถอน ก็ไม่เป็นผล เพราะมีพวกมีพ้อง มีการช่วยเหลือกันไปมา จึงควรตัดทิ้งกฎหมายประเด็นนี้ออกไป

** "แม้ว"ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล

ขณะที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีต อธิการบดี มธ. กล่าวว่า นึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร มีข้อเดียวที่พูดกันคือ มาจากการรัฐประหาร ตนจำได้ว่ามีสภาร่างฯ และเป็นฉบับเดียวที่ลงประชามติ ตั้งรัฐบาลมาแล้ว 4 ชุด แรกๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เข้ามาอยู่เมืองไทย ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับรัฐธรรมนูญนี้ อาจจะมีบางข้อไม่ดี ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่อาจจะมีคนไม่เห็นด้วย ไม่ชอบในบางมาตรา ซึ่งก็ควรไปแก้ในบางมาตรานั้นๆ
นายสุรพล กล่าวว่า แต่เข้าใจว่าทุกคนเข้าใจว่าเป็นละครทั้งนั้น รู้ว่าใครโทร.มาบอก สั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรามีคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ แต่มีบารมีตัวจริงที่เห็นกันอยู่ว่าเป็นใคร แต่เราไปเชื่อละครที่เขาสร้าง มีคนไปถามก็บอกว่าเพื่อการบูรณาการ เพื่อให้ประเทศเป็นนิติรัฐเป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พูดไปตามที่เขาบอก ประเทศนี้ทำตามผู้มีอำนาจที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล เหนือทุกองค์กร ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงที่พูดมาทั้งหมดไม่มีประโยชน์ เพราะอยู่ที่คนๆนั้น เขาจะเอาอย่างไร
นายสุรพล กล่าวว่า การบอกว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ แต่กลับจะยกเลิกศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นเรื่องที่ขัดกันอยู่ในตัว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะรัฐสภาเป็นที่พึ่งหวังไม่ได้ การบอกว่าศาลไม่ให้เหตุผลในการประกันตัว และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแต่งผู้พิพากษา จึงจะรื้อศาล ให้ศาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างมาก
นายสุรพล กล่าวว่า ศาลมีขั้นตอนควบคุมการใช้ดุลพินิจมีศาลอุทธรณ์ ฎีกา มีระบบควบคุมจริยธรรม มีคณะกรรมการ ก.ต. มีการลงโทษไล่ออกผู้พิพากษาให้เห็น ในหลายประเทศตกผลึกและเป็นที่ยอมรับในระบบดังกล่าว การตัดสินที่ถูกใจตัวเองเช่นนั้นหรือไม่ ถึงจะเรียกว่าดี การแก้กฎหมายเพื่อที่จะควบคุมในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบใจ จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง นึกไม่ออกว่าติดใจอะไรกับศาลปกครอง นอกจากเหตุผลที่น.ส.รสนา ฟ้องเรื่องนำ กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วรัฐบาลเสียหน้า เพราะแพ้น.ส.รสนา ตนนึกออกเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว เรื่องอื่นนึกไม่ออก ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินยุบพรรคเขาถึงสองครั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีโจทก์เป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น