xs
xsm
sm
md
lg

หางโผล่!แก้รัฐธรรมนูญ ค้านล้มองค์กรอิสระ-ยุบศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ปชป.อัดรัฐบาลหางโผล่ ตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญ ล้มองค์กรอิสระ ยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ชี้เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ประธานศาลฯ ตอกกลับ"วัฒนา" คิดยุบศาลฯ เหตุเพราะคนตัดสินไม่ใช่พวก "สดศรี" ลั่นอยากให้ กกต.ออก ก็เขียนให้ชัดในบทเฉพาะกาล "เหลิม" ปัดตอบเรื่องยุบศาล โละองค์กรอิสระ อ้างรอส.ส.ร.ก่อน สั่งส.ส.รูดซิปปากประเด็นที่จะแก้

จากกรณี นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าควรปรับปรุงองค์กรอิสระ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง แล้วไปตั้งเป็นแผนกในศาลฎีกาแทน ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักตามมา ทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และตัวแทนจากองค์กรที่ถูกเสนอให้มีการยุบ

**ค้านยุบศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครอง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ทางวิปฝายค้านได้มีความเห็นคัดค้านในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันศาล และองค์กรอิสระ ที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยอภิปรายคัดค้านไว้แล้ว

"อย่างกรณีความเห็นของสมาชิกพรรคเพื่อไทยท่านหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าว ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แสดงความเห็นว่า ควรยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และไปตั้งเป็นแผนกในศาลฎีกาแทน และยังกล่าวอีกว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ในส่วนขององค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เป็นไปอย่างที่ฝ่ายค้านได้อภิปรายเอาไว้ เพียงแต่ในวันนี้ ชัดขึ้น เหมือนหางโผล่ ฉะนั้นวิปฝ่ายค้านเชื่อว่า สิ่งนี้ คือ ธง ที่มีความพยายามที่จะเข้าไปดำเนินการในขั้นกรรมาธิการ"นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ การที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่ควรพาประเทศย้อนยุคกลับไปเหมือนในอดีต โดยขณะนี้ เราก้าวมาไกลแล้ว สิ่งที่เป็นห่วง ก็คือ อาจจะมีการลดกลไกบางอย่าง เพื่อเป้าหมายในการเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิเศษ หรือคนบางกลุ่ม ซึ่งสังคมควรติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีการยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในแผนกหนึ่งในศาลฎีกา จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณภาพในการวินิจฉัยของสถาบันตุลาการ เพราะการมีศาลที่วินิจฉัยคดีเฉพาะเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ลึกและเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้ตุลาการที่เป็นนักกฎหมายมหาชน ที่เชี่ยวชาญหลักนิติรัฐ นิติศาสตร์ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐ ให้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนศาลปกครองจะต้องเชี่ยวชาญกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับใช้อำนาจรัฐที่เป็นการละเมิดประชาชน และส่งผลกระทบต่อส่วนรวม

โดยการนำทั้งสองศาลไปเป็นเพียงแผนกหนึ่งในศาลฎีกา จะไม่สามารถวินิจฉัยคดีในเชิงคุณภาพได้เลย เพราะจะวินิจฉัยโดยใช้หลักกฎหมายทั่วไป เป็นศาลสี่มุมเมือง หรือศาลปกติ คือใช้ กฎหมายอาญา แพ่ง ป.วิอาญา และป.วิแพ่ง เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ตนคิดว่า สาเหตุให้มีการเสนอแนวคิดนี้ เพราะทั้ง 2 ศาล ล้วนวินิจฉัยในสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในหลายคดี จึงมีความพยายามแก้ไขในส่วนนี้

**อยากยุบศาลฯเพราะคนตัดสินไม่ใช่พวก

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง โดยให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ว่า อยากถามกลับไปว่า การตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับไหน ฉบับปี 40 ใช่หรือไม่ ก็ไหนชื่นชมกันนักว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก และเรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 คืนมา แต่ถ้าจะยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ก็แสดงว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลมันแย่มาก ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง ใช่หรือไม่ หรือว่าที่จะยุบเลิกศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะคนที่มีอำนาจตัดสิน ไม่ใช่พวกฉัน

"จะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ไม่มีปัญหาเลย แต่ไปถามศาลฎีกาก่อนว่าทำไหวหรือไม่ เพราะขนาดแยกมาเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็ยังมีคดีค้างอยู่ประมาณ 40,000 คดี ลองไปถามดูว่า คดีที่ค้างนานที่สุดเป็นคดีของปีไหน แล้วยังจะรับไหวอีกหรือ อีกทั้งโครงสร้างมันก็คนละอย่าง ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ผู้พิพาษา ตุลาการ เป็นข้าราชการประจำ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ เรื่องอย่างนี้ก็แล้วแต่จะคิด ยังไม่อยากจะออกความเห็นอะไรมาก"นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์กล่าวว่า มุมมองของนายวัฒนาที่ว่าการให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานป.ป.ช. เป็นผู้เลือก ส.ว. ทำให้มีปัญหาในการตรวจสอบนั้น ก็เห็นว่าถูก แต่ถ้าตรงนี้มันไม่เข้าท่า ก็ต้องแก้ไขเป็นส่วนๆ ไป ไม่ควรนำมารวมกัน ส่วนที่บอกว่าองค์กรตุลาการถูกตรวจสอบไม่ได้นั้น ก็ไม่จริง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเคารพ ด้วยความสุจริต สามารถทำได้อยู่แล้ว ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาล ด่าก็ยังได้ ถ้าตุลาการเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ก็นำความจริงไปสู้กันในศาลได้

แหล่งข่าวจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนายวสันต์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ สามารถพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ในภายในสำนักงานได้จนเหลือในปี 2555 ลดเหลือเพียง 30 เรื่องเท่านั้น จากเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคดีค้างเมื่อสิ้นปี 2553 จำนวน 70 เรื่อง และสิ้นปี 2554 มีคดีค้าง 37 เรื่อง ซึ่งการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ก็มีเพียงการพิจารณาในเรื่องความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. และล่าสุดก็เพิ่งวินิจฉัย พ.ร.ก. 2 ฉบับ และคดีอื่นๆเท่านั้น

ดังนั้น การจะให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ซึ่งจะทำอะไรก็ได้อยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ก็เคยได้ยินแนวคิดจากฝ่ายการเมืองว่า มีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบ หรือเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และให้ยุบไปรวมอยู่ในแผนกคดีรัฐธรรมนูญ ของศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว

** ศาลปกครองเตรียมชี้แจงวันนี้

ด้านศาลปกครองได้ส่งข้อความเชิญสื่อมวลชนว่า ในวันนี้ ( 29 ก.พ.) เวลา10.00 น. เชิญพบกับปะพูดคุยกับ นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง ที่อาคารศาลปกครอง โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการนัดสื่อครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงบางประการ ที่เกี่ยวข้องในการแสดงความคิดเห็นของ นายวัฒนา เมืองสุข ซึ่งมีบางประเด็นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อการทำหน้าที่ตุลาการศาลปกครอง

** กกต.จะออกต้องมีบทเฉพาะกาลระบุไว้

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ กกต.และองค์กรอิสระ แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง หลังยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จว่า การพ้นจากตำแหน่งขององค์กรอิสระสามารถที่จะยกร่างไว้ได้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ว่าให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อใด ซึ่งเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ขณะนั้น กกต.จะเหลือวาระเพียง 1 ปี แต่ก็ยกร่างไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เริ่มต้นใหม่จนครบวาระตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งขณะนั้น กกต.เหลือเวลาเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ต่อวาระได้ โดยให้เป็นกกต. ให้อยู่วาระจนครบ 7 ปี หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ให้อยู่จนครบ 9 ปี แต่กรณีให้องค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งทันทีได้นั้น จะต้องระบุไว้บทเฉพาะกาล เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ก็ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้นยุติลง และไปสรรหากันใหม่

"ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ให้กกต.แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งทันที ก็ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะให้ลาออกเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และหากจะให้ลาออกก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยให้กกต.แสดงสปิริตนั้น ก็ยังไม่มีกฎหมายระบุไว้ ถามว่า แล้วใครจะมาทำประชามติ เพราะกกต.ชุดนี้ ต้องอยู่เพื่อ 1.จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 2.จัดการออกเสียงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการทำประชามติ กกต. 5 คน จะต้องอยู่ในตำแหน่งก่อน เพื่อทำประชามติ ดังนั้น ไม่ต้องรีบร้อน ถ้าต้องการให้ กกต.ลาออก ก็ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไว้เลยในบทเฉพาะกาลให้ กกต. ,ป.ป.ช. หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ พ้นวาระทันทีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ เมื่อประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็จะทำให้กกต.พ้นไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาบอกให้ กกต.แสดงสปิริต เพราะไม่มีกฎหมายว่าไว้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลใหม่ไว้ ก็จะทำให้กกต.อยู่ได้ตลอดจนครบวาระ หากให้ กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ เราก็ไม่มีปัญหา และป.ป.ช. ก็ยังมีวาระเหลือต่ออีกเยอะ หากจะให้หมดวาระ ก็ต้องเขียนบทเฉพาะกาลไว้ ให้พ้นจากตำแหน่งก็จะพ้นไปตามกฎหมาย"นางสดศรีกล่าว

**"เหลิม"ปัดตอบเรื่องยุบศาล

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะยังไม่ทราบใครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทุกอย่างต้องรอฟัง ส.ส.ร.ก่อน ตอนนี้ยังไม่มีส.ส.ร. แสดงความเห็นได้ แต่พอแสดงความเห็น ก็แตกแยก ถ้าบอกว่าตนไม่เห็นด้วย ก็หาว่าแตกกับคนในพรรค

ส่วนนายวัฒนา ถือว่าเป็นแกนนำในพรรค เมื่อมีการส่งสัญญาณแบบนี้ ถือว่าพรรคเพื่อไทย มีธงเรื่องนี้นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในพรรคยังไม่ได้คุยกัน บังเอิญตนไม่ได้เป็นแกนนำ แค่ไปปราศรัยเท่านั้น นายวัฒนา ก็พูดในนามส่วนตัว พรรคยังไม่คุยกัน มันต้องทีละขั้น

เมื่อถามว่า ความเห็นส่วนตัว คิดว่าน่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลปกครองสูงสุด ยังอยู่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เร็วไปที่ตอบ มาตรา 291 ยังแก้ไม่จบเลย อย่าเพิ่งไปไกล อย่างไรก็ตาม คำว่าองค์กรอิสระ จะไปก้าวก่ายเขาไม่ได้ แต่ยืนยันแนวคิดพรรคเพื่อไทยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์

** สั่งส.ส.รูดซิปปากประเด็นแก้รธน.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรค มีมติให้สมาชิกพรรค และสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้แก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งจะติดตั้งป้ายโฆษณารณรงค์ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการใส่ร้ายจากฝ่ายตรงข้าม

ส่วนข้อเสนอเรื่องการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระนั้น เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรคเท่านั้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สมาชิกของพรรค งดให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเด็นที่ขัดแย้งต่อการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

** ภท.แจง เหตุกลับลำหนุนแก้รัฐธรรมนูญ

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ลงมติรับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 1 ว่า จุดยืนพรรคภูมิใจไทย ต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้งแต่ต้น อีกทั้งการร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ เราก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก 6 ประเด็น ได้รับการเสนอ 2 ประเด็น และการลงมติดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้เอาใจรัฐบาล และที่ดูเหมือนว่าจะคัดค้าน แต่เป็นการทวงติงว่า แก้ไขในเวลาที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ถือว่า เรายืนยันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด

ทั้งนี้ พรรคยืนยันว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่แตะต้องสถาบันฯ อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งในชั้นของกรรมาธิการ ส.ส.ของพรรคจะเข้าไปเน้นย้ำว่า ต้องมีการแก้ไขถ้อยคำให้ชัดเจนว่า จะไม่แตะต้องหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดย กมธ.ต้องเขียนกรอบให้ชัดว่า จะไม่แตะต้องในมาตรานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น