รายงานการเมือง
คงไม่ต้องไปคาดเดาหรือตีความอะไรกันให้เสียเวลาอีกต่อไปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ของรัฐบาล มีจุดมุ่งหมายอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง เพราะคำให้สัมภาษณ์ของ “เสี่ยไก่ -วัฒนา เมืองสุข” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มันน่าจะเป็นคำตอบแทนความในใจของใครหลายคนในพรรคเพื่อไทย และ “นายใหญ่” ที่ระเหเร่ร่อนอยู่ต่างแดนได้ว่า
เสี้ยนหนามในการบริหารประเทศภายใต้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” คือ บรรดาองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฯลฯ
การเปลือยใจของ “เสี่ยไก่” ครั้งนี้มันยังตอกย้ำสิ่งที่ “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด พูดกลางงานเลี้ยงสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ด้วยว่าขณะนี้มีขบวนการ “จ้องล้มศาลปกครอง” ให้สูญพันธุ์ “มีอยู่จริง”
ถึงขั้นประธานศาลปกครองสูงสุดออกมาแฉเอง สับเองแบบนี้ แสดงว่าสัญญาณหรือมูลบางอย่างมันต้องกระแทกเข้าหูอยู่บ้าง จึงกล้าประกาศผ่านสื่อกันตูมตาม
ต้องยอมรับว่าการที่ “วัฒนา” ออกมาส่งสัญญาณในรอบนี้ มันได้สร้างแรงกระเพื่อมจำนวนหลายริกเตอร์ไปถึงบรรดาองค์กรอิสระต่างๆอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะปรากฎการณ์ “ตุลาการขยับ” ที่พร้อมใจกันออกมาปกป้องตัวเองกันผิดหูผิดตาที่เคยมีมา
ไม่ว่าจะเป็นในรายของประมุขศาลรัฐธรรมนูญอย่าง “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ที่ออกมาสวดชะยันโตชุดใหญ่ใส่นักการเมืองแบบเจ็บแสบ
“อยากถามกลับไปว่าการตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ใช่หรือไม่ ก็ไหนชื่นชมกันนักว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก และเรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 คืนมา แต่ถ้าจะยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลมันแย่มาก ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ หรือว่าที่จะยุบเลิกศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะคนที่มีอำนาจตัดสินไม่ใช่พวกฉัน”
เช่นเดียวกับศาลปกครองที่ “ไฟเขียว” มอบหมายให้ “ไพโรจน์ มินเด็น” ตุลาการศาลปกครอง ในฐานะโฆษกศาลปกครอง รีบตั้งโต๊ะแถลงเปิดหน้าใส่ไอเดียของ “วัฒนา” อย่างทันควัน
“ศาลไม่เคยหวั่นไหว เพราะศาลไม่คิดว่าศาลไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่คิดว่าเราช่วยแก้ไขปัญหามากกว่า ที่พูดกันว่าศาลเป็นฝ่ายบริหารนั้นไม่ใช่ แต่เราเป็นคนที่เข้าไปเยียวยาทุกข์ เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เราจะทำหน้าที่ของเราต่อไป เพื่อพิสูจน์กับประชาชนว่าเรามีบทบาทสำคัญที่จะสามารถคุ้มครองประชาชนได้”
ไม่ต่างจากคำสัมภาษณ์ของ “สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ” โฆษกศาลยุติธรรม ที่ตั้งคำถามกลับไปยังผู้เสนอแนวคิดดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และสุดท้ายผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับอยู่ตรงไหน?
เรียกว่า เปิดหน้าชกเต็มหน้า ไม่สนอำนาจฝ่ายบริหารที่มีมวลชนเสื้อแดงหนุนหลังเกือบค่อนประเทศ
จับอาการ “เรียงแถว” ตอบโต้ชุดนี้ นับเป็นนัยบางอย่าง ที่เหล่า “ตุลาการ” กำลังส่งไปถึง “ฝ่ายบริหาร - นิติบัญญัติ” และกลุ่มก๊วนที่คิดจะโค่นล้มศาลว่า ความคิดดังกล่าวไม่ง่าย และ “น่ากลัว” สำหรับรัฐบาล หากจะแตะต้อง
และดูเหมือนรัฐบาลเองก็อ่านสัญญาณนี้ออก รีบสุมหัวประชุมพรรคเพื่อไทย กำชับลูกพรรคหยุดโชว์กึ๋นพร่ำเพื่อ มิเช่นนั้นหลักฐานมันจะมัดตัวเองว่าเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากรัฐบาลแล้ว คนที่อ่านเกมนี้ขาดอีกคน เห็นจะหนีไม่พ้น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่รีบจับประเด็นดังกล่าวออกมา “เขย่าศาล” ให้ออกมาตะแบงเสียง ปกป้องตัวเอง ชี้ข้อดี ข้อเสียของศาลต่อสาธารณะให้ชาวบ้านชาวช่องรับรู้ว่า การมีศาลสำคัญต่อประเทศเพียงใด
ว่าไปแล้ว สำหรับ “พรรคสีฟ้า” เองนั้น จ้องเขม็งเกรียวอย่างใจจดใจจ่ออยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลจะแตะต้องมาตราใด โดยเฉพาะมาตราที่สุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงการยุบองค์กรอิสระที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
และเมื่อคนในรัฐบาลดันทะเล่อทะล่าพลาดท่าแบไต๋แบบโก๊ะๆ แบบนี้ มันจึงเข้าทาง “ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม” ที่ยืนยัน นอนยัน ไม่ร่วมสังฆกรรมกับการชำแหละรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ให้รีบกระโดดหนุนศาลเต็มสูบ
จับจังหวะ “พรรคประชาธิปัตย์” ตามท่าทีแย็บซ้ายทีขวาที ดูเหมือนจะยอมรับสภาพแล้วว่านาทีนี้คงไม่มีใครหยุดยั้งการรื้อรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปอย่างเรื่อยๆ ได้ แต่การโจมตีและปลุกกระแสโดยพุ่งเป้าไปที่เนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบเน้นรายมาตรา ดูจะเป็นกลยุทธ์และชั้นเชิงพอที่จะมีน้ำหนักในการสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลแก้ไขได้ตามอำเภอใจ
โดยเฉพาะปรากฎการณ์ “ตุลาการขยับ” ครั้งนี้ ที่ “ประชาธิปัตย์” เองก็อาจจะมองออกว่า การแตะต้องอำนาจตุลาการของรัฐบาล จัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นอารมณ์ และ “เรียกแขก” บรรดาผู้ที่คัดค้านการชำเรากฎหมายสูงสุด ให้ออกมายืดเส้นยืดสาย ปลุกระดมมวลชนที่เคยแข็งแกร่งให้ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากกดดันสำเร็จ ผลสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องอาจล้มเลิกความคิดยุบองค์กรอิสระออกไปจากสารบบในที่สุด
แต่หากรัฐบาลยังฝืนดันทุรัง จ้องจะโละองค์กรอิสระแบบไม่สนหน้าอิฐหน้าพรหมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอาจต้องเจอนอกจากม็อบที่แห่กันมาต่อต้าน นั่นก็คือ “อำนาจนอกระบบ” ที่สุ่มดูอยู่อย่างเงียบๆ แต่แฝงไปด้วยพลังมหาศาลเพียงพอที่จะยึดอำนาจคืนจาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ได้
น่าสนใจเป็นอย่างมากว่ารัฐบาลจะยอมเสี่ยงสู้หรือไม่ เพราะก็ยังมีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้จดจำได้เป็นอย่างดีว่าสาเหตุที่ “รัฐบาลทักษิณ” หล่นลงจากอำนาจครั้งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการแทรกแซงองค์กรอิสระเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม จนอำนาจตุลาการหมดสภาพ ท้ายที่สุด “ท็อปบูท” ต้องตบเท้ามายึดอำนาจคืนไป
บางที นี่อาจเป็นคำตอบของทั้งหมดว่าทำไมบรรดาศาลท่านทั้งหลายจึงกล้าเปิดฉากปกป้องตัวเอง แบบไม่กลัวถูกครหาว่าอยู่ตรงข้ามรัฐบาล