14 ปีศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฯ ยืนยันอาชีพผู้พิพากษาบ่มเพาะตุลาการยึดหลักความเป็นกลาง ปราศจากอคติในการพิจารณาวินิจฉัยคดี มองความขัดแย้งในบ้านเมืองมาจาก ต่างไม่ลดราวาศอก ยากปรองดอง เชื่อต้นเหตุแก้ รธน.หวังยุบศาล รธน.เพราะเกลียดขี้หน้า ส่งพวกพ้องนั่งองค์คณะตุลาการ
วันนี้ (29 มี.ค.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “เรื่องเล่าจากศาลรัฐธรรมนูญ” ในโอกาสครบรอบ 14 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 40 ที่เดิมหลายคนชื่นชอบว่าดีที่สุด แต่ปัจจุบันกลับรู้สึกว่าไม่ดีแล้ว และกำลังจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ ซึ่งอาชีพหลักของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 80 คือการวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตราใดหรือไม่ คดีการเมืองมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เนื่องจากคดีการเมืองมีผลกระทบได้และเสียกับคนจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจมากกว่าหน้าที่หลักในการวินิจฉัยข้อกฏหมาย โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส. ส.ว และการยุบพรรคการเมือง ซึ่งความจริงแล้วการยุบพรรคก็มาจากข้อหาโกงการเลือกตั้ง ที่หลังประกาศรับรองผลแล้วหาก กกต.มีมติว่าผู้ใดทุจริตการเลือกตั้งและส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณา ถ้าพิพากษาว่าผิดตามที่ กกต.มีมติก็เพิกถอนสิทธิ และถ้าผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารพรรค ศาลรัฐธรรมนูญก็คงทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องสั่งยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่เป็นเพียงป่อเต็กตึ๊งเก็บศพเท่านั้น
“เรามีอาชีพเป็นตุลาการ ถูกฝึกจนเป็นนิสัยมายาวนานหลายสิบปีว่าจะรักชอบใครนั้นทำได้ แต่ถ้าทำงานพิจารณาวินิจฉัยคดีแล้วต้องลืมเรื่องความรักชอบไป แล้วพิจารณากระบวนการ เนื้อหา ตามข้อเท็จจริง โดยปราศจากอคติ เป็นกลาง เสียงกดดันจากภายนอกต่างๆ นานา ไม่เคยเอามาใส่ใจ เพราะถ้าเอามาเป็นอารมณ์ก็จะทำอะไรไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์การเมืองเป็นเช่นนี้เราต้องเป็นกลาง เหมือนเป็นกลางท่ามกลางสนามรบ เพราะมองไม่เห็นว่าอนาคตจะปรองดองได้อย่างไร เนื่องจากคนที่คิดปรองดองยังไม่คิดจะปรองดองกันเลย ชาตินี้ก็ปรองดองกันไม่ได้ ถ้าจะปรองดองได้กลุ่มเจเนอเรชันนี้คงต้องตายไปก่อน”
นายวสันต์ยังกล่าวด้วยว่า จากที่เคยเป็นผู้พิพากษามา มองว่าคดีในศาลรัฐธรรมนูญยังง่ายกว่าคดีในศาลยุติธรรม โดยในศาลรัฐธรรมนูญจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือและเสนอแนวทาง แต่การพิจารณาตัดสินใจเป็นเรื่องขององค์คณะ ซึ่งยืนยันว่าการล็อบบี้ไม่มี มีแต่คุยกันว่าเรื่องนี้ไม่ไหว แต่พอลงมติบางครั้งก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง เคยมีวาทกรรมหลายอย่างที่พูดถึงศาลในภาพรวม ตนนี้ก็บอกว่าสองมาตรฐาน ซึ่งไม่รู้หมายความว่าอย่างไร อย่างในคดีคุณสมบัติของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ตนได้รับบัตรสนเท่ห์ ระบุว่าศาลอย่าวินิจฉัยสองมาตรฐาน ก็ไม่รู้ว่าจะสองมาตรฐานได้อย่างไร เพราะคดีลักษณะนี้ยังไม่เคยมีการวินิจฉัยมาก่อนเลย ซึ่งถ้าจะว่าสองมาตรฐานก็ต้องเป็นคดีที่ข้อเท็จจริงเดียวกันแต่ตัดสินต่างกันถึงจะเรียกว่าสองมาตรฐาน
“ผมยังภูมิใจว่าในอำนาจตุลาการยังไม่มีกระโดดถีบกัน ชี้หน้าด่ากันในศาล อย่างมากคือแขวะกัน อย่างในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเถียงกันหน้าดำหน้าแดง แต่ไม่ทะเลาะกัน จบแล้วก็ยังกินข้าวด้วยกันได้ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เถียงกันบ่อย แต่เมื่อโหวตแล้วก็จบ นี่คือสิ่งที่คิดว่าต้องดำรงไว้ในยามที่ประเทศอยู่ท่ามกลางสนามรบ เพราะเมื่อเราอาสาเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่วอกแวก นี่คือคำยืนยันจากผมและเพื่อตุลาการว่าจะรักษาความเป็นกลางไม่อคติไว้เสมอ ส่วนใครจะเข้าใจอย่างไรนั่นเป็นอคติที่เขามีกับเรา”
นอกจากนี้ นายวสันต์ยังกล่าวถึงการถูกมองเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เพราะเคยทำงานที่สำนักงานทนายความเสนีย์ ปราโมช เมื่อปี 2510-2516 ซึ่งนายเสนีย์ เป็นหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่เคยสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งรับราชการเป็นผู้พิพากษาที่มีข้อห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้จนบัดนี้ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดทั้งนั้น ส่วนที่มีการมองว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะมีการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่าคงไม่มีการยุบ เพราะยังต้องมีองค์กรหนึ่งทำหน้าที่ตัดสินกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าโยนให้ศาลฎีกาอีกคงรับงานไม่ไหว เพราะงานมีจำนวนมาก แต่ที่มีการพูดกันในทำนองจะยุบ น่าจะเพราะเขาไม่ชอบหน้าพวกเราที่ไม่ใช่พวกเขามากกว่า และอยากให้คนของเขามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบ้าง
หลังการบรรยาย นายวสันต์ได้แถลงข่าวโดยกล่าวถึงแนวทางการปรองดองว่า ควรนำกระบวนการประนีประนอมในคดีแพ่งอาญามาใช้ ที่ต่างฝ่ายต่างผ่อนปรนให้แก่กัน ลดราวาศอก ลดความประสงค์ของแต่ละฝ่ายลง จึงจะปรองดองกันได้ แต่ไม่ใช่การสมยอมทางการเมืองที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ส่วนการนิรโทษกรรมจะสามารถทำให้เกิดการปรองดองได้หรือไม่ ยังไม่อยากออกความเห็น เพราะยังไม่ใช่แนวทางการปรองดองที่เป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา นายวสันต์กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครขัดแย้งกัน อย่าไปทึกทักว่าเป็นความขัดแย้งของคนสองคน เพราะอาจจะเป็นความเข้าใจของตนเองเพียงฝ่ายเดียว
เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางที่จะช่วยเสนอแนะการปรองดองได้อย่างไร นายวสันต์กล่าวว่า ในฐานะองค์กรตุลาการ ไม่อยากเข้าไปวุ่นวายการเมือง เพราะไม่ใช่หน้าที่ หากมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง ก็จะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างฝ่ายนั้นๆ ขนาดยังไม่ออกความเห็นก็ยังถูกผลักให้ไปอยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ อย่างตนก็ถูกมองว่าอยู่ข้างพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเคยทำงานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ความจริงแล้วตนก็ไม่ทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์กว่า 40 ปี ขณะเดียวกันเมื่อตนผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับของรัฐบาล และรู้ว่าตนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็โพสต์ในเว็บไซต์ว่าตนถูกซื้อไปแล้ว ซึ่งไม่เคยมองในแง่ดี อย่างไรก็ตาม การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เหลือคดีที่ค้างการพิจารณาต่ำกว่า 30 เรื่อง แต่เราก็ต้องเว้นช่วงให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำความเห็นและรวบรวม ให้เรียบร้อย เพราะไม่มีใครอยากให้เป็นงานค้างคา หรือเป็นภาระ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างตอบคำถามหลังการบรรยายเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญกับการดำรงหลักนิติธรรม” ต่อกรณีที่มีการกล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเกรงกลัวต่ออำนาจการเมือง โดยยืนยันว่า คนที่อยู่ในอำนาจตุลาการไม่เคยกลัวใคร ซึ่งบรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ตนมีอายุน้อยที่สุด ทุกคนแข็งกว่าตน จึงอยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่อคติ พิจารณาทุกอย่างทุกขั้นตอนไปตามข้อเท็จจริงและเด็ดขาด โดยเฉพาะการที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะกลัวเข้าข้าง หรือต้องการเอาใจรัฐบาล แต่ตุลาการเห็นว่าการนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยเป็นเรื่องที่เร่งด่วนจริง และพ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกมามีทั้งสิ้น 4 ฉบับมีความสอดคล้องและเกี่ยวเนื่องกัน ส่วนจะมีการทุจริตหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งจะต้องมีการตรวจสอบหลังจากการใช้งบ ซึ่งก็มีองค์กรอื่นๆ ตรวจสอบและคานอำนาจ การจะใช้อำนาจตุลาการไปควบคุมคงไม่เหมาะสม เพราะจะกลายเป็นว่าประเทศนี้บริหารโดยใช้อำนาจตุลาการ